top of page

คำถามถึง SME...ก่อนตัดสินใจขอกู้เงิน


วันนี้ผมมีคำถาม 3 ข้อให้ท่านที่เป็นเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีตอบ ก่อนตัดสินใจขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ และนายทุนเงินกู้

- คำถามข้อที่ 1 ท่านแน่ใจหรือว่าการกู้เงินจะแก้ไขปัญหาการเงินของท่าน

- คำถามข้อที่ 2 มีมาตรการทางการเงินอื่นไหมที่ดีกว่าการกู้เงิน

- คำถามข้อที่ 3 มีทางเลือกอื่นไหมนอกจากการกู้เงิน หรือใช้มาตรการทางการเงินอื่นที่จะแก้ไขปัญหาทางการเงินของท่าน

สำหรับคำถามคำแรก ถ้าท่านกู้เงินมาเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ ที่ทำให้ท่านต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ จ้างคนงานเพิ่ม ซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าคงคลังเพิ่ม ให้เครดิตแก่ลูกค้าเพิ่มตามการขยายตัวของธุรกิจ การกู้เงินย่อมแก้ไขปัญหาทางการเงินของท่านได้ เพราะเมื่อธุรกิจขยายตัว มีรายได้เพิ่มขึ้น ก็มีความสามารถที่จะจ่ายคืนเงินกู้และดอกเบี้ยจากผลกำไรที่ตามมา

แต่ถ้าธุรกิจของท่านกำลังมีปัญหา ผลิตสินค้าออกมาแล้วขายไม่ได้ ท่านกำลังเสียลูกค้าที่ดีให้คู่แข่ง ลูกค้าของท่านไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าที่ส่งมอบไปแล้ว มีสินค้าคงเหลือค้างสต็อกหรือสินค้าที่ตายแล้ว (Death Stock) อยู่ในสินค้าคงคลังจำนวนมาก รายได้ลดลงเพราะยอดการขายลด ธุรกิจขาดทุน การกู้เงินเพิ่มนอกจากจะแก้ปัญหาการเงินไม่ได้แล้ว จะทำให้ปัญหาขยายตัวตาม เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ว่าฝนจะตกหรือแดดจะออก

ในข้อ 2 ถ้าการกู้เงินแก้ไขปัญหาการเงินที่มีอยู่ไม่ได้ มีมาตรการทางการเงินอื่นไหมที่ดีกว่าการกู้เงินเพิ่ม คำตอบคือ มีทางเลือกหลายทางให้เลือกเช่น การขายอินวอยให้สถาบันการเงินที่ทำธุรกิจแฟคตอริ่ง การเลหลังขายสินค้าคงคลัง การขายสินทรัพย์ถาวรที่เป็นส่วนเกิน หรือขายไปเพื่อเช่ากลับ และที่สถาบันการเงินมักจะให้ผู้ประกอบการที่มีปัญหาการเงินปฏิบัติคือการเพิ่มทุนเพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนลง ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เป็นต้น

สำหรับประเด็นการเพิ่มทุนนี้ ธุรกิจเอสเอ็มอีมักจะมีปัญหาไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะปกติไม่ได้แยกอยู่แล้วระหว่างทรัพย์สินธุรกิจกับทรัพย์สินส่วนตัวที่มักจะถูกจดจำนองผูกติดวงเงินสินเชื่อที่ใช้ในธุรกิจ และเมื่อธุรกิจมีปัญหา เจ้าของกิจการก็จะนำเงินสดหรือทรัพย์สินส่วนตัวมาลงในธุรกิจก่อนโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

การที่สถาบันการเงินของรัฐบางแห่ง เช่น ธนาคารออมสินจัดตั้งกองทุนร่วมทุนเอสเอ็มอีขึ้น จึงเป็นนโยบายที่น่าสนับสนุน เพื่อช่วยพัฒนาเอสเอ็มอีให้ขยายธุรกิจ และ/หรือแก้ไขปัญหาทางการเงินของเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนเพิ่ม

หลายท่านเป็นห่วงว่า การให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปร่วมลงทุน จะทำให้เกิดความเสียหาย ถ้าธุรกิจที่เข้าไปร่วมลงทุนไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป

ความจริง ความเสียหายที่เกิดจากการเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอี ถ้าจะเกิดขึ้นก็ไม่ต่างไปจากความเสียหายที่เกิดจากหนี้สูญ เพราะการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งทำให้ธนาคารของรัฐต้องเพิ่มทุนเพื่อชดเชยผลการขาดทุนที่เกิดจากการตั้งสำรองหนี้สูญ และการตัดหนี้สูญอยู่เป็นประจำ

