แนวทางแก้ไขปัญหา Nominee คือจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนและรัดกุม เพื่อไม่ให้คนต่างด้าวใช้คนไทยถือหุ้นส่วนใหญ่แทนแต่สามารถควบคุมอำนาจการบริหารจัดการไว้ ทั้งๆ ที่ถือหุ้นไม่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งสามารถจะทำได้ โดยกำหนดนิยามคำว่าบุคคลสัญชาติไทยใหม่ให้รัดกุมขึ้นกว่าการกำหนดจากสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวว่าคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศ 28 ราย ลดลง 12% เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมี.ค. 2559 โดยมีเงินลงทุน 580 ล้านบาท ลดลง 30% และเมื่อเปรียบเทียบรายไตรมาส คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจลดลง 27.37% และเงินลงทุนลดลง 33.25%
จากสถิติดังกล่าวจึงมีการตีความว่าการลงทุนของนักลงทุนต่างด้าวลดลงค่อนข้างมากจะเป็นด้วยสาเหตุประการใดก็แล้วแต่จะคาดเดากันไป
แต่ความจริงแล้ว การออกใบอนุญาตของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวนั้นจำกัดขอบเขตอยู่แค่การพิจารณาอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจที่สงวนไว้สำหรับคนไทยด้วยเหตุผลพิเศษด้านความมั่นคง การปกป้องศิลปวัฒนธรรมของชาติ และการคุ้มครองให้คนไทยสามารถประกอบธุรกิจที่ยังไม่พร้อมจะแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการพิจารณาส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นพันธกิจของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ
กฎหมายที่จำกัดสิทธิในการประกอบธุรกิจบางประเภทของคนต่างด้าวนั้น ได้แก่ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งออกมาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการควบคุมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยอนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้เหมือนคนไทย ยกเว้นธุรกิจที่อยู่ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ ซึ่งมี 3 ประเภทด้วยกัน คือบัญชีที่ 1 กำหนดประเภทของธุรกิจที่กฎหมายห้ามเด็ดขาดไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจ เช่น ทำนา ทำไร่ บัญชีที่ 2 ประกอบด้วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติที่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีต ประเพณี และหัตถกรรมพื้นบ้าน มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งถ้าคนต่างด้าวมีความประสงค์จะเข้ามาประกอบธุรกิจ จะต้องได้รับอนุญาตจากรมว.พาณิชย์ โดยมติอนุมัติของคณะรัฐมนตรีก่อน
ส่วนบัญชีสุดท้ายคือ บัญชีที่ 3 คือธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับคนต่างด้าว ซึ่งคนต่างด้าวที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจในบัญชีนี้จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเสียก่อน
การออกใบอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จึงไม่ใช่เครื่องมือที่ควรใช้เพื่อส่งเสริมการลงทุนเหมือนการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ แต่ควรออกใบอนุญาตให้เฉพาะในกรณีที่มีเหตุผลสมควรจริงๆ ที่จะอนุญาตเท่านั้น เพราะถ้ายกเว้นธุรกิจในบัญชีทั้งธุรกิจในบัญชีทั้ง 3 แล้ว คนต่างด้าวสามารถเข้ามาประกอบอาชีพอะไรก็ได้ในประเทศไทยเยี่ยงคนไทยอยู่แล้ว
การออกใบอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทยลดลง จึงอาจหมายความว่าคนไทยยังไม่มีความพร้อมที่จะแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งควรรีบแก้ไขปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย แทนที่จะใช้กฎหมายคุ้มครองความ “ไม่พร้อม” ที่จะแข่งขันต่อไปโดยไม่มีกำหนด ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนต่างชาติ “วูบ” ลงเหมือนที่สื่อมวลชนระบุ ซึ่งควรวัดจากตัวเลขการส่งเสริมของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
