บริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแบรนด์อเมริกันไม่สนใจคำขู่ของทรัมป์ ยังมุ่งลงทุนในจีน เชื่อว่าทรัมป์ไม่กล้าขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน 45% แน่
แม้ Foxconn บริษัทผลิตชิปไต้หวัน ผู้ผลิตกว่า 90% ของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในตัวเครื่องสมาร์ทโฟน iPhone, iPod และ iPad ของ Apple Inc. จะประกาศตั้งโรงงานผลิตชิปและชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใช้ในคอมพิวเตอร์ และสมาร์ทโฟนทุกรูปแบบ ทุกขนาดในสหรัฐ สนองนโยบาย Made in America ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
แต่ขนาดของโรงงานที่จะตั้งในอเมริกานั้นเล็กมากเมื่อเทียบกับโรงงานของ Foxconn ในเมืองเฉิงโจวที่เป็นเสมือนเมืองย่อมๆ มีทั้งโรงงาน อพาร์ตเมนต์สำหรับคนงานและพลาซ่าขนาดย่อม จึงถือเป็นการโอนอ่อนผ่อนตามแบบเสียมิได้ เช่นเดียวกับ Intel ที่จะตั้งโรงงานในอเมริกาเป็นโรงงานชิปขนาดย่อม
แต่ที่สวนนโยบายทรัมป์อย่างไม่แยแสกับคำขู่ว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากจีนจาก 5.00% เป็น12-45% แม้จะเป็นแบรนด์อเมริกันที่ไปเอาท์ซอร์สที่จีนก็ตาม นั่นก็คือ IBM และ AMD
AMD นั้น ร่วมทุนกับบริษัทผลิตชิปและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของจีน ขณะที่ IBM ขายสิทธิบัตรในการผลิตชิปแก่บริษัทจีนหลายบริษัท
ล่าสุดเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา Global Foundries ยักษ์ใหญ่ชิปอเมริกัน ประกาศลงทุนในจีนมูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้
Global Foundries เป็นผู้ผลิตแผงวงจรกึ่งตัวนำไฟฟ้า (semiconductor) ป้อนบริษัทแม่ Advanced Micro Devices (AMD) โดยปี 2015 ได้ซื้อบริษัท IBM Microelectronics ซึ่งเป็นบริษัทลูกของยักษ์สีฟ้า IBM
นับเป็นบริษัทเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลกรายหนึ่ง
ทำไมบริษัทชิปของอเมริกันเหล่านี้และยังมีอีกหลายรายที่สวนทางกับนโยบาย “ผลิตในอเมริกา” ของทรัมป์?
เหตุผลก็คือ จีนกลายเป็นดินแดนที่มีศักยภาพและมาตรฐานการผลิตชิปที่สูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่งในขณะนี้
ทั้งนี้ ด้วยการทุ่มทุนของรัฐบาลจีน 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนการค้นคว้า วิจัยด้านชิปโดยเฉพาะ เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2013
เป้าหมายของจีนคือลดช่องว่างระหว่างจีนกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในด้านเทคโนโลยีที่จีนกำลังตามหลังอยู่ให้เป็นศูนย์ ในปี 2025
แม้ซิลิคอนวัลลีย์ของสหรัฐจะยังครองอันดับ 1 ในเทคโนโลยีชั้นสูงของโลก แต่การแข่งขันจากโลกตะวันออกไกล ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของสหรัฐต้องจ้างวิศวกรคอมพิวเตอร์และวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์มือดีจากต่างชาติมาเป็นพนักงาน เนื่องจากค่าจ้างถูกกว่าแรงงานอเมริกัน
ตอนนี้บรรดาลูกจ้างต่างด้าวเหล่านั้นกำลังเดือดร้อนเมื่อทรัมป์ดำเนินนโยบายคลั่งชาติ America First ที่แอนตี้แรงงานต่างชาติ หันมาสนับสนุนแรงงานอเมริกัน โดยการประกาศห้ามชาวมุสลิมจาก 7 ประเทศเข้าสหรัฐ
