top of page
379208.jpg

พระประวัติ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ วัดราชบพิธฯ สังฆราช องค์ที่ 20


“สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกธีราจารย์ อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฏ์ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช (อมฺพรมหาเถร) สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม”

นี่คือพระนามเต็มของสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่ องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่จะมีพิธีสถาปนาในวันที่ 12 ก.พ. 2560

สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่ มาจากวงศ์ธรรมยุต ลำดับอาวุโสที่ 3 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายธรรมยุติกนิกายเมื่อวันที่5 ธ.ค.2552 ถัดจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ และ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดสัมพันธวงศ์ ถือเป็นพระธรรมยุตที่เรียบง่าย สมถะ มีวัตรปฏิบัติงดงาม ไม่สะสมทรัพย์สมบัติใดๆ เป็นลูกศิษย์คนสำคัญของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์กรรมฐานชื่อดังแห่งสกลนคร ปัจจุบันอายุ 90 พรรษา

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ใหม่ ถือเป็นเป็นความงดงามของบ้านเมือง เนื่องเพราะสถาบันศาสนา ถือเป็น 1 ใน 3 เสาหลักสำคัญของประเทศไทยที่กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่าน

สมเด็จพระสังฆราช จากวัดราชบพิธฯ มีชื่ออีกชื่อที่รู้กันในหมู่พระสงฆ์กรรมฐานหรือพระสงฆ์วัดป่าว่า “สมเด็จขาว” เพราะผิวพรรณท่านขาวสะอาด มีพระนามเดิมว่า “อัมพร ประสัตถพงศ์” เกิดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2470 ที่ ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี โยมบิดา-มารดาชื่อ นายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย

ในช่วงวัยเยาว์ เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปี 2480 ที่วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี มีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ย้ายไปจำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม, พ.ศ.2483 สอบได้นักธรรมชั้นตรี, พ.ศ. 2484 สอบได้นักธรรมชั้นโท, พ.ศ. 2486 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค, พ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ต่อมาปี พ.ศ. 2490 ย้ายมาจำพรรษา ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี พามาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสน์ วาสโน) และให้สามเณรอัมพรเข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2491 ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ มีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตากโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ภายหลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และพ.ศ. 2493 สอบได้เปรียญธรรม 6ประโยค ปี 2509 ได้เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี จากนั้นทำงานเผยแพร่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศพร้อมเป็นอาจารย์สอนธรรมวินัยแก่พระภิกษุ-สามเณรและอีกหลายหน้าที่

งานการปกครองเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.), กรรมการคณะธรรมยุต, นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.), กรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, แม่กองงานพระธรรมทูต, ประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร นับว่าเป็นศิษย์หลวงปู่ฝั้นที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน คือเป็นถึงสมเด็จพระราชาคณะ, พระอุปัชฌาย์ เป็นต้น

สมณศักดิ์ ปี 2514 เป็นพระปริยัติกวี ปี 2524 เป็นพระราชสารสุธี ปี 2533 เป็น พระเทพเมธาภรณ์ ปี 2538 เป็นพระธรรมเมธาภรณ์ ปี 2543 เป็น พระสาสนโสภณ ปี 2552 เป็น สมเด็จพระมหามุนีวงศ์

ปี 2560 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

 

Credit ภาพ: http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=23000&f=13

69 views
bottom of page