top of page

บลจ.ออกตัว: ชักดาบตั๋วบีอีไม่มีปัญหา


จากกรณีที่เกิดการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบีอีของบริษัทหลายแห่งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา และเหมือนจะเกิดไฟลามทุ่งท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่คอนเฟิร์ม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มขาขึ้น และพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนต่างๆ ที่ลงทุนในตั๋วบีอีเอาไว้ โดยไม่มีใครรู้ว่ากองทุนไหนลงทุนตราสารหนี้ ตั๋วบีอีของที่ไหนอย่างไรบ้าง เป็นตั๋วบีอีที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตไว้ที่ลำดับไหน ยกเว้นบริษัทที่แดงออกมาแล้ว อย่างเช่น บลจ.แอสเซ็ท พลัสฯ และ บลจ.โซลาริส

เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีบลจ.หลายแห่งที่ยืนยันว่า ไม่ได้รับผลกระทบและกองทุนที่บริหารจัดการอยู่ไม่มีปัญหา ขณะที่อีกหลาย บลจ.ทั้งน้อยใหญ่ยังเงียบฉี่

บลจ.กสิกรไทย ได้ออกมาแสดงตนเป็นรายแรกๆ แนะนำผู้ลงทุนว่าอย่าเพิ่งตกใจ กรณีข่าวผิดนัดตั๋วบีอี

นายชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการและประธานบริหารการลงทุนตราสารหนี้ บลจ. กสิกรไทย กล่าวว่า จากกรณีกระแสข่าวเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินที่เกิดขึ้นกับบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะเป็นบริษัทที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิตองค์กรหรือสารหนี้ (unrated) ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษที่ผ่านมา ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าวอาจส่งผลกระทบลุกลามต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อการลงทุนในตั๋วบี/อี หรือตราสารที่ออกโดยบริษัทที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิต

“การลงทุนในตราสารหนี้จะมีความเสี่ยงที่สำคัญอยู่ 2 ประเด็นหลักที่ผู้ลงทุนควรทราบ คือ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของราคา ซึ่งเป็นผลมาจากความคาดหวังในอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น หรืออัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น หรือ market risk / interest rate risk และความเสี่ยงที่เกิดจากการไม่ได้รับชำระเงินคืนตามกำหนดเวลา หรือ default risk ซึ่งความเสี่ยงอย่างหลังนี้ ถ้าหากเกิดขึ้นก็มักจะกระทบต่อราคาหรือมีโอกาสขาดทุนมากกว่าความเสี่ยงแบบแรก”

ทั้งนี้โดยหลักการแล้ว การผิดนัดชำระเงินของตราสารหนี้อาจเกิดขึ้นได้กับตราสารต่างๆ ทั้งตราสารประเภทที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต (non rated) ตราสารที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ (non investment grade) หรือแม้แต่ตราสารที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่ลงทุนได้ (investment grade) ก็ตาม เพียงแต่ตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจะมีการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทต่อนักลงทุน ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลเบื้องต้นในการประเมินหรือพิจารณาความเสี่ยงก่อนการลงทุน ซึ่งโดยสถิติแล้ว ตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่ดี ส่วนใหญ่จะมีโอกาสของการผิดนัดชำระหนี้น้อยกว่าตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่ต่ำกว่าหรือไม่มีการจัดอันดับเครดิต แต่ก็จะได้รับอัตราผลตอบแทนในระดับที่ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบเช่นเดียวกัน

“สำหรับกรณีการผิดนัดชำระหนี้ของหลายบริษัทที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จะเห็นว่าบริษัทผู้ออกตราสารเหล่านี้ดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน จึงไม่อาจเหมารวมว่ากลุ่มอุตสาหกรรมใดกำลังมีปัญหาเรื่องการดำเนินงานหรือขาดสภาพคล่องหรือไม่ ทั้งนี้ความผิดพลาดอาจเกิดจากสาเหตุเล็กๆ เช่น มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการภายใน หรือปัญหาเรื่องการจัดเงินในระยะเวลาสั้นๆ ไม่ดี (fault settlement) ซึ่งสาเหตุเหล่านี้หากเกิดขึ้นกับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินจะไม่เป็นปัญหาหรือมีผลกระทบไม่มาก เพราะสามารถยืดหยุ่นได้มากกว่ากรณีเจ้าหนี้ที่เป็นกองทุนซึ่งบริหารจัดการโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพราะต้องนำเงินไปส่งมอบต่อผู้ถือหน่วยให้ทันตามกำหนดเวลา แต่ถ้าพบปัญหาว่ากิจการเริ่มมีการจัดการกับสภาพคล่อง หรือมีปัญหากับธุรกิจที่ดำเนินการอยู่จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเจ้าหนี้ต้องเข้าไปติดตามและแก้ปัญหา”

