ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ 3 ของโลกถัดจากประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐประมาณการผลผลิตน้ำมันปาล์มของโลกในปี 2016 ไว้ที่ประมาณ 64.5 ล้านตัน เพิ่มจากปี 2015 ประมาณ 9.6%
แต่ท่านอย่าหลงดีใจว่า การที่ไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอันดับ 3 ของโลก จะทำให้ไทยสามารถเข้าไปมีบทบาทกำหนดทิศทางการค้าและการผลิตในตลาดการค้าน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทหนึ่งของโลก เนื่องจากปริมาณผลผลิตของไทยน้อยกว่าปริมาณผลผลิตของผู้ผลิตอันดับหนึ่งและสองอย่างเทียบกันไม่ได้
ในปี 2016 อินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มได้ประมาณ 35 ล้านตัน และมาเลเซียผลิตได้ประมาณ 20 ล้านตัน สองประเทศนี้รวมกันคิดเป็น 85.27% ของผลผลิตรวมของโลก ส่วนไทยผลิตได้เพียง 2.3 ล้านตัน คิดเป็น 3% ของโลกเท่านั้น จึงทำให้ไทยไม่สามารถเข้าไปมีบทบาทในการชี้นำหรือกำหนดทิศทางการค้าและการผลิตน้ำมันปาล์มในตลาดโลกได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อคุ้มครองเกษตรกรชาวสวนปาล์ม จึงมีการควบคุมการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบราคาต่ำจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เพราะมีระบบการบริหารจัดการสวนปาล์มที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่การควบคุมพื้นที่การผลิต ปริมาณการผลิต ตลอดถึงการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้ผลผลิตสูง ทั้งสภาพภูมิอากาศยังเหมาะสมกับการปลูกต้นปาล์มน้ำมันกว่าภูมิอากาศในประเทศไทย เนื่องจากมีฝนตกและความชื้นในอากาศสูงกว่า
นอกจากการใช้มาตรการด้านราคาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนปาล์มแล้ว รัฐบาลไทยยังใช้มาตรการด้านราคาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค โดยการควบคุมราคาขายของน้ำมันปาล์มบรรจุขวดด้วย ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันเพื่อการบริโภคหรือโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มจำยอมต้องรับซื้อผลปาล์มสดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด แต่ไม่สามารถปรับราคาขายน้ำมันเพื่อการบริโภคให้สูงขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้นตามนโยบายของรัฐได้
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยถูกคุมกำเนิดไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตในราคาที่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะในมาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ และยังร่วมมือกับอินโดนีเซียจัดตั้งสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มลักษณะเดียวกับองค์กรกลุ่มประเทศโอเปก ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศทั้งสองมีเสถียรภาพเพราะสามารถชี้นำปริมาณการผลิตและราคาในตลาดโลกได้
การใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและผลผลิตสูงกว่า ทำให้ไทยต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันปาล์มบ้าง ราคาผลผลิตลูกปาล์มสดตกต่ำบ้างเป็นระยะๆ ต่อเนื่องกันมานานหลายสิบปี เนื่องจากไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ แต่เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุเพื่อผลทางการเมือง คือการดูแลชาวสวนปาล์มและผู้บริโภคให้ขายผลผลิตได้สูงกว่าราคาตลาดและซื้อน้ำมันบริโภคได้ราคาต่ำกว่าราคาตลาด ในสภาพที่ตลาดไม่ทำงานอย่างสมบูรณ์
ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ ปัญหานี้คงยืดเยื้อต่อไปไม่รู้จบ และนโยบายของรัฐที่ต้องการทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยเข้าสู่ยุค 4.0 คงห่างไกลจากความเป็นไปได้ เพราะถ้าประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงจากน้ำมันปาล์ม แต่จะเป็นแค่ประเทศผู้ผลิตและผู้ค้าสินค้าโภคภัณฑ์รายเล็กที่พยายามปกป้องผู้ผลิตสินค้าและผู้บริโภค โดยไม่เน้นการแก้ไขที่ต้นเหตุคือการพัฒนาผลผลิตและการพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมปลายน้ำที่สร้างรายได้สูงกว่าการค้าน้ำมันปาล์มในรูปสินค้าโภคภัณฑ์
