ผ้าขาวม้าเคยมีบทบาทในทางเศรษฐศาสตร์ยุคคลาสสิกของไทยในฐานะตัวชี้วัดอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจภาคประชาชน ปีไหนผ้าขาวม้าขายดี ปีนั้นเศรษฐกิจดี ดัชนีนี้ถูก GNP กับ GDP กลบไปนาน แต่วันนี้รัฐหันมาฟื้นฟูเกษตรกรรม ผ้าขาวม้าจึงกลับมามีบทบาทอีกครั้ง
เมืองไทยรุ่นปู่ย่าตายายและก่อนเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ ในยุคที่เมืองไทยมีประชากรไม่เกิน 25 ล้านคน (ปัจจุบัน 68 ล้านคน) คนไทยกว่า 70% เป็นเกษตรกร และกว่า 90% เป็นชาวชนบท
ทุกบ้านมีผ้าขาวม้าเป็นองค์ประกอบในกิจกรรมประจำวัน ตั้งแต่อาบน้ำ คาดพุง โพกหัว ไปจนแขวนทำเปลเด็กอ่อน
ยุคนั้น พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยมาจากชนบท เนื่องด้วยสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทยคือข้าว
จนถึงวันนี้ ข้าวก็ยังเป็นสินค้าสำคัญที่ทำให้ไทยครองอันดับผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก เป็นส่วนสำคัญของผลผลิตมวลรวมของชาติ (Gross Domestic Product-GDP) ในฐานะไทยเป็นชาติพึ่งพาการส่งออก (Export Dependent) ในสัดส่วนกว่า 70%
ชาวนาไทยจึงอยู่ในฐานะผู้ผลิต ขณะเดียวกันก็เป็นผู้บริโภคด้วย
ความสำคัญของภาคผู้บริโภคก็คือการบริโภคภายในประเทศ ยิ่งมากเท่าใด จีดีพีก็ยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น...ยามใดจีดีพีเติบโตดี ผ้าขาวม้าก็ขายดี
ในยุคทักษิณ Thaksinomics เอนเอียงไปทาง Supply-side Economics คือเน้นเศรษฐกิจสายอุปทาน โดยการกระจายการผลิตไปสู่ฐานรากของสังคมคือชนบท
จนมีการตั้งกองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้เกิดการผลิตส่วนปลายที่เป็นต้นน้ำ หรือการผลิตปฐมภูมิได้แก่ภาคเกษตรกรรม กลางน้ำคือการแปรรูปผลผลิต มาสู่ปลายน้ำคือการส่งออก
ขณะนี้มีการโจมตีว่า กองทุนหมู่บ้านทำให้ฐานะการคลังของไทยย่ำแย่ จนรัฐบาลต้องทบทวนกฎหมายด้านภาษีและรัษฎากรหลายฉบับ เพื่อหาทางรีดภาษีมาอุดรูรั่วของคลัง
ตอนคสช.ยึดอำนาจใหม่ๆ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทิ้งเงินคงคลังไว้ให้ 495,747 ล้านบาท มาถึงวันนี้ หลังคสช.เป็นรัฐบาลมา 3 ปี เงินคงคลังเหลือ 74,907 ล้านบาท (ก.พ. 2560) ต้องกู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณถึง 744,187 ล้านบาท
ซ้ำร้าย ปีงบประมาณนี้ผ่านมา 7 เดือน สามารถประเมินได้ว่าจะเก็บภาษีได้เท่าไร ซึ่งก็พบว่า จะเก็บได้ต่ำเป้าเกือบ 1 แสนล้านบาท
จึงต้องหาวิธีรีดเลือดปูในรูปแบบต่างๆ ที่ดูจะเป็นกอบเป็นกำก็คือภาษีที่ดิน เพราะมัดมือชกง่ายที่สุด
มีการยกร่างพ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.....มาบังคับใช้แทนที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฉบับปี 2545 และภาษีลาภลอย ที่กำลังพิจารณายกร่างกันอยู่
ดูขัดๆ พิกล เพราะขณะที่รัฐพยายามเพิ่มกำลังซื้อ ลดต้นทุนการผลิต กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศด้วยการลดภาษี คืนภาษี อันเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐศาสตร์สายอุปทาน (supply-side economics) ในทักษิโณมิกส์นั้น
แต่รัฐบาลก็พยายามสอดส่ายสายตา หาผลิตภัณฑ์ด้านภาษีใหม่ๆ มาเพิ่มรายได้
การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศหรือการบริโภคของคนไทยที่หดตัวนั้น เป็นเพราะรายได้ลดลง ขณะที่ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น
ช่วงก่อนรัฐบาลคสช. (2556) ครัวเรือนไทยมีหนี้สินเฉลี่ย 98,428 บาท ปี 2559 มี 119,061 บาท ปี 2560 คาดว่าจะขึ้นไปถึง 131,479 บาท
ดีขึ้นหรือเลวลงไม่ต้องอธิบาย ตัวเลขมันฟ้องอยู่
ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์ภาคการบริโภคก็คือ ประเทศที่มีจำนวนประชากรสูง อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจจะสูง เพราะประชากรเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต
การลงทุนภายในประเทศขยายตัวตามจำนวนประชากรและตามกำลังซื้อ อย่างจีนและอินเดีย เป็นต้น
วันนี้จีนและอินเดียเป็นชาติที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกอันดับ 1 และ 2 กำลังโตวันโตคืน จนจีนก้าวผ่านญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นชาติเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกและอาจจะเป็นอันดับ 1 แทนที่สหรัฐในทศวรรษหน้า
เช่นเดียวกับอินเดียที่มีการวิเคราะห์จากข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจผันแปรตามจำนวนประชากรว่า ภายใน 2 ทศวรรษ ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียจะแซงอังกฤษนายเก่า
ทั้งๆ ที่อินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 2 ของโลกคือ 58.4%
รัสเซียอันดับ 1 ที่ 74.5% ไทยอันดับ 3 ที่ 58% จีนอันดับ 6 ที่ 43.8% สหรัฐอันดับ 7 ที่ 42.1% (Credit Suisse Global Wealth Databooks)
สัดส่วนความเหลื่อมล้ำ (Unequal Share) หมายถึงการมีส่วนแบ่ง 1% ในความมั่งคั่งของชาติ
รัฐบาลพยายามลดความเหลื่อมล้ำด้วยวิธีการต่างๆ นานา เช่น การโปรยเงินจากฟ้า หรือเฮลิคอปเตอร์มันนี่ เงินสวัสดิการคนจน
หรือทำให้คนรายได้น้อยและปานกลางที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศเข้าถึงสินเชื่อ แต่กลับพาคนเหล่านี้ตกลงไปในหล่มโคลนหนี้ ตะกายกันไม่ขึ้นจนบัดนี้
เหตุผลคือผู้ที่ได้สินเชื่อไป ส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาสินเชื่อให้หมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ของตนเองได้ เพราะถูกกลุ่มทุนใหญ่ดูดไปหมด สินเชื่อเหล่านี้ ทำให้เกษตรกรอยู่ในสภาพใกล้สูญเสียที่ดินจำนวนกว่า 31 ล้านไร่
ขณะเดียวกัน เกิดความขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร เหตุจากชาวไร่ชาวนาไทยทิ้งถิ่นไปทำกินในอาชีพอื่นที่มีรายได้สูงกว่าภาคเกษตร เพื่อนำเงินมาปลดหนี้
เมื่อแรงงานภาคเกษตรลดลง สินค้าที่คนไทยกลุ่มนี้ใช้อยู่ก็ขายได้น้อยลง
ตัวชี้วัดคือผ้าขาวม้าที่เป็นของใช้อเนกประสงค์ ขายได้น้อยลง เป็นเครื่องชี้ว่า เศรษฐกิจไทยย่ำแย่
นายกรัฐมนตรีแก้ต่างว่า เป็นเพราะรัฐบาลปราบคอร์รัปชั่นอย่างหนัก ทำให้เศรษฐกิจหดตัวและฝืดเคือง
ไปเกี่ยวกันตรงไหนก็ไม่รู้ เขามีแต่ยิ่งปราบคอร์รัปชั่นหนักๆ เศรษฐกิจยิ่งดีขึ้น
อย่างที่จีนกำลังรณรงค์กวาดล้างกันอยู่ในขณะนี้เป็นต้น แต่ของไทยยิ่งปราบ กลับยิ่งไปในทิศทางตรงกันข้าม
ปรากฏว่า ในการจัดอันดับภาพลักษณ์ความโปร่งใส ประจำปี 2559 (Corruption Perceptions Index 2016)
ไทยได้รับคะแนนลดลง 3 คะแนนจาก 38 เป็น 35 อันดับโปร่งใสจากอันดับ 76 ลงมาที่ 101
ที่น่ากังวลที่สุดก็คือ ตามรายงานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ขณะนี้ ในรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้สูงของไทย มีแต่ทหารเต็มไปหมด ยกตัวอย่างกองสลากเป็นต้น
อ้างว่าไปขจัดคอร์รัปชั่นและกระตุ้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพ
มืออาชีพที่เคยทำกำไรให้องค์กรเหล่านี้ถูกเขี่ยทิ้ง
ข่าวนี้ คงทำให้นักลงทุนลังเล โดยเฉพาะในกิจการที่ต้องสัมพันธ์และสัมผัสกับองค์กรรัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
ถ้ารูปการณ์ยังเป็นเยี่ยงนี้ คงเป็นไปไม่ได้ที่ผ้าขาวม้าจะขายดี ไม่ว่าจะเป็นปีนี้หรือปีหน้า