top of page

KBANK คาดบาทอ่อนสิ้นปี 36.50...หุ้นกู้หด 25% หลังมีเหตุเบี้ยวหนี้


กสิกรไทยมองปี 60 ความท้าทายสูงจากความเสี่ยงด้านการเมืองของสหรัฐ ส่งผลเงินบาทอ่อนค่าสิ้นปีอยู่ที่ 36.50 บาท/ดอลลาร์ ด้านการออกออกหุ้นกู้ของเอกชนในปีนี้คาดอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท ลด 20-25% หลังเกิดเหตุการณ์เบี้ยวจ่ายหนี้คืน ขณะที่บริษัทน้ำดียังออกหุ้นกู้ได้ในต้นทุนต่ำ ส่วนจีดีพีคาดโต 3.3% ใกล้เคียงปีก่อน

นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เปิดเผยว่า ปี 2560 จะเป็นปีที่ตลาดเงินตลาดทุนมีความท้าทายสูงอีกปีหนึ่ง โดยเฉพาะปัจจัยความเสี่ยงทางด้านการเมืองของสหรัฐ โดยเฉพาะนโยบายชาตินิยมหรือ “America First” ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสร้างความกังวลต่อนักลงทุนทั่วโลก เช่น นโยบายห้ามประชากรจากประเทศอาหรับเข้าสหรัฐ การกีดกันการค้ามากขึ้น นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 45% ซึ่งจะส่งผลเชิงลบต่อการค้าโลก สำหรับประเทศไทยหากสหรัฐ นำเข้าลดลง 1% อาจส่งผลให้การส่งออกของไทยลดลง 0.9%

สำหรับภาพรวมตลาดทุน คาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินโดยรวม ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดทุนมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ระดับ 36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดต่อเนื่องในปีนี้ ทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐ แคบลงจึงลดการถือครองเงินบาท และการที่สหรัฐ ประกาศที่จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการลดภาษีจึงต้องกู้ยืมเงินจำนวนมาก ส่งผลให้ขาดดุลการคลังและต้นทุนการเงินจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจไทยสูงขึ้นเช่นกันจากอัตราดอกเบี้ยที่มีโอกาสที่จะปรับขึ้น ดังนั้น ภาคธุรกิจควรจะเตรียมตัวรับมือไว้

ทางด้านธุรกิจอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2559 ที่ผ่านมาผู้ส่งออกมีการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากความผันผวนในตลาดที่สูงและค่าเงินบาทเปลี่ยนทิศทางแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ตั้งแต่ช่วงกลางปี โดยสกุลเงินหลักที่ลูกค้าใช้ในการทำธุรกรรมกับต่างประเทศยังคงเป็นกลุ่มสกุลเงินเดิม คือ ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร และเยน ขณะที่การค้าในภูมิภาคมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ส่งผลให้การซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินในกลุ่มประเทศ AEC ได้แก่ มาเลเซียริงกิต และอินโดนีเซียรูเปียห์ ปรับเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งธนาคารกสิกรไทยได้ขยายการให้บริการครอบคลุมการให้คำปรึกษาการรายงานทางการเงินการบริหารความเสี่ยง ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่ดีมาก ทำให้ธุรกรรมอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำเพื่อรองรับธุรกรรมการลงทุนและการกู้ยืมเติบโตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ธนาคารจะพัฒนาการให้บริการส่วนนี้ให้เข้าถึงลูกค้าได้มากยิ่งๆ ขึ้นไปในปีนี้

ด้านธุรกิจตลาดตราสารหนี้ ปีที่แล้วมีมูลค่ารวม 7.85 แสนล้านบาท โดยธนาคารกสิกรไทยยังคงเป็นผู้นำในธุรกิจ มีส่วนแบ่งทางการตลาด 12.3% สำหรับการค้าตราสารหนี้ภาครัฐ และ 17.2% สำหรับการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดแรก (ไม่รวมการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ของธนาคาร) โดยปริมาณตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดแรกที่ธนาคารจัดจำหน่ายในปี 2559 เพิ่มขึ้น 56% จากปี 2558 ในขณะที่ตลาดโดยรวมขยายตัวเพียง 36% โดยการขยายตัวของตลาดในอัตราสูงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการระดมทุนของภาคเอกชนเพื่อการซื้อกิจการและสภาพตลาดที่ดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้บริษัทออกมาระดมทุนเพื่อการรีไฟแนนซ์หรือเพื่อการขยายกิจการที่ทำได้ในต้นทุนที่ต่ำลง สิ่งที่น่าสังเกตในปี 2559 แม้ว่าตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ “A” ยังคงมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของตลาด แต่ตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว

นายธิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มในปี 2560 ปริมาณหุ้นกู้ภาคเอกชนในตลาดแรกอาจชะลอลงจากปี 2559 โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 6 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 2559 ประมาณ 20-25% เนื่องจากการออกตั๋วเงินและตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากกรณีเหตุการณ์การผิดนัดชำระหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ สำหรับผู้ออกตราสารหนี้ที่มีคุณภาพจะยังคงสามารถระดมทุนตลาดตลาดได้ในต้นทุนที่ต่ำอยู่ โดยในปี 2560 ธนาคารคาดว่าบริษัทในกลุ่มธุรกิจโครงการสาธารณูปโภค พลังงานไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ จะยังคงระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ในจำนวนมาก และธนาคารกสิกรไทยจะยังคงความเป็นผู้นำในธุรกิจนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจประเทศไทย ในปี 2560 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 3.3% ใกล้เคียงกับปี 2559 มูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยอยู่ที่ 0.8% ภาระหนี้ครัวเรือนจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 82% ของจีดีพี การท่องเที่ยวจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทย เงินเฟ้อคาดว่าจะเห็นการปรับรีบาวด์สูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.8% ดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ที่ระดับ 1.50% ตลอดทั้งปีเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวที่ยังเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่มาจากพฤติกรรมการหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (“Search for yields”)

0 views
bottom of page