top of page

อดทนรอโอกาสเข้าซื้อ


เฟดขึ้นดอกเบี้ยแน่ ! ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าตลาดหุ้นภูมิภาคเริ่มเป็นเป้าหมายของการขายเพื่อลดความเสี่ยง หรือ Sell-Off ของ Global Fund Manager บนทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐที่ค่อนข้างชัดเจนแล้ว ทั้งนี้แรงขายที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในเดือน พ.ย.2559 ตลาดหุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลดลงไปแล้วราว 3.5% MTD โดยมีตลาดหุ้นอินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากภาวะ Sell-Off มากที่สุด เนื่องจากโครงสร้างการส่งออกมีความอ่อนไหว หรือ Sensitivity ต่อทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่เกิดขึ้นในขั้นสูงมากของตลาดบนประเด็นความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในเดือน ธ.ค.2559 เกิดขึ้นหลังจากที่ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าถ้อยแถลงจากทางสมาชิก FOMC หลายท่าน สะท้อนแนวโน้มในการปรับขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างสูงขึ้น ขณะที่ล่าสุดความน่าจะเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นเพิ่มขึ้นจาก 82% ในสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 96% นอกจากนี้ถ้าดูในด้านความสัมพันธ์ระหว่าง 5Year Breakeven Inflation Rate และ Fed Fund Rate จากข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 13 ปีที่ผ่านมาจะพบว่ามี Correlationกันอยู่ที่ +0.51924 สะท้อนให้เห็นว่าการปรับตัวขึ้นของ 5Year Breakeven Inflation Rate ย่อมทำให้ Fed Fund Rate มีความเป็นไปได้ที่จะปรับตัวขึ้นด้วย

ดังนั้นจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ Spread ระหว่าง 5Year Breakeven Inflation Rate และ Fed Fund Rate เคลื่อนที่อยู่ในบริเวณ +0.5 SD สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของเฟดกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.2559

นอกจากนี้ในเชิงของสถิติเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาของสหรัฐพบว่าจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีการปรับดอกเบี้ยทั้งขึ้น และลงหลังเลือกตั้งภายใน 1 เดือนทั้งหมด 12 ครั้ง จาก 15 ครั้ง หรือคิดเป็น 80% ของการเลือกตั้งทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นจะขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ขณะที่ในเชิงกลยุทธ์สำหรับการลงทุนระยะกลาง 1-3 เดือน “นายหมูบิน” มองว่าการขยับเข้ามาเพิ่มพอร์ตการลงทุนนั้น ยังไม่ต้องรีบร้อนเข้ามาในวันที่ SET ปรับตัวบวกแรงๆ โดยควรเป็นไปในลักษณะของการรอจังหวะที่ SET พักตัวลงมาในระหว่างสัปดาห์ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2559 น่าจะเป็นโอกาสในการเข้า “ทยอยสะสม” ที่เหมาะสมกว่า เนื่องจากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในระยะต่อไป จะเป็นปัจจัยกดดันให้นักลงทุนต่างชาติต้องลดพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นไทยออกมาต่อเนื่อง

เลิกหวังว่ากองทุนจะมาช่วยปลายปี ! ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยแม้ว่าจะปรับตัวลดลงน้อยที่สุด แต่ถือว่าเป็นความเสี่ยงในช่วงถัดไปที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงได้ตามปัจจัยเชิงฤดูกาล หรือ Seasonality ที่ในช่วง 3 ปีล่าสุด (2556-2558) ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงเฉลี่ย 2.3% และ 5.5% ในช่วงเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ด้วยระดับ Loser Percentage ถึง 67% และ 100% ตามลำดับ โดยที่ในปี 2559 นี้โอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะซ้ำรอยเดิมมีสูงขึ้น จากแรงขายที่อาจเข้ามากดดันเพิ่มเติมจากแรงขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศต่อเนื่องจากนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิมาแล้วเกือบทุกวันในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังจากที่สัญญาณในทางเทคนิคบนแนวโน้มการเคลื่อนไหวของนักลงทุนสถาบันในประเทศเริ่มมีสัญญาณขายออกมาชัดเจนแล้ว หลังจากที่ล่าสุด Indicator อย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Local Institution Fund Flows กลับมามีสัญญาณ Sell Signal เหนือ Zero Line แล้ว

ขณะที่ความเชื่อที่ว่านักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนในประเทศจะเข้ามาซื้อพยุงตลาดหุ้นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ดูเหมือนว่าจะไม่เป็นความจริง สะท้อนออกมาจากในช่วง 3 ปีล่าสุด (2556-2558) พบว่าโดยเฉลี่ยในเดือน พ.ย. กองทุนในประเทศจะเป็นฝ่ายขายสุทธิออกมาราว 1.36 พันล้านบาท และในเดือน ธ.ค. จะซื้อสุทธิเข้ามาเฉลี่ยราว 1.95 พันล้านบาทเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อพิจารณาร่วมกับสถิติการเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติที่ในช่วง 3 ปีล่าสุด (2556-2558) เดือน พ.ย.-ธ.ค. เป็นช่วงที่ต่างชาติมักขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยในเดือน พ.ย. ขายสุทธิออกมาราว 992 ล้านบาท และในเดือน ธ.ค. ขายสุทธิออกมาเฉลี่ยราว 573 ล้านบาท โดยเฉพาะในเดือน ธ.ค. เป็นเดือนที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิออกมาทุกปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่เดือน พ.ย. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิแค่ปี 2557 ปีเดียวเท่านั้น ซึ่งโอกาสที่สถานการณ์ของนักลงทุนต่างชาติในปีนี้จะซ้ำรอยก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากโอกาสที่กระแสเงินในตลาดหุ้นภูมิภาคจะไหลกลับไปสหรัฐเพื่อปิดสถานะ Dollar Carry Trade มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง สะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุดดัชนี US Dollar Index ปรับตัวขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี สวนทางกับดัชนี JP Morgan Asian Dollar Index ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณีที่ SET ยังกลับไปปิดเหนือ 1,520 (+/-5) จุดไม่ได้ แนะนำ “ถือเงินสด” อีกครั้ง หรือ “Wait and See” ไปรอ “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” ในกรอบ 1,410 (+/-5) จุด ในหุ้น PTT, PTTGC, TOP, BDMS, ROBINS, MINT, CPN, AAV, AOT, CK, SCB และ KBANK

สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.con/moobin.stockmania และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com และ www. dokbiaonline.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

102 views
bottom of page