แม้จะขู่และปลอบด้วยการลดหย่อนภาษีให้แก่บริษัทที่ถอนตัวจากฐานผลิตในต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน แต่เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างอัตราค่าจ้างแรงงานในสหรัฐกับจีน หรือแม้แต่อินโดนีเซียและไทย รวมถึงค่าขนส่งสินค้าผลิตเสร็จไปยังสหรัฐ และภาษีขาเข้าแล้ว บริษัทอเมริกันเห็นว่า การผลิตแบบเอาท์ซอร์สในชาติเอเชียยังถูกกว่าที่ผลิตในสหรัฐ
ที่สำคัญที่สุด มาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้าเทคโนโลยีชั้นสูงจากจีนเหนือกว่าที่ผลิตในสหรัฐ จากการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านนี้อย่างจริงจังใช้เงินกว่าแสนล้านดอลลาร์..ความสามารถในงานฝีมือและทักษะของคนเอเชียมีเหนือกว่าชาติตะวันตกในหลายด้าน
บ้านเรานั้น รถยนต์กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้สูงสุดในบรรดาสินค้าส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้ เพราะรถยนต์ที่ผลิตในไทยมีคุณภาพสูงกว่าทุกแห่ง แม้แต่ในบ้านเกิดของแบรนด์นั้นๆ
มีการประกวดคุณภาพของเบนซ์และวอลโว่ที่ผลิตจากโรงงานทั่วโลก พบว่าเบนซ์ที่ผลิตที่โรงงานธนบุรีพาณิชย์ และวอลโว่ที่ผลิตจากโรงงานสวีเดนมอเตอร์ส ประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ ชนะแม้แต่เบนซ์เยอรมันและวอลโว่สวีเดน
เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการผลิตนั้น ลดต้นทุนแรงงานและผลงานมาตรฐานได้ก็จริง แต่คุณภาพเป็นรองการผลิตด้วยฝีมือแรงงาน
จีนอาศัยความได้เปรียบด้านนี้ ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีตะวันตกเข้ามาตั้งฐานผลิตในจีน โดยมีช่างฝีมือชั้นสูงและค่าแรงถูกเป็นตัวได้เปรียบ..ขณะนี้นครเฉิงตูกลายเป็นซิลิคอนวัลลีย์ของจีนไปแล้ว
Global Foundries ที่จะมาลงทุนสร้างฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์ ก็จะมาอยู่ที่เฉิงตูนี้ โดยมีการลงนามในสัญญาระหว่างนครเฉิงตูกับ Global Foundries ไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้
นอกจากผลิตภัณฑ์หลักแผงวงจรไฟฟ้าแล้ว Global Foundries ยังจะผลิตไมโครชิปต่างๆ เมมโมรี่ชิป และจอภาพแบน
อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าของจีนในด้านวิจัยพัฒนาไมโครชิปเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลสหรัฐไหวตัว เกิดความกังวลว่า ไมโครชิปที่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ในสมาร์ทโฟน ไปยันขีปนาวุธทุกวิถี จะกลายเป็นตัวสอดแนม ล้วงความลับในด้านอาวุธที่ควบคุมและสั่งการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ของสหรัฐได้
จนถึงกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้เตือนให้เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของรัฐศึกษาและตรวจสอบไมโครชิปจากจีนที่นำมาใช้กับเครื่องใช้และอุปกรณ์ ด้านคอมพิวเตอร์ในกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะ
ขณะเดียวกันก็เตือนบรรดาบริษัทอเมริกันที่ไปตั้งฐานผลิตในจีนว่า การถ่ายทอดเทคโนโลยีและโนว์ฮาวในการผลิตชิปแก่บรรดาวิศวกรจีนที่บริษัทจ้างมาเป็นพนักงานผลิตนั้น อาจทำให้วิศวกรเหล่านั้น นำโนว์ฮาวดังกล่าวไปวิจัยต่อยอด..จะกลายเป็นทั้งคู่แข่งและเป็นทั้งตัวสอดแนมล้วงความลับ
แต่วันนี้บริษัทชิปอเมริกันที่ไปตั้งฐานผลิตหรือจ้างบริษัทจีนผลิตยังไม่พบประเด็นล่อแหลมต่อความมั่นคงของประเทศแม่ เพราะเป็นชิปที่ผลิตเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ด้านการสื่อสารที่มิได้มุ่งใช้ในหน่วยงานรัฐ และมิใช่ป้อนให้กับบริษัทอเมริกันเท่านั้น หากแต่ส่งให้ทุกบริษัททั่วโลก
ตอนนี้ จึงต้องเอาของดี ราคาถูกไว้ก่อน