บล.โกลเบล็ก เผยหุ้นไทยได้แรงหนุนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยืนยันใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย พร้อมจะเพิ่มวงเงินมาตรการ QE หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อแย่ลง แนะจับตา MSCI ประกาศน้ำหนักการลงทุนในหุ้นบางกลุ่ม ส่งผลเชิงบวกให้กรอบดัชนี 1,600–1,620 จุด แนะลงทุนหุ้นที่คาดว่ากำไรปี 2559 จะเติบโตโดดเด่น และ yield สูง
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยได้รับปัจจัยบวกจาก ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงยืนยันใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปและพร้อมจะเพิ่มวงเงินมาตรการ QE หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อแย่ลง รวมถึงปัจจัยในประเทศที่รัฐบาลเดินหน้าเปิดประมูลโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการทยอยประกาศผลการดำเนินงานและประกาศจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนทำให้มีแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นที่คาดจะมีผลประกอบการดีและ yield สูง โดยมีปัจจัยกดดันจากการที่นักลงทุนกังวลต่อนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการลงทุน การค้า และนโยบายต่างประเทศอย่างไรบ้าง ประกอบกับอังกฤษเริ่มกระบวนการ Brexit ซึ่งขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการอยู่ระหว่างวันที่ 6-8 ก.พ. และการเลือกตั้งในฝรั่งเศสที่จะเกิดขึ้นในกลางปีนี้อาจนำมาซึ่งกระแสการถอนตัวออกจากกลุ่มประเทศยูโรโซน
ล่าสุดนางมารีน เลอแปง ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศสจากพรรคเนชั่นแนล ฟรอนท์ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองขวาจัดประกาศกร้าวว่าเธอจะนำฝรั่งเศสถอนตัวออกจากยูโรโซนหากชนะการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่อาจมีผลต้องพิจารณา คือ สภาอังกฤษเตรียมโหวตร่างกฎหมาย Brexit ,วันที่ 9 ก.พ. รฟม.เซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้ง 6 สัญญากับ CK-STEC-ITD-UNIQ และการประกาศของ MSCI ซึ่งเป็นการประกาศน้ำหนักการลงทุนซึ่งมีการปรับเพิ่มน้ำหนักในบางกลุ่มในเชิงบวก ตามแนวโน้มว่าจะไม่มีการถอดหุ้นออกหรือปรับหุ้นเข้า คาดว่า MSCI จะเพิ่มน้ำหนักกลุ่มธนาคารไทยขึ้นหลังมองว่า NPL ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว อย่างไรก็ตามการดีดตัวของดัชนีจะมีความผันผวนจากความกังวลนโนบายเศรษฐกิจของปธน.โดนัลท์ ทรัมป์ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ
“ดังนั้นประเมินว่า SET จะซิกแซกขาขึ้นเพื่อทดสอบแนวต้าน 1,600 – 1,620 จุด ทั้งนี้แนะนำ ซื้อเก็งกำไรแบบ Selective Buy ในกลุ่มพลังงาน คาดว่างบ Q4/59 รวมถึงงบปี 2559 จะมีกำไรเติบโตขึ้นและหุ้นที่คาดว่ากำไรปี 2559 จะเติบโตขึ้น แนะนำ ANAN, BANPU และ WICE”
ด้าน ทิสโก้ เวลธ์ เจาะเทรนด์การลงทุนปี 2560 โดยนายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ฉายภาพเศรษฐกิจโลกในปี 2560 ว่า จะมีความแตกต่างไปจากปี 2559 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่จะกลับมาเร่งตัวขึ้น ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัว ส่งผลต่อรูปแบบการใช้นโยบายเศรษฐกิจ โดยเปลี่ยนจากการใช้นโยบายการเงิน เช่นการทำ QE และดอกเบี้ยติดลบ ไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลัง โดยจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือ การชนะการเลือกตั้งของประธานาธิบดี Donald Trump และการครองเสียงข้างมากของพรรค Republican ในสภาคองเกรส ซึ่งจะทำให้เกิดการผลักดันมาตรการลดภาษี และการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลกในปี 2560
ทั้งนี้ ในปี 2559 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกขยายตัวที่ 3.0% นับว่าต่ำสุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2551 เนื่องจากการลงทุนและการค้าโลกที่หดตัวตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ส่วนการบริโภคไม่ได้ฟื้นตัวตามคาด เนื่องจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ ส่วนในปี 2560 เราคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ 3.4% ตามการฟื้นตัวของการลงทุนและการค้าโลกประกอบกับแรงส่งจากนโยบายการคลัง โดยเงินเฟ้อและเศรษฐกิจโลกในปี 2560 จะส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากไม่ขยายตัวมาตั้งแต่ปี 2557
“การเร่งตัวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกลับมาขยายตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี น่าจะทำให้ปี 2560 เป็นอีกปีที่ดีของตลาดหุ้น โดยเรายังคงแนะนำ Overweight ใน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Trump ส่วน ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีปัจจัยบวกจากค่าเงินเยนอ่อนค่าและการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกำไรบริษัทจดทะเบียน ประกอบกับ Valuation ที่ยังถูกจึงเป็นโอกาสลงทุน ขณะที่ตลาดหุ้นอินเดีย ที่ปรับฐานจากผลกระทบของการยกเลิกการใช้ธนบัตร 500 และ 1,000 รูปี น่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวเพียงระยะสั้นๆ แต่ในระยะยาวศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี” นายคมศร กล่าว พร้อมแนะนำให้ขายทำกำไรน้ำมัน ที่ราคาปรับขึ้นมามากและข่าวดีจากความตกลงลดปริมาณการผลิตได้ถูกประกาศออกมาหมดแล้ว และทยอยสะสมทองคำ ที่ย่อตัวลงมากเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน
อย่างไรก็ดี ในปี 2560 ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ 1) ความเสี่ยงทางการเมืองจากการเจรจา Brexit และการเลือกตั้งในยุโรปหลายประเทศ 2) ราคาน้ำมันที่อาจปรับตัวลดลงหากกลุ่ม OPEC ตัดสินใจกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมปลายเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ และ 3) แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น เช่นการปรับขึ้นดอกเบี้ยและการลดการอัดฉีดสภาพคล่องผ่าน QE ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4