ผู้เลี้ยง “หมู” ไทยเริ่มลืมตาอ้างปากได้ หลังรำศึกหนักมาเกือบ 1 ปี ได้อานิสงส์จากกอดคอร่วมมือกันแข็งขันไม่แตกแถว สบโอกาสจีนไม่พอใจเวียดนาม หันมาซื้อหมูไทยเพิ่ม ทำคนเลี้ยงหมูเวียดนามศึกหนักเจอผลผลิตล้นตลาด ผวาลักลอบขายในเมืองไทย
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวผ่านรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึง หมูประเทศเวียดนามขณะนี้เจอปัญหาล้นตลาดว่า ต้องดูพื้นฐานราคาเนื้อหมูของเวียดนามกับราคาหมูในไทยมีความแตกต่างกัน ที่ผ่านมาเราพยายามประคับประคองราคาขายให้อยู่กันได้ เหตุที่ราคาขายหมูในไทยขยับขึ้นมาเล็กน้อยในช่วงนี้ เพราะช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีที่แล้ว ผู้เลี้ยงเจอโรคระบาดในหมูบางส่วน จึงทำให้รอบการผลิตหมดไปรอบหนึ่ง ส่งผลให้หมูขาดไปบ้าง จึงมีผลให้ราคาขายขยับขึ้นเล็กน้อย
“เวียดนามจะมีหมูมากกว่าไทยประมาณ 3 เท่าตัว และมีการบริโภคหมูประมาณ 40 ล้านตัว ส่วนไทยมีการบริโภคหมูประมาณ 15 ล้านตัว การบริโภคหมู 40 ล้านตัวของเวียดนามนั้น จะส่งไปที่จีนวันละ 1.5 หมื่นตัว คือส่งไปแบบเป็นๆ และหากมองย้อนกลับไปก่อนการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาก่อนที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดี เดิมเป็นนโยบายของ บารัก โอบามา จะเปิด TPP กับทางอาเซียน โดยที่เวียดนามรีบชิงเปิดก่อน และทางสหรัฐอเมริกาก็ส่งชิ้นส่วนหมูที่ไม่ได้ใช้ เช่น ขาหมู เครื่องใน หัวหมู ทะลักเข้ามาเวียดนามเต็มไปหมด ทำให้ราคาหมูเวียดนามตกลง ในขณะเดียวกันเรื่องการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่มีความขัดแย้งค่อนข้างสูง จีนเลยแอนตี้หยุดนำเข้าหมูจากเวียดนาม เป็นผลให้ราคาหมูเป็นเวียดนามเหลือ 0.8 เหรียญ ขณะที่ตอนนี้ราคาได้ขยับมาเล็กน้อยมาเป็น 1 เหรียญ/กิโล” นายสุรชัยกล่าว
“ความกังวลหมูเวียดนามจะเข้ามาในไทย จากที่สังเกตการณ์มองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ จากด่านทุกด่านรอบชายแดนทั้งหมด จากที่ประสานกับทางผู้บริหารทุกกรมว่าอย่าให้หมูจากเวียดนามเล็ดลอดมาเด็ดขาด ในบางครั้งเราได้ยินมาว่ามันอาจจะเล็ดลอดมาแบบฉีดยาสลบ แต่ก็ไม่เคยเจอแบบนี้ ขอชมเชยกรมปศุสัตว์และนายด่านที่มีการเอาจริงเอาจังเรื่องนี้อย่างมาก”
สำหรับภาพรวมการเลี้ยงหมูในไทยนั้น นายสุรชัยเปิดเผยว่า ปัจจุบันถือว่าโอเวอร์ซัพพลายมีหมูเกินความต้องการประมาณ 5% มาโดยตลอด ซึ่งได้มีความพยายามที่จะผลักดันบางชิ้นส่วน โดยเฉพาะฟาร์มใหญ่ไม่ว่าจะเป็นซีพี หรือไทยฟู้ดส์ ทางสมาคมฯได้ขอความร่วมมือ โดยขอส่วนหนึ่งส่งไปทางจีนตอนใต้ ดังนั้น ถ้ามีหมูส่งมาจากเวียดนามก็น่าจะทำให้เกิดปัญหาที่ผ่านมานโยบายของไทย ไม่มีการนำเข้าหมูจากเวียดนาม ขณะเดียวกัน จากที่มีการนำเข้าพวกเครื่องในหมูก็พยายามระงับไม่ให้นำเข้ามากไปกว่านี้ และทางสมาคมฯก็พร้อมให้สมาชิกอยู่กันได้ ขณะนี้ก็ได้เฝ้าระวังในเรื่องหมูจากเวียดนามเป็นอย่างมาก