นอกจากนี้ประเด็นที่สำคัญคือ แม้ว่ากองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ผิดนัดชำระส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนที่จดทะเบียนจัดตั้งกับ ก.ล.ต. เป็นกองทุนรวมที่เสนอขายสำหรับผู้ลงทุนที่มิใช่รายย่อยก็ตาม บลจ.หรือเจ้าหนี้ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องชี้แจงให้ผู้ถือหน่วยลงทุนรับทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นด้วย หรือแม้กระทั่งหากมีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็ควรมีคำชี้แจงพร้อมแนวทางในการแก้ไขจัดให้แก่ผู้ลงทุนทราบด้วยเช่นเดียวกัน

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ของบริษัทเอกชน บริษัทจัดการจึงจำเป็นที่จะต้องทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในด้านต่างๆ ทั้งระดับมหภาคและจุลภาคไม่แตกต่างจากการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และต้องมีการติดตามการบริหารผลการดำเนินงานของบริษัทผู้ออกตราสารหนี้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของ บลจ.กสิกรไทยเองมีกระบวนการกลั่นกรองถึง 2 ชั้น โดยคณะทำงานพิจารณาการลงทุนด้านตราสารหนี้ และคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน ทั้งนี้ การวิเคราะห์จะประเมินทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพรวมถึงบางครั้งจะมีการเข้าพบผู้บริหารและเยี่ยมชมการดำเนินกิจการของบริษัทที่จะไปลงทุนเพื่อเพิ่มความเข้าใจในธุรกิจและความเสี่ยงของธุรกิจให้มากขึ้น ทั้งนี้การพิจารณาการลงทุนของบริษัทจะคำนึงผลประโยชน์สูงสุดที่ผู้ลงทุนจะได้รับและเพื่อให้ผู้ลงทุนเกิดความเชื่อมั่นมากที่สุด

ด้าน บลจ.ไทยพาณิชย์ ยืนยันว่า แม้จะเห็นภาพการชักดาบตั๋วบีอีกเกิดขึ้นหลายบริษัท และยังมีรายชื่ออีกนับ 10 บริษัทที่ต่อเข้ามาเป็นหางว่าวว่ามีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ แต่นักลงทุนยังมั่นใจกองทุนตราสารหนี้ เฉพาะ

ของบลจ.ไทยพาณิชย์ มีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้าแล้ว 25,000 ล้านบาท จากต้นปี 2560

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ขณะนี้ว่า ถึงแม้สถานการณ์จะอยู่ในช่วงที่ อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีข่าวที่กระทบต่อแวดวงตลาดตราสารหนี้บ้าง แต่นักลงทุนก็ยังจัดสรรเงินลงทุนเข้ามาในกองทุนตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อ บลจ.ไทยพาณิชย์ โดย ณ วันที่ 18 มกราคม 2560 บริษัทฯ มีกองทุนตราสารหนี้ภายใต้การบริหารอยู่ที่ 554,320 ล้านบาท

นายสมิทธ์ กล่าวว่า บลจ. ไทยพาณิชย์ มีกระบวนการคัดเลือกตราสารที่กองทุนจะเข้าลงทุน (Internal Credit Model) ในรูปแบบที่มีมาตรฐานสูงเทียบเท่ากับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ นอกจากนั้นยังมีกระบวนการวิเคราะห์หรือคัดเลือกบริษัทที่จะลงทุน โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ ความมั่นคงทางการเงิน สถานะทางการเงิน และปริมาณเงินสดจากการดำเนินงาน รวมทั้งยังมีการวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม สถานการณ์รายอุตสาหกรรม (sector) ตลอดจนความสามารถและประสบการณ์ของทีมผู้บริหารของบริษัทที่จะลงทุน

เรายังมีทีมวิเคราะห์เครดิตที่มีความชำนาญในการวิเคราะห์ตราสารหนี้ อาทิ ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ โดยเฉพาะแยกจากทีมผู้จัดการกองทุน และทีมนักวิเคราะห์หุ้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ตราสารหนี้ในเชิงลึกและทั่วถึง โดยทีมงานจะมีการเดินสายและเข้าร่วมประชุม analyst meeting กับทีมผู้บริหารบริษัท เพื่อรับทราบถึงสถานการณ์ผลการดำเนินงาน และแผนธุรกิจในอนาคตของธุรกิจบริษัทนั้นๆ อย่างสม่ำเสมอ”

