top of page
379208.jpg

อุตสาหกรรม 4.0 จะเอาแรงงานมนุษย์ไปไว้ที่ไหน?


ส.อ.ท.กำลังขับเคลื่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุคที่ 3.0 ปูทางเข้าสู่ 4.0 เอาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้ในโรงงานแทนมนุษย์ ลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพทางการผลิต แต่คนจะตกงานกันมากขึ้น

อุตสาหกรรม 4.0 เป็นรหัสของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมหมายถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและระบบผลิต

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นในอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากครัวเรือน (Domestic Production) มาสู่ระบบโรงงาน (Factory System)

แต่บางตำราก็บอกว่า เป็นการเปลี่ยนด้านการใช้พลังงาน คือมีการใช้เครื่องจักรแรงดันไอน้ำขับเคลื่อน (ในรถยนต์ โรงงาน) มาแทนแรงงานสัตว์

ถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกและครั้งที่ 1 ของโลก

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้ง 2 เป็นการใช้พลังงานจากน้ำมันดีเซลและเบนซิน และครั้งที่ 3 เป็นการใช้พลังงานจากกระแสไฟฟ้าหรือเรียกกันว่า Electricity Revolution ที่ทอดยาวมาถึงวันนี้

เข้าสู่ยุคที่ 4 เมื่อมีการใช้พลังแสงอาทิตย์ ลม จนถึงพลังงานจากพืชเป็นพลังงานทดแทนพลังงานดั้งเดิม

อีกด้านหนึ่งถือเอากระบวนการผลิตเป็นจุดเปลี่ยนยุคปฏิวัติ นั่นคือการผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เป็นแบบผลิตจำนวนมาก (Mass Production) โดยเริ่มจากการปฏิวัติเขียว (Green Revolution)

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เป็นการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในโรงงานโดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์กำกับ

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ อุตสาหกรรม 4.0 ที่เรากำลังจะมีขึ้น เป็นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลและอินเทอร์เน็ต มาใช้ในกระบวนการผลิต

จะเรียกว่าการปฏิวัติดิจิตอลก็ได้

การปฏิวัติอุตสาหกรรมโลกครั้งที่ 3 (อุตสาหกรรม 3.0) มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์และระบบดิจิตอลในการผลิตเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันจนต้องแยกยุค

คือในยุคที่ 3 นั้น ระบบอัตโนมัติที่นำมาใช้ ใช้ผลิตได้มากๆ ในระยะเวลาอันสั้นก็จริง แต่เป็นการผลิตเชิงเดี่ยว คือผลิตสินค้าได้เพียงอย่างเดียว

ต่างจากการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในยุคที่ 4 ที่สามารถผลิตได้หลากหลายรูปแบบเชื่อมโยงกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละราย ทำให้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุด มีการใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์อัตโนมัติและหุ่นยนต์ทั้งระบบ

จุดนี้เองที่เป็นความหวั่นวิตก เพราะหากมีการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ ทั้งในรูปเครื่องจักรเครื่องยนต์และในรูปหุ่นยนต์ ที่มิได้หมายถึงตัวหุ่นยนต์เหมือนในภาพยนตร์ หากแต่เป็นเครื่องจักรที่ทำหน้าที่แทนคนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

จะเอาแรงงานมนุษย์ไปไว้ที่ไหน?

เป็นคำถามเดียวกันกับที่ถามกันว่า เมื่อมีมินิมาร์ท มีร้านสะดวกซื้อ มีซูเปอร์มาร์เก็ต มีไฮเปอร์มาร์ท มีโฮลเซล (ค้าส่ง) เซ็นเตอร์

แล้วจะเอาร้านโชห่วย ร้านยี่ปั๊ว ร้านซาปั๊ว ไปไว้ที่ไหน?

