เก็บภาษี “ทักษิณ” 1.6 หมื่นล้าน...6 นายกฯ 5 อธิบดี - ถังแตกหรือทำตามเสียงเชียร์?
- กระแสวิพากษ์
- Mar 17, 2017
- 1 min read

รัฐถังแตก หรือ ทำตามกองเชียร์ สำหรับการเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี โยมหินถามทางกับสังคมว่าจะขอขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวตอีก 1% จาก 7 เป็น 8% เพื่อจะทำให้ประเทศมีเงินเพิ่มขึ้นอีก 1 แสนล้านบาท
ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ล้วนส่งผลลบต่อรัฐบาลทั้งสิ้น ชี้ให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของประเทศว่ากำลังแย่ลงตามลำดับ ไม่ต้องพูดถึงบรรยากาศการใช้จ่ายของประชาชนที่เงียบเหงา
การเรียกเก็บภาษีจากหุ้นชินคอร์ป จึงถูกมองว่าต้องการนำเงินของทักษิณไปอุดรูรั่วทางเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะการเก็บภาษีหุ้นจากทักษิณ กรณีขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้กับกลุ่มเทมาเสคเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2549 ซึ่งจนถึงวันนี้ยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี และมีแนวโน้มว่าไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ แต่ทำไมเพิ่งมาเร่งทำตอนนี้
ขณะที่กรมสรรพากรเองก็ดูอึดอัดต่อกรณีดังกล่าว และแจงว่าคดีภาษีหุ้นชินคอร์ปสิ้นสุดอายุความไปแล้วตั้งแต่ 31 มี.ค.2555 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน พร้อมกับยอมรับว่าไม่มีกฎหมายใดสามารถเรียกเก็บได้อีก ส่วนข้อเสนอขยายอายุการประเมินภาษีตามมาตรา 3 อัฎฐ แห่งประมวลรัษฎากร ทำได้เฉพาะกรณีเอื้ออำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี ไม่ใช่เป็นการลงโทษ
ที่สำคัญ ตามประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรระบุไว้ว่า อายุความในกรณียื่นภาษีไม่ถูกต้อง คือ 5 ปี แต่กรณีผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบนั้นมีอายุความ 10 ปี สำหรับกรณีภาษีหุ้นชินคอร์ปนั้น พานทองแท้ และ พิณทองทา ชินวัตร ได้ยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2550 แล้ว ดังนั้น อายุความในกรณีนี้จึงอยู่ที่ 5 ปี และหมดอายุความไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2555
ว่ากันว่า ที่ผ่านมา ศาลภาษีอากรกลางได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีในคดีหุ้นชินคอร์ปต่อ พานทองแท้ และ พิณทองทา ชินวัตร ซึ่งหลังจากศาลภาษีอากรกลางพิพากษาแล้วกรมสรรพากรในขณะนั้นไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ และเสนอให้ รมว.คลัง ในสมัยนั้น และอัยการสูงสุด ลงนามในการไม่อุทธรณ์ดังกล่าว
แล้วทำไม จู่ๆ จึงมาโผล่จะเรียบเก็บภาษีหุ้นชินฯในยุค คสช. โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือแจ้งเตือนกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปฯให้เรียบร้อยก่อนคดีจะขาดอายุความในวันที่ 31 มี.ค. 2560
จากหนังสือดังกล่าวนี้เอง ทำให้เกิดประเด็นขึ้นมาว่า ในที่สุดแล้ว กรมสรรพากรจะเรียกเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปได้หรือไม่ เพราะตามกฎหมาย อายุความหมดไปแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค.2555 แต่ สตง.มองว่าเรื่องอายุความจะหมดหรือไม่นั้น ขึ้นกับรมว.คลัง ซึ่งสามารถ “ขยายเวลาออกหมายเรียก”ให้มาเสียภาษี
แต่ก็เกิดประเด็นกฎหมายขึ้นมาว่า รมว.คลังจะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ เพราะกรมสรรพากรเองยังระบุว่าไม่มีกฎหมายใดสามารถเรียกเก็บได้อีกเพราะคดีหมดอายุความไปแล้ว รวมทั้งการขยายอายุการประเมินภาษี ตามมาตรา 3 อัฎฐ แห่งประมวลรัษฎากรนั้น ทำไม่ได้ เพราะตามกฎหมายจะทำได้ต่อเมื่อเป็นการเอื้ออำนวยความสะดวกให้ผู้เสียภาษี “ไม่ใช่เป็นการลงโทษ”
การต่างตีความวนเวียนอยู่อย่างนี้ ทำให้มองกันว่าเป็นเรื่องเกมการเมืองที่ตั้งใจจะเล่นงานทักษิณ เพราะกระดานทางการเมืองของคสช.และรัฐบาล เริ่มหมดตาเดินแล้ว ทั้งกรณีวัดพระธรรมกาย ที่มาตรา 44 สิ้นมนต์ขลังไล่คว้าเงาธัมมชโย การปรองดองที่ยากปรองดอง ฯลฯ แถมคนของ คสช.เอง ยังสร้างเรื่องให้สังคมคลางแคลงใจ ทั้งการใช้งบประมาณมหาศาลซื้อเรือดำน้ำ การอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมให้ สปท.เกือบ 300 ล้านบาท เพื่อต่ออายุไปจนถึงเดือน ก.ย.2560 การโดดประชุม สนช.-สปท.ที่มีพฤติกรรมไม่ต่างจากนักการเมืองที่ คสช.ก่นด่า การใช้งบประมาณไปดูงานต่างประเทศโดยไม่สนใจคำสั่ง คสช. เป็นต้น
เพราะฉะนั้น การจะรักษาเกมของตัวเอง จะมีอะไรดีไปกว่าชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ที่หยิบมาเมื่อไหร่ก็เรียกเสียงเชียร์จากบรรดากองเชียร์ให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ทำไปทำมาการเก็บภาษีหุ้นชินฯจากทักษิณ กลายเป็นประเด็นความขัดแย้งของหน่วยงานรัฐ 2 หน่วย คือสรรพากรกับสตง.ที่ทำท่าจะซัดกันเอง.แถมมีท่าทีจากรัฐบาลว่าจะมีการใช้ท่าไม้ตาย โดยในที่ประชุม ครม.วันที่ 14 มี.ค.2560 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ใช้คำว่า “เรื่องการเก็บภาษีหุ้นชินฯ ทำได้ด้วยอภินิหารของกฎหมาย“
ก็ไม่รู้ว่าอภินิหารของกฎหมายคืออะไร จะใช่มาตรา 44 อีกหรือไม่ และหากผลออกมาว่าไม่อาจเก็บภาษีได้แล้ว ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อจากนี้ไปคือใครจะรับผิดชอบต่อกรณีนี้ จะใช่ 6 นายกฯ กับอีก 5 อธิบดี ในแต่ละยุคที่ผ่านมาหรือไม่
สังคมกำลังรอคำตอบ
Image Attribution: By Kremlin.ru, CC BY 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=5257031
コメント