top of page

ไม่ตื่นเต้นเกณฑ์คุมเงิน ธปท. - หุ้นไทยเดือน 6 ไซด์เวย์ หลายสำนักลุ้นหุ้นฟื้นตัว


เกณฑ์ใหม่แบงก์ชาติ ควบคุมการเงินแลกเปลี่ยนเงิน Foreign Exchange Regulation reform ไม่มีอะไรในกอไผ่ หลังตลาดหุ้นออกอาการเกร็งกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอย...ประเมินสถานการณ์ตลาดหุ้นไทย เดือนมิถุนายน 2560 ออกข้างไซด์เวย์ เว้นแต่สามารถข้ามจุดหมุนสำคัญ 1,575 ได้สำเร็จ ... บล.ทรีนิตี้ ให้กรอบดัชนีตลอดเดือน 1530-1600 จุด ขณะ บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง แนะเพิ่มน้ำหนักหุ้น Defensive ลดความผันผวนของเศรษฐกิจ/ตลาดหุ้น ด้านกองทุนยังเชื่อมั่นหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัว

หลังจากที่หุ้นไทยตลอดเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมา สร้างความอึดอัดให้กับนักลงทุนพอสมควร โดยหลังจากหุ้นลงไปทดสอบแนวรับใหญ่ 1,530 จุด แล้วเด้งขึ้นมาแต่ไม่สามารถข้ามผ่าน 1,570-1,575 จุดได้สำเร็จทำให้บรรยากาศการลงทุนอยู่ในลักษณะอึดอัดไม่ไปไหน และมีการประเมินว่า ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนปิดท้ายไตรมาส 2/2560 และเป็นเดือนปิดงวดครึ่งปีแรก น่าจะเป็นเดือนที่บรรยากาศการซื้อขายหุ้นตลอดทั้งเดือนเป็นไปในลักษณะออกข้าง ไซด์เวย์

ทั้งนี้ในส่วนของ การออกมาแถลงประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ แบงก์ชาติ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์คุมเงินแลกเปลี่ยนเงินแบงก์ชาติ หรือ Foreign Exchange Regulation reform โดยการกำหนด 4 มาตรการลดขั้นตอน-เอกสาร เพิ่มความยืดหยุ่นบริหารความเสี่ยง ซึ่งก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างรอลุ้นว่าแบงก์ชาติจะมีมาตรการใดๆ ออกมาที่จะซ้ำรอย เหมือนกับเมื่อครั้งแบงก์ชาติประกาศคุมการไหลเข้าของเงินด้วยมาตรการแคปปิตอลคอนโทรลหรือไม่นั้น ปรากฏว่า ไม่ได้มีมาตรการอะไรที่น่าตื่นเต้น จี๊ดจ๊าดสำหรับนักลงทุน จึงไม่ได้ส่งผลกระทบทั้งบวก/ลบต่อดัชนีหุ้นไทยแรงๆในทันที โดยเฉพาะในเชิงผลต่อจิตวิทยาการลงทุน มิหนำซ้ำทำให้ค่าเงินบาทกลับแข็งค่ามากขึ้นไปอีกด้วยหลังการประกาศของแบงก์ชาติดังกล่าว ขณะที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลเป็นเรื่องของปัจจัยนอกประเทศ ทั้งเรื่องของเฟด การเมือง-เศรษฐกิจของอเมริกา และยุโรป และการรอลุ้นดูนโยบายดอกเบี้ยแบงก์ชาติหลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยจนส่วนต่างดอกเบี้ยอเมริกากับดอกเบี้ยไทยขยับเข้ามาใกล้กันมากกว่า

หุ้นไทย มิ.ย. ไซด์เวย์

กรอบ 1530-1600 จุด

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยเดือนมิถุนายนนี้จะยังคงแกว่งตัวไซด์เวย์ออกด้านข้างต่อไปในกรอบ 1530-1600 จุด แม้ว่าปัจจุบันค่าเงินบาทจะแข็งค่าค่อนข้างมาก แต่เป็นการแข็งค่าจากเม็ดเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร โดยเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงบริหารจัดการค่าเงินบาทในช่วงระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ได้ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยนั้นถูกจำกัดด้วยพื้นฐานกำไรที่ไม่ได้เติบโตมากตามราคาหุ้นที่สูงอยู่ ดังนั้นกลยุทธ์จึงแนะนำให้ซื้อที่บริเวณแนวรับ 1530-1540 จุด และขายที่บริเวณแนวต้าน 1590-1600 จุด

