นายณัฎฐะ มหัทธนา ที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทหารไทย กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันเหตุการณ์บนโลกมีเรื่องราวมากมายจนทำให้จับต้นชนปลายไม่ถูกในแง่การลงทุน จากการที่ดูเรื่องกลยุทธ์การลงทุนเกี่ยวกับกองทุนรวมต่างประเทศตอนนี้ค่อนข้างชอบตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะตัวของหุ้นซึ่งมีมุมมองลักษณะค่อนข้างสวนตลาด โดยมีเหตุผลว่าต้องมองไปข้างหน้าเพราะไทยกำลังผ่านช่วงกลางปี
ครึ่งปีแรก 2560 ที่ผ่านมาไทยอยู่ในบรรยากาศของดอกเบี้ยพันธบัตรปรับตัวลง และมีอัตราผลตอบแทนของ Yield Curve เป็นกราฟที่โชว์ขึ้นมาระหว่างแกนตั้งที่เป็นดอกเบี้ยและแกนนอนเป็นอายุพันธบัตร 2-30 ปี แต่ Yield Curve หรือ เส้นอัตราผลตอบแทนค่อนข้างมีความชันน้อยลง หมายความว่าดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลดลงหรือปรับตัวขึ้นน้อยกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรระยะสั้น โดยเฉพาะสหรัฐฯเป็นที่ทราบกันดีว่าเฟดได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ โดยครั้งแรกได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมและครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นดอกเบี้ยระยะสั้น ถูกยกตัวขึ้นไปด้วยการปรับดอกเบี้ยของเฟด
“นักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อจะดีขึ้น ส่งผลถึงนักลงทุนมองว่าเงินเฟ้อในสหรัฐตอนนี้ที่มีอยู่ประมาณ 1.5% อาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่สหรัฐฯตั้งไว้ที่ 2% การขึ้นดอกเบี้ยแบบนี้อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง รวมถึงเงินเฟ้ออาจส่งผลกระทบต่อ Yield Curve ระยะยาวที่จะทำให้ปรับตัวลดลง ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทน Yield Curve ลาดลงทำให้มีผลต่อหลายอย่าง โดยต้นตอของแนวโน้มการลงทุนหรือ Fund Flow มีผลต่อทั้งหมด และเมื่อ Yield Curve ระยะยาวลดลง อาจส่งผลถึงนักลงทุนเข้าไปซื้อ Bond พันธบัตรตราสารหนี้แทนหุ้น เพราะตราสารหนี้สหรัฐฯหากดูจากนักลงทุนก็จะดูแบบก้ำกึ่ง เนื่องจากดอกเบี้ยกำลังปรับขึ้นอยู่ทำให้มีความน่าสนใจ แต่ Yield ก็มีความน่าสนใจเช่นกันเพราะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่ายุโรปหรือญี่ปุ่น” นายณัฏฐะกล่าว
“ถ้าไปดูตลาดประเทศกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ จะพบว่า Yield มีอัตราที่สูงกว่าทำให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในตลาดประเทศกำลังพัฒนา ส่วนตลาดตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่เมื่อนักลงทุนเข้าไปซื้อมากขึ้นก็อาจส่งผลถึง Yield ต่ำลง ส่วนต่างที่เคยกว้างระหว่างตราสารหนี้เกิดใหม่กับ Yield สหรัฐฯก็แคบลงมา เมื่อส่วนต่างแคบลงก็จะทำให้ราคาแพงขึ้นทำให้นักลงทุนมองว่าจะหันไปซื้ออะไรดี เพราะในช่วงครึ่งปีหลังจะลงทุนแบบไหนในเมื่อพอร์ตการลงทุนเป็นแบบนี้”
สำหรับการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 นายณัฏฐะกล่าวว่าต้องมีความระมัดระวังในเรื่องการลงทุนมากขึ้น เพราะบางอย่างที่ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างเยอะจะต้องระวัง คือ 1. สินทรัพย์ที่ดูเหมือนว่าจะปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือ พันธบัตรระยะยาว โดย Yield เมื่อปรับลดลงมาต่ำแล้ว หากเศรษฐกิจดีขึ้นหรือเงินเฟ้อเร่งตัวดีขึ้น Yield ก็อาจจะปรับขึ้นมา หรือทองคำที่คนมองว่าเกิดสงครามหลายที่ ทำให้คนหันเข้าไปซื้อกันเพราะมีความผูกพันธ์กับ Yield พันธบัตรด้วย เพราะเวลาที่ดอกเบี้ยต่ำคนก็อยากจะลงทุนในทองเพราะทองไม่มีดอกเบี้ย แต่พอเวลาที่ดอกเบี้ยสูงขึ้นทองอาจจะไม่น่าสนใจทำให้คนอาจจะขายออกมาได้ เพราะฉะนั้นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยก็ต้องระวังเช่นกัน