คำตอบที่ยังตอบกันไม่จบก็คือ ค่อยๆ สูญพันธุ์ไป

แต่ในอีกด้านหนึ่งของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ก็คือ การปฏิวัติในด้านขนส่งหรือคมนาคมซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมชั้น 1

จากการซื้อ-ขายกันตัวต่อตัวมาสู่ระบบสั่งซื้อทางการสื่อสารหลัก และมาเป็นการสั่งออนไลน์ จัดส่งทั้งทางระบบไปรษณีย์และระบบโลจิสติกส์

ขณะนี้มีข่าวไม่สู้ดีนักว่า บริษัทที่ขายสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ online market อย่างเอมะซอนนั้น

กำลังจะทำให้ร้านค้าปลีกที่มีลักษณะเป็นห้างสรรพสินค้าในสหรัฐหายไปจากข้างถนน เพราะลูกค้าหันไปสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบอินเทอร์เน็ตกันหมด เข้าห้างกันน้อยลงๆ ทุกวัน จนบางแห่งถึงกับอยู่ไม่ได้ ต้องปิดตัวลง

เว็บไซต์ขายสินค้าเว็บเดียว สามารถรองรับออร์เดอร์หรือการสั่งซื้อได้เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านออร์เดอร์

บริษัทค้าปลีกใหญ่ที่สุดในโลกอย่างวอลมาร์ทหรือระดับรองอย่างคาร์ฟูร์ ถึงกับปิดตัวเองในหลายประเทศที่ไปเปิดเครือข่ายร้านสาขาอยู่

การที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พยายามผลักดันการประกอบการอุตสาหกรรมไทยยุค 2.0-2.50 มาสู่ยุคใหม่ที่เรียกว่าอุตสาหกรรมยุค 3.0 หรือยุคกระบวนการผลิตอัตโนมัติควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์

ถือเป็นก้าวย่างที่จะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 หรืออุตสาหกรรม 4.0

ยุค 2.0-2.50 ถือเป็นยุคกลางเก่ากลางใหม่ ต่อเชื่อมยุคที่ 2 กับยุคที่ 3 ยุคหรือกลุ่มโรงงานกลุ่มนี้ ใช้กระบวนการผลิตที่เป็นการผลิตปริมาณมาก (Mass Production) และใช้แรงงานมาก (Labour Intensive)

ในประเทศไทย อุตสาหกรรม 2.0-2.50 มีถึง 70% ของจำนวนผู้ประกอบการทั้งหมด

การเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 3 นั้น นอกจากจะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาดูแลกระบวนการผลิตแล้ว ยังมีการนำหุ่นยนต์และเครื่องจักรระบบอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานมนุษย์ด้วย

แรงงานมนุษย์จะตกงานกันมากขึ้น

ตัวเลขตกงานเมื่อสิ้นไตรมาส 2 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่ามี 411,124 คน คิดเป็นอัตราว่างงาน 1.08% เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.88%

ดูแล้วไม่มาก ยังเป็นอัตราว่างงานที่ต่ำสุดในโลกอยู่ แต่ก็ไม่น่าจะว่างงานกันมากขนาดนี้

ทั้งนี้เป็นเพราะมีการปลดคนงานในภาคอุตสาหกรรมกันมาก และมีการลดการจ้างลงถึง 1.7%

ขนาดยังไม่เข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 เลย ภาคอุตสาหกรรมมีการปลดคนงานกันเพิ่มขึ้นๆ ทุกเดือน เพราะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวนานมาก

มีรายงานสำรวจการประกอบการของไทยยุคเศรษฐกิจซึมเซา พบว่า ร้านค้า ร้านอาหารข้างถนน และแผงขายสินค้าตามตลาดนัดเพิ่มจำนวนขึ้นกว่า 3 เท่าตัวจากช่วงเศรษฐกิจปกติ

ตลาดนัดหลายแห่ง คนขายมีจำนวนมากกว่าคนซื้อ จึงไม่แปลกที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มเอาๆ

ตัวเลขเมื่อสิ้นปี 2558 ครัวเรือนไทยมีหนี้สินรวมกันถึง 11.077 ล้านล้านบาท คิดเป็น 81.1% ของจีดีพี

มากไปหรือน้อยไป?

2 views
bottom of page