top of page

เจ้าสัวเจริญซื้ออมรินทร์ 850 ล้าน กำไรทันที 180 ล้าน


การซื้อสื่อดิจิทัลทีวีอมรินทร์พรินติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ดูคล้ายกับว่า ซื้อมาเป็นของเล่น เพราะอาชีพหลักของกลุ่มเจ้าสัวเจริญคือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในทางการลงทุน การซื้อหุ้นในราคา 4.25 บาทแล้วราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปอีก 4-5 บาท จะถือว่าเป็นกำไรได้ไหม?

จากราคา 5 วันสุดท้ายก่อนประกาศปิดดีล 7.30 บาท ราคาหุ้น AMARIN ขึ้นไปปิดที่ 9.65 บาทเมื่อวันศุกร์ก่อน

ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯมีขึ้นมีลงตามภาวะตลาดและแนวโน้มของผลประกอบการที่ส่งถึงผลกำไรและเงินปันผล

อมรินทร์พรินติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง ประมูลได้คลื่นทีวีดิจิทัลมาพร้อมกับรายอื่นๆ รวม 274 ช่อง (คลื่น) ขณะที่ตลาดโฆษณามีเม็ดเงินก้อนเดิม ซ้ำลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

อมรินทร์จึงต้องเพิ่มทุน ขายหุ้นเหมือนกับทีวีดิจิทัลรายอื่นๆ อัดเงินเข้าไปพยุงฐานะให้อยู่รอด 200 ล้าน แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น

บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในเครือไทยเบฟเวอเรจ โดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี และ ปณต สิริวัฒนภักดี มาถือหุ้นใหญ่ 47.50% ที่เกือบจะเกินครึ่งก็ทำให้เห็นแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์ทันที

นักลงทุนก็เห็นเหมือนกับคนตระกูลอุทกพันธุ์ ผู้บริหารอมรินทร์ ว่าราคาหุ้นพุ่งขึ้นมาทันทีเป็น 9.65 บาท เพิ่มจากวันก่อนหน้า 2.20 บาท

มิใช่เพราะได้ทุนก้อนใหม่จากการออกหุ้นใหม่เพิ่มทุน 200 ล้านหุ้นมาชูชุบ

หากแต่เป็นเพราะเครดิตของสัวเจริญที่มาค้ำชู และกิจการของไทยเบฟมีบริษัทในเครือกว่า 110 บริษัท

อาจจะมองว่าธุรกิจหลักของไทยเบฟคือเครื่องดื่มตามชื่อกลุ่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่อยู่ในเครือนั้น มูลค่ามากมายหลายแสนล้านบาท เฉพาะไทยเบฟที่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ (SGX) เพราะจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยไม่ได้เนื่องจากถูกกลุ่มเคร่งศีลต่อต้านนั้น ถือเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปสูงที่สุดในตลาด

ยิ่งกว่านั้นยังมี ทีซีซี บริษัทลูกที่ทำหน้าที่ป้อนวัตถุดิบผลิตสุราและเบียร์ ได้แตกหน่อเป็นทีซีซี แอสเสท กิจการอสังหาริมทรัพย์ที่เคยร่วมทุนกับเทมาเสคแห่งสิงคโปร์

เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างอืด เทมาเสคเอาทุนมาลงอยู่พักใหญ่ เห็นท่าไม่ไปทางไหนก็ถอนทุนหันไปลงทุนที่เวียดนาม ทีซีซี แอสเสท ก็เลยต้องฉายเดี่ยว

แต่กลายเป็นดี ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม หากแต่เก็บเกี่ยวที่ลงไปก่อนหน้านี้ แล้วขยายต่อยอด ซื้อที่ดินทำเลสวยๆ มาครองจนแทบจะเรียกว่าเป็นเจ้าของแลนด์แบงก์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

นอกจากนี้ก็ยังมีอุตสาหกรรมโรงแรม อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากแอลกอฮอล์ เช่นโรงงานน้ำตาลอ้อยครบวงจรที่รุกเข้าไปปลูกในลาว ในกัมพูชา ปลูกกาแฟบนที่ราบสูงโบโลเวนของลาว โรงงานเอทิลแอลกอฮอล์ไทย ผู้ผลิตแอลกอฮอล์ผสมกับเบนซินเป็นแก๊สโซฮอล์ เครื่องดื่มนอน-แอลกอฮอล์ ชาเขียวโออิชิ เครื่องดื่มเครือเสริมสุข เอสโคล่า น้ำดื่มช้าง เครือเฟรเซอร์แอนด์นีฟสิงคโปร์ ฯลฯ

แค่นี้ก็เหลือเฟือแล้วสำหรับงบโฆษณาที่จะหล่อเลี้ยงให้อมรินทร์ทีวีให้เติบโตได้ ทำให้บางช่องอาจจะตายไปเลยเมื่อบริษัทในเครือไทยเบฟโยกงบโฆษณาปี 2560 มาลงที่อมรินทร์ทีวี

โดยเฉพาะโออิชิ ที่เป็นผู้ใช้งบโฆษณาทางทีวีดิจิทัลสูงเป็นอันดับ 6 ใน 10 อันดับบริษัทใช้งบโฆษณาสูงสุดทางทีวีดิจิทัล 10 เดือนแรกของปีนี้

