บอร์ด FER ไฟเขียวซื้อ “สตาร์ แก๊ส” ขยายเข้าทำธุรกิจพลังงาน ดร.ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ แจงเป็นดารสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้และอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม แถมมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง .. จ่อออกหุ้นเพิ่มทุน 1,439 ล้านหุ้น แบ่งขาย RO และ PP พร้อมจัดวอร์แรนต์ให้ผู้ถือหุ้นเดิมฟรี
ที่ประชุมคณะกรรมการ บริษัท เฟอร์รั่ม (FER) มีมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 2,006 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 1,898 ล้านบาท เป็นทุนจดทะเบียน 3,445 ล้านบาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ 1,438,799,970 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
ในส่วนของห้นที่เพิ่มทุนใหม่นี้ให้แบ่งจัดสรร 759,199,980 หุ้น เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม
(Rights Offering-RO) ในราคาหุ้นละ 1 บาท และออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทครั้งที่ 2 หรือ FER-W2 จำนวน 380 ล้านหน่วยให้ฟรี อัตราส่วน 5 หุ้น เดิมต่อ 2 หุ้นสามัญเพิ่มทุน ต่อ 1 วอร์แรนต์
ส่วนที่เหลืออีก 300 ล้านหุ้น จัดสรรให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (private placement-PP) ได้แก่ นายธราธิป ธาราธรรมรัตน์ และ นางสาวนภัสนันท์ วงศ์ธนินยา และ นายเชาวรัตน์ เวศม์ภิญโญ ในราคาเสนอขายหุ้นละ 1 บาท ซึ่งทั้ง 3 คนดังกล่าว เป็นนักธุรกิจที่คร่ำหวอดในแวดวงพลังงาน strategic investor ซึ่งน่าจะให้คำแนะนำกับบริษัทในการต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต
ดร.ประสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่านอกจากการเพิ่มทุนแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติเข้าไปลงทุนในธุรกิจการเป็นตัวแทนนายหน้าในการจัดจำหน่ายแก๊ส LPG และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ของ บริษัท สตาร์ แก๊ส จำกัด โดยการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นของ สตาร์ แก๊ส จำนวน 600,000 หุ้น คิดเป็น 100% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด รวมเงินลงทุน 550 ล้านบาท
สตาร์ แก๊ส ประกอบธุรกิจการให้บริการแก๊ส LPG สำหรับยานยนต์แบบค้าปลีกภายในสถานีบริการของตนเอง รวมถึงให้เช่าพื้นที่ภายในสถานีกับผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจทำความสะอาดรถยนต์ ธุรกิจจำหน่ายกาแฟ และธุรกิจจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่บริษัท ได้เข้าซื้อกิจการของสตาร์ แก๊สแล้ว บริษัทจะมีสถานีบริการแก๊ส LPG จำนวน 30 สาขา และสถานีบริการแก๊ส NGV จำนวน 2 สาขา
นอกจากนี้ สตาร์ แก๊ส ยังเป็นตัวแทนนายหน้าในการจัดจำหน่ายแก๊ส LPG ระหว่างคู่ค้ามาตรา 7 กับกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่เป็นสถานีบริการ LPG ทั่วประเทศ โดย สตาร์ แก๊ส จะเป็นผู้ประสานงานเรื่องการจัดซื้อและจัดส่งและได้รับค่าบริการในรูปของค่าบริหารจัดการคอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางการค้าส่งแก๊ส
“คาดว่าการขยายการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท ไปยังกลุ่มธุรกิจที่มีรายได้และอัตราการทำกำไรที่สม่ำเสมอ จะช่วยต่อยอดธุรกิจพลังงาน เพราะเป็นธุรกิจที่มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทในภาพรวม นอกจากนี้ยังมีโอกาสในการเพิ่มรายได้และอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม จะช่วยให้บริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในระยะยาวอีกด้วย” ดร.ประสิทธิ์ กล่าว