top of page

จีนส่งสัญญาณคุมเข้ม..ศูนย์วิจัยกสิกรย้ำต้องตามติด


ขณะที่ นักลงทุน นักวิเคราะห์ หันไปจับจ้องมองความเคลื่อนไหวของอเมริกาที่กำลังเข้ายุคการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และรอดูมาตรการต่างๆของประธานาธิบดีอเมริกาคนใหม่ โดนัลด์ เจ ทรัมป์ ซึ่งเพียงสัปดห์เดียวกลังรับตำแหน่งก็สร้างสีสันมากมาย แต่ทางซีกโลกตะวันตก อย่างจีน ก็เป็นประเทศที่ต้องให้ความสำคัญและจับตามองเช่นกัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน หรือ PBoC ส่งสัญญาณคุมเข้ม ด้วยการประกาศขึ้นดอกเบี้ย เพื่อปล่อยสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน โดยอัตราดอกเบี้ย Reverse repo OMOs ถูกปรับเพิ่มขึ้น 0.10% มาที่ 2.35% (สำหรับระยะ 7 วัน) 2.50% (สำหรับระยะ 14 วัน) และ 2.65% (สำหรับระยะ 28 วัน) จาก 2.25% 2.40% และ 2.55% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีสำหรับดอกเบี้ยระยะ 28 วัน และเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีสำหรับระยะ 7 และ 14 วัน

นอกจากนี้ PBoC ยังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกประมาณ 0.10-0.35% สำหรับสถาบันการเงินที่มาขอกู้เงินระยะสั้นๆ จาก PBoC (Standing Lending Facility หรือ SLF) โดยอัตราดอกเบี้ย SLF ระยะข้ามคืน ขยับขึ้นจาก 2.75% เป็น 3.10% ขณะที่ อัตราดอกเบี้ย SLF ระยะ 7 วัน และ 1 เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 3.35% และ 3.70% จากระดับ 3.25% และ 3.60% ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ในทางปฏิบัติแล้ว อัตราดอกเบี้ย SLF อาจถือเป็นเพดานสำหรับเงินกู้ระยะสั้นๆ ในตลาดเงินระหว่างสถาบันการเงิน ซึ่งสะท้อนว่า ต้นทุนการระดมทุนของสถาบันการเงินบางส่วน อาจทยอยปรับขึ้น หลังจากที่ก่อนช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีน PBoC ได้มีการนำร่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (Medium-term Lending Facility หรือ MLF) อายุ 6 เดือน และ 1 ปีไปแล้ว

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว นับเป็นการส่งสัญญาณอย่างจริงจังกลับไปที่สถาบันการเงินให้เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยกู้ระหว่างกัน หลังจากที่การก่อหนี้ของภาคสถาบันการเงิน ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งตอกย้ำว่า ประเด็นเชิงเสถียรภาพของระบบการเงินจีน กำลังกลายเป็นโจทย์เฉพาะหน้าที่ PBoC ให้ความสำคัญมากขึ้น

อย่างไรก็ดี PBoC ยังคงหลีกเลี่ยงที่จะใช้การคุมเข้มผ่านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปีที่เป็นตัวอ้างอิงเชิงนโยบาย หรือ Benchmark Interest Rate เพื่อลดผลกระทบในวงกว้างต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน”

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุด้วยว่า เป็นที่คาดการณ์กันว่า PBoC อาจหวังผลทางอ้อมในด้านอื่นๆ จากการขยับขึ้นของดอกเบี้ยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุนระยะสั้นของสถาบันการเงิน เพราะต้นทุนทางการเงินที่ทยอยตึงขึ้น อาจจะช่วย บรรเทา/ชะลอความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์และภาพการระดมทุนโดยรวม (Total Social Financing หรือ TSF) ที่ยังคงเติบโตด้วยอัตราตัวเลขสองหลักในปีที่ผ่านมา ตลอดจนอาจช่วยลดแรงกดดันต่อปัญหาเงินทุนไหลออก ท่ามกลางวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยอเมริกา ซึ่งยังคงเป็นประเด็นใหญ่ของตลาดการเงินโลกในปีนี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดการเงินจีน และตลาดการเงินโลกในส่วนอื่นๆ รวมถึงตลาดเงิน-ตลาดทุนของไทย แทบไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับช่องทางดูแลสภาพคล่องของธนาคารกลางจีน PBoC ในรอบนี้ เพราะจุดสนใจของนักลงทุนและตลาดการเงินในระยะนี้ ยังคงเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารประเทศของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดเงินดอลลาร์ ก็ยังคงเผชิญแรงขายเมื่อเทียบกับหลายสกุลเงิน เพราะแม้ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นอย่างเหนือความคาดหมาย แต่ตัวเลขค่าจ้างของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด ทำให้ตลาดตีความว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยในรอบการประชุมใกล้ๆ นี้ (โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในการประชุม FOMC รอบมีนาคม ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 10%)

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า ในขณะที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงไม่ระบุถึงจังหวะเวลาที่ชัดเจนสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ PBoC ได้กลายเป็นธนาคารกลางรายแรกๆ ของปีนี้ ที่ดำเนินมาตรการทางการเงินในเชิงคุมเข้ม (ผ่านอัตราดอกเบี้ยตลาดเงินและทิศทางค่าเงินหยวน) และแม้ผลกระทบในครั้งนี้ จะยังไม่ชัดเจน แต่หากจีนทยอยปรับเปลี่ยนท่าทีเชิงนโยบายการเงินมาเป็นคุมเข้มในส่วนอื่นๆ มากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ ก็อาจจะมีผลทางอ้อมต่อ“บรรยากาศ ของตลาดเงินตลาดทุนในเอเชีย เพราะคงต้องยอมรับว่า ความผันผวนของตลาดการเงินจีนในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา มีผลกระทบไม่น้อยต่อการปรับตัวของราคาสินทรัพย์เสี่ยง และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

0 views
bottom of page