คงจะไม่มีใครท้วงติง เพราะพูดถึงคุณภาพของรายการแล้ว อมรินทร์ทีวีถือเป็นทีวีที่มีสาระ มีคุณภาพที่ดีระดับดีมากช่องหนึ่ง

ในยุคเศรษฐกิจเซื่องซึม สินค้าหลายกลุ่ม หลายหมวดที่ขับเคลื่อนยอดขายได้ดีด้วยแคมเปญโฆษณา

แต่มาวันนี้ ต่อให้ “โฆษณาให้ตายก็ขายไม่ออก”

จึงต่างคนต่างอยู่แบบรักษาตัวรอด ไม่เสี่ยงลงทุนเพิ่ม ประคองตัวกันไปจนกว่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจนกว่านี้

ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด รายงานว่า มีการใช้งบประมาณด้านโฆษณาแค่ 65,852 ล้านบาทเท่านั้น ลดลงถึง 7.82% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มียอดใช้จ่ายด้านโฆษณา 71,435 ล้านบาท

สื่อที่ติดลบมากที่สุดคือนิตยสาร (-29.69%) รองลงมาคือเคเบิ้ลทีวีและทีวีดาวเทียม ( -8.55%) สื่อทีวีอนาล็อก (-11.14%) สื่อทีวีดิจิทัล (-7.78%)

ส่วนสื่อที่มีการใช้งบโฆษณามาก เติบโตมากเรียงตามลำดับคือ สื่ออินเตอร์เน็ต (+70.96) สื่อเอาท์ดอร์ โต (30.05%) สื่อทรานซิต (+17.21%) และสื่อในโรงภาพยนตร์ (+14.08%)

เฉพาะสื่อทีวีนั้น แม้ทีวีอนาล็อกหรือทีวีระบบดั้งเดิม จะยังคงมากที่สุดคือ 30,445 ล้านบาท แต่ก็ถูกทีวีดิจิทัลแย่งไปถึง 11,399 ล้านบาท

ทว่าก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้ยืนอยู่ได้ครบจำนวนช่องที่ประมูลได้ไปจากกสทช.

ทีวีดิจิทัลที่ประมูลกันเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ดำเนินการกันในปีถัดมาจนถึงวันนี้ เกือบครบรอบปีที่ 3 ในไม่กี่เดือนข้างหน้า พบว่ามีหลายช่องที่อยู่ในข่ายที่จะ ”ไปต่อ” ไม่ไหว โดยเฉพาะอมรินทร์ทีวี ติดลบเป็นปีที่ 2 โดย 6 เดือนแรกรายได้ติดลบ 262.67 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่ติดลบ 236.74 ล้านบาท

ทั้งนี้เพราะทีวีดิจิทัลมีมากช่องกว่าทีวีระบบเก่า ทำให้งบประมาณโฆษณาเกลี่ยกันไปแล้วแต่ละช่องได้น้อยลง

แม้แต่ BEC ค่ายช่อง 3 ที่ขยายลงมาเล่นทีวีดิจิทัลกับเขาด้วยและครองเรตติ้งสูงที่สุดในกลุ่มนี้ รายได้ก็ยังลดลง

หลายช่องพยายามหนีตายด้วยการเพิ่มทุน ระดมทุนจากทุกแหล่ง เช่นแกรมมี่ช่อง One และ GMM Channel ขายหุ้นในกิจการอีเวนต์และธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือทั้งหมด

RS ช่อง 8 ขายหุ้น 9% ให้ King Power ขณะที่ ไทยทีวีโลก้า ขาดทุนกว่า 320 ล้านบาท ไม่สามารถจ่ายค่าใบอนุญาตให้ กสทช.ได้

จากการประเมินของสำนักวิจัยด้านตลาดโฆษณาหลายแห่ง คาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ทีวีดิจิทัล 24 ช่อง จะอยู่รอดกันไม่เกิน 10 ช่อง..ในจำนวนนั้นน่าจะมีอมรินทร์ทีวีอยู่ด้วย

ถึงเดือนกรกฎาคม 10 อันดับบริษัทใช้งบโฆษณาสูงสุดมีบริษัทในเครือไทยเบฟ ถึง 2 บริษัท ได้แก่ โออิชิ กรุ๊ป 320 ล้านบาท และบริษัท เบียร์ไทย (1991) 125.55 ล้านบาท

เม็ดเงินโฆษณาของสินค้าในเครือไทยเบฟฯเหล่านี้ หากย้ายมามาหนุนอมรินทร์ทีวี ก็น่าจะลดการขาดทุนหรือพลิกเป็นกำไร

นี่คือสิ่งที่นักลงทุนในตลาดหุ้นมองเห็น..จึงไม่แปลกที่เมื่อมีข่าวว่าไทยเบฟซื้ออมรินทร์ พรินติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง แพร่ออกมา ราคาหุ้น AMARIN จะพุ่งกระฉูด จาก 7.30 บาทไปถึง 9.65 บาท และแม้ต่อมาจะชะลอตัวลงหลังหายตื่นเต้นแล้ว ก็น่าจะหนีไม่ไกล 8 บาท

บริษัทลูกชายเจ้าสัวกำไรต่อหุ้นทันที 3.55-4.45 บาท

311 views
bottom of page