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในเดือนมิถุนายน ประกอบด้วย ผลที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศอังกฤษในวันที่ 8 มิถุนายน ซึ่งคาดว่าหากนางเทเรซา เมย์ ชนะเลือกตั้งจะทำให้กระบวนการนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) มีแนวโน้มเป็นไปอย่างราบรื่น และน่าจะทำให้บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกอยู่ในเกณฑ์ดีต่อไป

ส่วนการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 13-14 มิถุนายน คาดการณ์ว่าจะมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.00-1.25% และประเมินว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯจะยังไม่มีการให้รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับประเด็นการลดขนาดงบดุล (Balance sheet) ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีผลกระทบที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยนั้นเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนใหญ่รับรู้ไปแล้ว

นอกจากนี้ยังต้องติดตามการพิจารณาของ MSCI ในวันที่ 20 มิถุนายน ว่าจะนำหุ้นจากดัชนี A-Shares ของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการคำนวณดัชนี MSCI EM หรือไม่ เนื่องจากอาจจะมีผลกระทบต่อการปรับลดน้ำหนักตลาดหุ้นไทยได้บ้าง แต่หากเกิดขึ้นจริง ก็ไม่น่าจะมีนัยสำคัญมากนัก โดยคาดว่าน้ำหนักหุ้นไทยในดัชนี MSCI EM จะถูกปรับลดลงเพียงแค่ 0.01% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 2.2% หรือคิดเป็นเม็ดเงินไหลออกเพียงราว 5,000 ล้านบาทเท่านั้น

"ดัชนีหุ้นไทยอยู่บริเวณ 1560 จุด ซึ่งอยู่ในระดับกึ่งกลางจากกรอบบนและกรอบล่างของเรา เราจึงยังไม่แนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุน หรือ ลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นในทางใดทางหนึ่ง แนะนำถือหุ้นประมาณ 50% ของพอร์ตในเวลานี้ พร้อมเลือกถือหุ้นที่น่าสนใจเป็นรายกลุ่มไปก่อน"

สำหรับหุ้นที่น่าสนใจประจำเดือนมิถุนายน ประกอบด้วย กลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสภาวะตลาดเวลานี้ที่มีความผันผวนต่ำ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีรายได้มั่นคงและให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง โดยแนะนำ BCPG, EGCO, RATCH

กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าพื้นฐานน่าสนใจ เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาว แนะนำหุ้น SCB, TCAP, TISCO กลุ่มบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปลายน้ำที่เริ่มเห็นการปรับตัวของ Spread ที่ดีขึ้น ได้แก่ AJ, PTL, VNT, UTP

นอกจากนั้นยังสามารถที่จะดักซื้อหุ้นที่มีแนวโน้มถูกนำเข้าสู่การคำนวณดัชนี SET50 ในรอบถัดไป แต่ต้องเลือกหุ้นที่ราคายังไม่ปรับขึ้นมากนักได้แก่ BPP, JAS

บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง

ให้เพิ่มน้ำหนักหุ้น Defensive

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุ ตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีความผันผวนมากขึ้นในเดือน มิถุนายน หลังจากสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดหุ้นไทย ในเดือน พฤษภาคม (MSCI World index +1.8% MSCIEM +3.8% MSCI Asia ex JP +2.6%) คาดประเด็นการเมืองในสหรัฐฯ (ประเด็นการถอดถอนนายทรัมป์) ยุโรป (การเลือกตั้งของอังกฤษ การเมืองอิตาลี และ หนี้กรีซ) และ บราซิล(การเมือง) จะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนตลาดหุ้นทั่วโลก

ส่วนการประชุมเฟด วันที่ 13-14 มิถุนายนคาดว่าจะมีผลกระทบต่อตลาดการเงินโลกไม่มากไม่ว่าผลการประชุมจะออกมาเป็นอย่างไร พิจารณาท่าทีของเฟดและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงไม่จำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากนักในช่วงนี้ หลังจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนายทรัมป์

ล่าช้ากว่าคาดการณ์

“ภาพดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยดูน่าสนใจขึ้นในเดือน มิถุนายนเนื่องจากผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวไม่มาก ราคาหุ้นในปี 2560 ยังคงปรับตัวขึ้นไม่มาก ในขณะที่ เริ่มมีปัจจัยหนุนจากประเด็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลรอบใหม่ ซึ่งคาดว่า Momentum จะแรงขึ้นตามลำดับในช่วงที่เหลือของปี 2560”

เปิดมุมมองกองทุน

หุ้นไทยมีโอกาสฟื้นคืนชีพ

ด้านนักลงทุนสถาบันประเภทกองทุน อย่างบลจ.ธนชาต เชื่อหุ้นไทยยังมีอัพไซส์ แนะแบ่งลงหุ้นผันผวนต่ำ แนะผู้ลงทุนเน้นโฟกัสระยะยาว เพิ่มการกระจายลงทุนในหุ้นไทยผันผวนต่ำ ลดความเสี่ยงพอร์ต