2. สินทรัพย์ยอดนิยม คือ ตราสารหนี้ พันธบัตรของตลาดเกิดใหม่ ดูอย่าง Yield ของพันธบัตรไทยที่ปรับลงมาในช่วงหลายวันที่ผ่านมา ต้องระมัดระวังถ้าใครลงทุนตราสารหนี้ก็ต้องดูอายุของตราสารหนี้ให้สั้นลงมาเมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลัง โดยต้องระวังสินทรัพย์ยอดนิยมอย่างตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ และ 3. สินทรัพย์ที่ดูแล้วมั่นคง เพราะความมั่นคงผ่านช่วงครึ่งปีแรกที่ดูเหมือนมีความเสี่ยงในเรื่องการเมือง สงครามต่างๆ ทำให้ถูกไล่ซื้อจนราคาสูงขึ้น ราคาที่สูงขึ้นค่อนข้างเป็นตัวอันตราย ถ้าเป็นหุ้นตัวที่ดูมั่นคงก็จะเป็นหุ้นจำพวกโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคที่ไม่ค่อยหวั่นไหวกับเศรษฐกิจ ด้วยธุรกิจมีความมั่นคงแต่ราคาสูง แต่เวลาที่เศรษฐกิจพลิกกลับมาความเสี่ยงลดลง หุ้นของโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคก็จะถูกขายแล้วไปลงทุนที่อื่นแทน
“ความเสี่ยงที่เรามองและคิดว่าจะทำได้ดีในช่วงครึ่งปีหลังมองไปที่หุ้นของตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะตลาดรัสเซียน่าสนใจ ทราบหรือไม่กำไรต่อราคาหรือกำไรต่อหุ้นหารด้วยราคาของรัสเซียอยู่ที่ 6 เท่า ราคาต่อบัญชีไม่ถึง 1 หรือ 0.6 เท่านั้น ที่มีราคาถูกเพราะรัสเซียกำลังฟื้นตัวจากจุดเริ่มต้น เพราะดอกเบี้ยรัสเซียยังลงอยู่เพราะราคาน้ำมันที่ตกลงมาเยอะ และยังถูกสหรัฐคว่ำบาตรตั้งแต่ปี 2014 ทำให้เศรษฐกิจถดถอยในปี 2015 และได้ออกมาจากเศรษฐกิจถดถอยในปลายปี 2016 ทำให้ตอนนี้คนรัสเซียมีการออมอย่างมาก การบริโภคน่าจะฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังเป็นต้นไป คิดว่าน่าจะเป็นจุดที่ดีที่มีกองทุนการลงทุนบางส่วนในรัสเซียและตลาดเกิดใหม่ในปี 2017” นายณัฏฐะกล่าว
“การลงทุนในรัสเซียของไทยจะลงทุนผ่านกองทุนรวมของไทยลงทุนในต่างประเทศ (Foreign Investment Fund) โดยจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนต่างประเทศทั่วโลกที่เป็นตลาดเกิดใหม่ อย่างเช่น จีน รัสเซีย บราซิล หรือ แอฟริกาใต้โดยกองทุนฯนี้ได้ตั้งขึ้นเมื่อช่วงปลายไตรมาส 1 โดยผ่าน 3 เดือนลักษณะของกองทุนฯนี้ปรับตัวขึ้นลงมาบ้าง แต่ถือว่าอยู่ในกรอบค่อนข้างแคบใกล้ PAR คนที่จะเข้ามาในตอนนี้ก็จะได้ราคาใกล้ PAR คือลักษณะการให้มุมมองโดยส่วนตัวค่อนข้างมองไปข้างหน้าแบบมองสวนตลาด เช่น ปัจจุบันหุ้นจีนคนจะให้ความสนใจมาก แต่โดยส่วนตัวผมชอบหุ้นจีนในช่วงปลายปีที่ผ่านมาตอนที่คนกลัวเรื่องนโยบายต่างประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์ที่จะกีดกันจีน ซึ่งตอนนี้ผมเริ่มเฉยกับหุ้นจีน โดยหุ้นตัวต่อไปที่จะดูหรือลงทุน คือ รัสเซีย หรือ บราซิล ที่มีปัญหาการเมืองอยู่ตอนนี้ เพราะการปฎิรูปยังคงเดินหน้าต่อไป โดยบางคนยังกังวลมากเกินไปในเรื่องการคอร์รัปชั่นของประธานาธิบดีมิเชล ทีเมอร์ แต่โดยส่วนตัวผมยังชอบเพราะหุ้นมีการปรับฐานลงมา”
นายณัฏฐะพูดถึงประเทศแอฟริกาใต้ที่มีการปลดรัฐมนตรีคลังในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้หุ้นแย่คลังถังแตก แต่เงินเฟ้อที่ลดลงมากลับช่วยให้แอฟริกาใต้ที่มีปัญหาเรื่องเงินเฟ้อชะลอตัวลง ทำให้ตอนนี้เงินเฟ้อค่อนข้างลงและมีพื้นฐานค่อนข้างดีจน RATING AGENCY ปรับเครดิตลงไป ส่งผลให้สะท้อนกับราคาซึ่งอีกไม่นานค่าเงินจะดีดตัวฟื้นขึ้นมา เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกค่อนข้างซัพพอร์ตหรือเป็นฉากหลังที่ดี “มองว่าอย่าไปกลัวประเทศหรือตลาดที่มีความเสี่ยงที่โชว์ออกมาแล้วอย่างรัสเซีย, บราซิล, แอฟริกาใต้ หรือ การ์ตา ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าไทยมีตราสารหนี้การ์ตา เพราะการ์ตาที่ไทยมีอยู่เป็นตราสารหนี้ในระยะสั้น ความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ไม่ค่อยมีผลมากนักเพราะเป็นประเทศที่ร่ำรวย ถ้ามีการโชว์ออกมาแล้วไม่น่ากลัวมากเพราะยังได้ซื้อของลดราคาอีกด้วย แต่ความเสี่ยงที่คนมองไม่เห็นหรือมีความมั่นคงปลอดภัยส่วนมากจะมีอันตราย”