โดยตั้งแต่ปี 2558 บลจ.ไทยพาณิชย์ เป็นผู้นำ call back verification ซึ่งเป็น Business model ใหม่มาใช้เป็นบริษัทจัดการรายแรกของอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนได้รับคำแนะนำการลงทุนและข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องครบถ้วนตรงตามระดับความเสี่ยงและข้อจำกัดการลงทุนของลูกค้าแต่ละราย ซึ่งกระบวนการดังกล่าวนี้ได้รับการยอมรับและนำไปสู่แนวคิดในการวางมาตรฐานการกำกับดูแลบริษัทจัดการลงทุนให้มีมาตรการป้องกันการเกิด mis-selling อีกด้วย

บลจ.ทาลิส ที่เป็น บลจ.น้องใหม่ ยืนยันว่ากระแสผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ไม่กระทบบริษัท และให้ลูกค้าสบายใจได้ โดยเฉพาะกองทุนเปิดทาลิสตลาดเงิน (TLMMF) ที่ออกและเสนอขายให้ประชาชนทั่วไป ไม่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต แต่เน้นลงทุนในตราสารหนี้แบงก์ชาติ และเงินฝากธนาคาร ชูจุดแข็งและความโดดเด่นเฉพาะตัว มีผู้จัดการกองทุนที่เชี่ยวชาญ วิเคราะห์ความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน เพื่อสร้างผลตอบแทนในระดับที่เหมาะสมให้กับลูกค้า

“เรื่องดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในส่วนลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ของ บลจ.ทาลิส แต่อย่างใด เนื่องจากปัจจุบันกองทุน ที่บริษัทฯออกเสนอขายแก่ประชาชนโดยทั่วไป ไม่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงแต่อย่างใด ทั้งนี้ ทีมผู้บริหารจัดการกองทุนของบริษัท มีความเชี่ยวชาญในการลงทุน มีการวิเคราะห์คัดเลือกตราสารที่มีคุณภาพก่อนการลงทุนอย่างละเอียดรอบคอบ ทำให้กลุ่มลูกค้า ให้ความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้บริษัท บริหารจัดการเงินลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง”

อีกทั้งกระแสข่าวที่ว่า บลจ.ทาลิส นำเงินของลูกค้าไปลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงที่กำลังมีปัญหานั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนั้น ลูกค้าของบริษัทฯ สบายใจได้” นายฉัตรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. ทาลิส กล่าว

ด้านนายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ทาลิส กล่าวว่า การลงทุนทุกอย่างล้วนมีความเสี่ยง ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้เรื่องของราคาที่มีการเปลี่ยนแปลง และการผิดนิดชำระหนี้คือความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องพิจารณาเป็นอย่างมาก

ขณะที่ บลจ.กรุงไทย หรือ KTAM ย้ำนักย้ำหนาว่า มีเข้มคัดกรองตราสารหนี้ ป้องกันผลกระทบลูกค้าบริษัท

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย กล่าวว่า การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ปัจจุบันบริษัทไม่มีการลงทุนในตั๋วที่ผู้ออกไม่มีเครดิตเรตติ้ง โดยจะลงทุนเฉพาะตั๋วที่มีธนาคารเป็นผู้ออก รับรอง อาวัล และตั๋วที่ผู้ออกมีเครดิตเรตติ้งอยู่ในระดับ Investment Grade เท่านั้น ซึ่ง บริษัทมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และคณะกรรมการลงทุน ในการพิจารณาตราสารที่จะลงทุนในกองทุน โดยให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์คุณภาพของผู้ออกตราสารที่จะลงทุนเป็นอันดับแรก

นอกจากนี้ บริษัทยังมีการวิเคราะห์ทบทวนตราสารที่ลงทุนตามช่วงเวลาต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเพื่อติดตามฐานะผลการดำเนินงาน แหล่งที่มาของรายได้ และการใช้เงินลงทุน ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ และ หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติกับผู้ออกตราสาร บริษัทจะทำการวิเคราะห์ทบทวนข้อมูล เพื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการลงทุน

“ ถึงแม้จะมีกระแสข่าวลบของตั๋วบีอี ที่ไม่มีเครดิตเรตติ้งนั้น บริษัทเชื่อว่า เป็นผลกระทบในวงจำกัด และส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้าง ยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทจะติดตามตราสารหนี้ ทั้งที่มีเครดิตเรตติ้ง และไม่มีเครดิตเรตติ้ง อย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาผลตอบแทน ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เหมาะสมให้กับลูกค้าอย่างดีที่สุด ให้สมกับที่ได้รับความไว้วางใจ ในการเลือกบริษัทให้เป็นผู้บริหารเงินลงทุน”

105 views
bottom of page