นายบุญชัย เกียรติธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต ให้ความเห็นว่า การลงทุนหุ้นไทยในปีนี้คาดว่าหุ้นจะแกว่งในกรอบแคบๆ ช่วงประมาณ 1,500 - 1,600 จุด และซื้อขายกันที่ที่ P/E ประมาณ 14.5 – 15.5 เท่า เพราะอัตราการเติบโตของผลกำไรของบริษัท จดทะเบียนที่ออกมายังไม่ค่อยสูงนัก

วันนี้ ไม่ได้มองเพียงเดือนมิถุนายน แต่ให้ความเห็นสำหรับในช่วงครึ่งปีหลังโดยระบุว่า บลจ.ธนชาต คาดว่าตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากตัวเลขการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้นการกระตุ้นการใช้จ่ายจากภาครัฐน่าจะมีนโยบายอื่นออกมาเรื่อยๆ รายได้ภาคการเกษตรก็ดูจะปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นการปรับลดประมาณการณ์ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนน่าจะสิ้นสุดแล้ว และเมื่อพิจารณาปัจจัยต่างประเทศ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกประมาณ 2 ครั้ง หลังจากประธานาธิบดีทรัมป์ยังไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจที่วางไว้ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับอ่อนค่าลงจากที่เมื่อต้นปีหลายฝ่ายคาดว่าจะแข็งค่าขึ้น ทำให้นักลงทุนคาดหวังต่อนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง จนกระแสเงินเริ่มไหลออกจากตลาดหุ้นอเมริกา มาเข้าตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นไทย

คำแนะนำสำหรับลูกค้าที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากหรือกองทุนตราสารหนี้ แต่ไม่สามารถรับความเสี่ยงสูงๆ ได้ ควรกระจายการลงทุนในกองทุนหุ้นผันผวนต่ำให้มากขึ้น เพราะทิศทางอัตราดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำและคาดว่าจะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จากภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่มีปัจจัยใหญ่ๆ เข้ามากระทบทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากคงอยู่ระดับต่ำอย่างนี้ต่อไป และพบว่าผู้ลงทุนตราสารหนี้กลับต้องรับความผันผวนมากขึ้น เพราะราคาพันธบัตรไทยมีความผันผวนมากขึ้นตามราคาพันธบัตรของสหรัฐฯ

ดังนั้น การกระจายลงทุนในหุ้นผันผวนต่ำบ้างจะทำให้พอร์ตลงทุนได้รับผลกระทบน้อยลงในอนาคต โดยลักษณะเฉพาะของกองทุนประเภทผันผวนต่ำ (Low Beta Fund) ส่วนมากจะลงทุนในกลุ่มสาธารณูปโภค (Utility) อยู่แล้ว และในปัจจุบันก็ให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น

ด้าน นายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนวรรณ (บลจ.วรรณ) ให้ความเห็นว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น จากแรงหนุนของกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชียเหนือและตลาดหุ้นกลุ่ม TIP ซึ่งรวมประเทศไทย จากค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง โดยค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 34.00-34.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากการขยายตัวของ GDP ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการส่งออกที่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ช่วยหนุนให้มีการอุปโภคบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น และผลจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงฟื้นตัว

“บริษัทยังมีมุมมองที่ดีต่อตลาดหุ้นไทยในระยะถัดไป โดยยังมีโอกาสการปรับตัวขึ้น Downside Risk มีจำกัด จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ เพียงแต่กำลังรอแรงหนุนจากโครงการภาครัฐ ทั้งนี้ เกณฑ์การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมาเป็นการผ่อนคลายและเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน โดยยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งช่วยลดต้นทุนของภาคเอกชนลง โดยประเมินว่าไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินทุนในตลาดทุน โดยค่าเงินเริ่มกลับมาแข็งค่าหลังเกิดการขายค่าบาทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายพจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะถัดจากนี้ คาดว่าตลาดยังคงมีปรับตัวในลักษณะ Side-way เนื่องจากขาดปัจจัยสนับสนุนใหม่ โดยปัจจัยต่างประเทศที่อาจเข้ามากดดันตลาด ได้แก่ การเลือกตั้งอังกฤษ การสอบสวนนายโดนัล ทรัมป์จาก FBI และ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยฯของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ซึ่งการส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนในระยะสั้น ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ ยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ

ทั้งนี้โดยรวมมองว่าหากดัชนีมีการปรับตัวลดลงถือเป็นโอกาสทยอยสะสม

23 views
bottom of page