“เรื่องของเทคโนโลยีและเรื่องของคุณภาพการเลี้ยงของไทยเป็นที่ 1 ในอาเซียน มีการเลี้ยงที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งเมื่อการเลี้ยงดีจะส่งผลถึงคุณภาพของเนื้อหมู โดยราคาเนื้อหมูของเวียดนามจะอยู่ที่ 55 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน 35 บาทต่อกิโลกรัม จะเป็นหมูเป็น และถ้าเป็นราคาหมูเป็นสำหรับผู้เลี้ยงในไทยนั้น แต่ละภาคจะไม่เท่ากัน คือราคาจะอยู่ในเกณฑ์ 65-68 บาทต่อกิโลกรัม ราคาดังกล่าว ถือว่าเหมาะสม ผู้เลี้ยงมีกำไรประมาณ 10% ผู้เลี้ยงไม่จำเป็นต้องกู้เงินธนาคารแล้วเพราะอยู่กันได้ มองว่าปัญหาในเวียดนามจะไม่หนักและยาว เนื่องจากเป็นปัญหาเรื่องเทคโนโลยี เพราะส่วนใหญ่ 70% มาจากหมูหลังบ้านทั้งประเทศ กลุ่มผู้เลี้ยงเหล่านี้จะหมดกำลังใจกันในเรื่องทำวัคซีน เขาขาดการดูแล ทำให้ขายหมูตัวหนึ่งยังไม่ได้ค่าอาหารเลย”
สำหรับไทยหากจะฉวยโอกาสนี้ส่งหมูไปจีนแทนเวียดนามนั้น นายสุรชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีการส่งหมูไปจีนอยู่แล้ว จะมากหรือน้อย คือจีนให้ส่งมาก ไทยเราก็ส่งมาก หรือจะให้ส่งน้อย ไทยก็ส่งน้อย ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาหากจีนจะให้ส่งหมูไปขายเพิ่มจากที่เคยสั่ง
“ฐานะของผู้เลี้ยงหมูไทยในปัจจุบันนี้ เมื่อผ่าน 3 ไตรมาสก่อนหน้านี้ ก็ค่อนข้างเหนื่อย เนื่องมาจากเรื่องของราคา แต่ผู้ประกอบการก็พอทน โดยมีการรวมตัวกัน เมื่อสัญญาณอะไรมาก็ฟังตลอด ให้ความร่วมมือกัน ไม่มีใครเห็นแก่ตัว ทุกคนเห็นแก่ส่วนรวม คุยอะไรกันก็รู้เรื่อง จึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไร” นายสุรชัยกล่าวและพูดถึงเรื่องราคาหมู ถ้ามองในแง่ผู้บริโภคนั้นมองว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยที่ปัจจุบันสมาคมฯมีหน้าที่ดูแลในส่วนหมูเป็น ส่วนเขียงหมูจะเป็นทางกระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลอยู่ แต่ถ้าให้พิจารณาราคาขายทุกวันนี้ ก็บอกว่าเป็นราคาที่ผู้เลี้ยงและผู้ประกอบการอยู่กันได้ “ราคาที่เหมาะสมตอนนี้คือราคาเนื้อแดงที่ขายในปัจจุบัน 130-135 บาทต่อกิโลกรัม และบางชิ้นส่วนที่ราคาดีขึ้น อย่างสันในและคอหมูอาจจะขยับขึ้นมาประมาณ 5 บาท ส่วนดังกล่าวที่ขยับราคา เนื่องจากมีน้อยและมีความต้องการสูง”