แต่การให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีโดยการเข้าไปร่วมทุน จะทำให้ธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าการให้สินเชื่อ เพราะผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยและหาเงินมาคืนเงินต้นในช่วงที่กำลังขยายกิจการหรือแก้ไขปัญหาทางการเงิน รัฐจึงมีโอกาสที่จะได้รับเงินลงทุนคืนภายหลังเมื่อธุรกิจเติบใหญ่หรือฟื้นตัว โดยการขายหุ้นที่ลงทุนไว้ให้ผู้ประกอบการในราคายุติธรรม และนำเงินที่ขายหุ้นได้ไปลงทุนในเอสเอ็มอีรายอื่นต่อไป

ผมจึงเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐที่จะขยายการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีโดยการร่วมลงทุนเพิ่มขึ้นผ่านธนาคารออมสิน และหวังว่าสถาบันการเงินของรัฐอื่นจะพิจารณาจัดตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในลักษณะเดียวกันเพิ่มขึ้นอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

สำหรับคำถามสุดท้ายที่ว่า มีทางเลือกอื่นไหมนอกจากการกู้เงินหรือใช้มาตรการทางการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาการเงินของเอสเอ็มอี

ทางเลือกที่น่าจะเลือกก่อนคือการแก้ไขปัญหาการค้าขายที่ทำให้กิจการมีปัญหาทางการเงิน อย่างน้อยต้องทราบว่าปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน ทำไมขายสินค้าไม่ได้ ทำไมขายได้ถึงไม่มีกำไร โครงสร้างต้นทุนการผลิตเหมาะสมหรือไม่ มีจุดโหว่ช่องว่างหรือส่วนสูญเสียที่ไหน บุคลากรมีคุณภาพหรือไม่

ถ้าปัญหาทางการเงินเกิดจากการประกอบการของธุรกิจ การกู้เงินหรือใช้มาตรการทางการเงินอื่นมาแก้ไขจึงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะตัวเลขเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้แสดงว่ายอดขายสินค้าจะเพิ่มขึ้น ต้นทุนจะลดลง กำไรจะเพิ่มขึ้นหรือขาดทุนจะลดลง

การที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐเน้นการ “เข้าถึง” แหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีโดยการให้สินเชื่อแก่กิจการที่มีปัญหาทางการเงินเพราะมีปัญหาด้านธุรกิจ จึงเป็นการให้ความช่วยเหลือเหมือนสมัยก่อนเวลาปวดฟันก็จะมียาแก้ปวดฟันชุบสำลีมาอุดให้หายปวดชั่วขณะ แทนที่จะถอนฟันหรืออุดฟันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ฉันใดก็ฉันนั้น สินเชื่อหรือเงินกู้ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะรักษาเอสเอ็มอีที่ป่วยให้ฟื้นกลับมามีสุขภาพดีอีกครั้งอย่างแน่นอน

สำหรับทางเลือกสุดท้ายในข้อ 3 นั้น คือการยอมรับความจริงว่า ธุรกิจไปไม่ได้แล้ว ยอมตัดขาดทุน หรือ Cut Loss ให้เสียหายน้อยสุดโดยเร็วที่สุด แทนที่จะกู้เงินเข้ามาเพิ่มสร้างภาระในการจ่ายคืนเงินกู้เพิ่ม จ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม ความเสียหายขยายตัวจนพ้นความสามารถที่จะรับความเสียหายได้

ทางเลือกนี้ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่โหดร้ายสำหรับผู้ประกอบการ แต่ถ้าทบทวนให้ดีอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาการประกอบการของธุรกิจ

เขียนมาถึงตอนนี้ หวังว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านที่กำลังมีปัญหาการเงินเพราะขายสินค้าไม่ได้ ผลักดันอย่างไรก็ไม่มีใครซื้อ ไม่ทราบว่ากำลังซื้อหายไปไหน คงจะตอบคำถามให้ตัวเองได้ว่า ควรขอกู้เงินเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหา หรือจะขอเงินกู้เพิ่มทุน หรือจะทำให้ธุรกิจพออยู่ได้ไปก่อนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จนกว่าดีมานด์สินค้าของท่านจะกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง

หรือจะ Cut Loss ให้รู้แล้วรู้เรื่องไปเลย...ก็สุดแล้วแต่ท่านครับ

51 views
bottom of page