ผมเข้าใจว่ารัฐมีแผนยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มระหว่างปี 2558-2569 ที่จะขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มเป็นพลังงานทดแทน และที่สำคัญคือการเพิ่มผลผลิตต่อไร่และเพิ่มอัตราน้ำมันจาก 3.20 ตันต่อไร่ เป็น 3.5 ตันต่อไร่ และจากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 20 ตามลำดับ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนาการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อสร้างอุตสาหกรรมออริโอเคมีคอลในการผลิตกรดไขมันที่จะใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภค เช่น สบู่ เครื่องสำอาง และยา รวมทั้งการใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมการผลิต สี สิ่งทอ ผงซักฟอก หล่อลื่นเครื่องยนต์ และการผลิตกลีเซอรอล เป็นต้น
ผมคิดว่าเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่ดี และถ้าทำได้จริงจะแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและการไร้เสถียรภาพด้านราคาของผลปาล์มสด น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มที่พร้อมบริโภค โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องเข้าไปแทรกแซง เพราะถ้าเกิดอุตสาหกรรมปลายน้ำประเภทออริโอเคมีคอลขนาดใหญ่ขึ้นจริงเหมือนในประเทศมาเลเซีย ชาวสวนปาล์มก็น่าจะขายผลปาล์มราคาสูงขึ้นได้ เพราะโรงงานผู้ผลิตสินค้าปลายน้ำสามารถซื้อน้ำมันจากโรงกลั่นในราคาที่สูงกว่าการขายเข้าโรงงานอุตสาหกรรมอาหารตามปกติ ทำให้สามารถขยายพื้นที่การปลูกให้เป็นไปตามเป้าหมาย และสามารถลงทุนปรับปรุงให้ผลผลิตและอัตราน้ำมันสูงขึ้นตามแผน ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐเข้ามาใช้มาตรการด้านราคารับซื้อผลปาล์มในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด
ส่วนผู้บริโภคน่าจะได้รับผลดีคือการได้บริโภคน้ำมันปาล์มในราคาที่เหมาะสมเพราะถ้าการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มบรรลุผลตามแผนยุทธศาสตร์ รัฐคงไม่จำเป็นต้องควบคุมการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศอีกต่อไป
แต่ในภาคปฏิบัตินั้น อยู่ที่ว่ารัฐจะดำเนินการอย่างไร เพื่อเปิดให้ธุรกิจการค้าน้ำมันปาล์มเป็นธุรกิจที่เปิดเสรีให้มีการนำเข้าเพื่อการผลิต การบริโภค และการส่งออก ตามกลไกตลาด เพราะตราบใดที่ผู้ประกอบการหรือนักลงทุนยังขาดความเชื่อมั่นว่า เมื่อเปิดดำเนินการแล้วจะสามารถจัดหาวัตถุดิบเข้าป้อนโรงงานได้เพียงพอและมีเสถียรภาพ ในราคาที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศได้ คงไม่มีใครเสี่ยงที่จะเข้ามาลงทุน ไม่ว่ารัฐจะให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีหรือสิทธิประโยชน์อย่างอื่นเพียงใด เพราะการขาดวัตถุดิบ หรือการต้องแบกรับต้นทุนวัตถุดิบที่สูงกว่าราคาตลาดที่คู่แข่งรับอยู่ หมายถึงการปิดโรงงานเพราะขาดวัตถุดิบหรือขาดทุนเพราะต้นทุนการผลิตสูงกว่าคู่แข่ง
ผมเชื่อว่ารัฐและผู้ประกอบการทั่วไปทราบปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศไทยดี คงขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเมืองว่ารัฐต้องการจะผลักดันอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวหน้าทั้งระบบ โดยการเปิดเสรีการค้าการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันปาล์มหรือไม่และเมื่อไร และจะทำอย่างไรให้เกษตรกรและผู้บริโภคยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของชาติโดยรวม
อย่างไรก็ตาม ขอเอาใจช่วยทุกฝ่ายให้ช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าโดยเร็ว ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมเสียทีโดยเร็วครับ...ไม่งั้นคนที่ได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบน้ำมันปาล์มเข้าประเทศจะยิ่งร่ำรวยขึ้นทุกวัน
ได้เวลาเลิกคุมกำเนิดแล้วครับ