แต่สาเหตุที่มีการนำ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวมาผูกกับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยนั้น เพราะมีนักลงทุนต่างชาติที่ไม่สุจริต ร่วมมือกับคนไทยบางคนจัดตั้งนิติบุคคลสัญชาติไทย โดยให้คนไทยที่เป็นนอมินีถือหุ้นเกินร้อยละ 50 แทนคนต่างด้าว เพื่อเข้ามาประกอบธุรกิจที่สงวนไว้สำหรับคนไทย โดยเฉพาะธุรกิจในบัญชีที่ 1 ที่ไม่สามารถขออนุญาตได้ เพราะเป็นการสงวนด้วยเหตุผลพิเศษไม่ให้คนต่างด้าวเข้ามาประกอบธุรกิจ เช่น การทำนาทำไร่ หรือการถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เป็นต้น อย่างที่เคยมีข่าวว่าจะให้คนต่างด้าวเข้ามาทำนาขนาดใหญ่ในประเทศไทย เพื่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศของเขา เป็นต้น
แนวทางแก้ไขปัญหานอมินีคือจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนและรัดกุม เพื่อไม่ให้คนต่างด้าวใช้คนไทยถือหุ้นส่วนใหญ่แทนแต่สามารถควบคุมอำนาจการบริหารจัดการไว้ ทั้งๆ ที่ถือหุ้นไม่ถึงร้อยละ 50 ซึ่งสามารถจะทำได้ โดยกำหนดนิยามคำว่าบุคคลสัญชาติไทยใหม่ให้รัดกุมขึ้นกว่าการกำหนดจากสัดส่วนการถือหุ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ความพยายามแก้ไขปัญหานอมินีไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาลที่นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจสงวนผ่านระบบนอมินี จนเป็นที่ทราบกันว่านักลงทุนต่างชาติเป็นเจ้าของโรงแรม อาคารสูงในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวใหญ่ๆ มากมายหลายแห่ง
วิธีการที่ถูกนำมาอ้างเมื่อจะมีการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้คือ การโยงว่าการแก้ไขกฎหมายจะกระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งอย่างที่ได้ระบุไว้แล้วว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ใช่พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน แต่เป็นพ.ร.บ.ที่ออกมาเพื่อจำกัดสิทธิของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาประกอบธุรกิจที่สงวนไว้สำหรับคนไทย ถ้ามีจุดอ่อนให้มีการหลีกเลี่ยงกฎหมายเข้ามาประกันธุรกิจที่กฎหมายสงวนก็ควรปิดจุดอ่อนนั้นเสีย
ความจริงแล้วปัจจุบันคนไทย หรือธุรกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นกว่าในอดีต และธุรกิจบางอย่างต้องอาศัยเทคโนโลยีและโนว์ฮาวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่มีความหลากหลาย ภาครัฐจึงควรลดประเภทธุรกิจสงวนทั้ง 3 บัญชีให้เหลือน้อยที่สุด โดยเฉพาะธุรกิจในบัญชีที่ 3 คงเหลือไว้เฉพาะธุรกิจที่จำเป็นเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของคนไทยและประเทศไทยจริงๆ เท่านั้น
หรือถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นอุปสรรคในการลงทุนและไม่มีความจำเป็นที่จะสงวนธุรกิจประเภทใด เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติและผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยากจน เช่น ชาวนา ชาวไร่ แล้ว การให้คนต่างด้าวถือครองที่ดิน ทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้น และเขายกที่ดินออกจากประเทศไทยไม่ได้อย่างที่บางคนอ้าง เพื่อให้คนต่างด้าวมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินได้ ก็ควรยกเลิกกฎหมายฉบับนี้เสีย แต่ถ้ายังมีความจำเป็นที่จะต้องสงวนธุรกิจบางประเภทไว้ก็ควรปรับปรุงแก้ไขไม่ให้คนต่างด้าวหลีกเลี่ยงกฎหมายไทยเข้าประกอบธุรกิจสงวนโดยใช้คนไทยเป็นนอมินี
ความจริงเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดถึงเจตนารมณ์ในการออกพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่ทำให้ผู้คนเข้าใจว่าเป็นกฎหมายส่งเสริมการประกันธุรกิจ จึงควรเปลี่ยนชื่อใหม่ให้ถูกต้องชัดเจนว่าเป็นพ.ร.บ.ห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจสงวนบางประเภท ดีกว่าไหมครับ