ผู้นำภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม SME ตีแผ่ผลกระทบหนักจากการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว แถมแรงงานต่างด้าวที่ตีทะเบียนถูกต้องส่อเค้าเรียกค่าแรง/ผลตอบแทนการทำงานเพิ่มหลังเห็นเพื่อนเผ่นกลับบ้าน ผวาอาชีพใหม่ล่ารางวัลนำจับผู้ประกอบการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกม. ส่งผลผู้ประกอบการปิดกิจการเลิกทำ อยู่เฉยๆ ดีกว่าเสี่ยงถูกปรับโหดกับติดคุก สูญอิสรภาพ
นางเพ็ญทิพย์ พรจะเด็ด นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงผลกระทบ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวต่อธุรกิจเอสเอ็มอีมีการร้องเรียนเข้ามายังสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยนับตั้งแต่วันแรกที่พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว เพราะเมืองไทยอาศัยแรงงานต่างด้าวค่อนข้างมาก กลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้บริการแรงงานจากต่างด้าวเดือดร้อนกันมาก จากที่แรงงานต่างด้าวกลับประเทศกันค่อนข้างมาก ทำให้ภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานต่างด้าวชะงักลง
“ตอนนี้ออร์เดอร์ที่รับมาแล้วได้รับผลกระทบกระเทือนได้รับความเดือดร้อนแน่นอน แม้ว่าตอนนี้จะมีม.44 ออกมาเพื่อชะลอพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว แต่แรงงานต่างด้าวก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ จึงมีการเดินทางกลับถิ่นเกิดไปก่อน และส่วนมากที่เดินทางกลับไปก่อนโดยกะทันหัน ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นต่อธุรกิจทันที” นางพรทิพย์กล่าวและมองว่าแม้ขณะนี้มีการใช้ ม.44 ชะลอพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวออกไป ก็คงยากที่แรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับไปแล้ว จะเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยทันที จึงควรปรับกม.ฉบับนี้ใหม่ให้มีความยืดหยุ่นได้หรือไม่ คืออยากให้รับกันได้ เพราะตอนนี้นายจ้างก็เสี่ยง โดยเฉพาะในเรื่องค่าปรับที่สูง 4-5 แสนบาท ไม่คุ้มที่จะทำธุรกิจแล้วมีกำไรหรือไม่
“คือมันเกิดอะไรขึ้นตรงนี้ ถามว่ารัฐบาลเองก็มองเห็นปัญหานี้ถึงเรื่องการค้ามนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันเขาจะแก้ปัญหา พอออกมาทันที มีค่าปรับที่สูง ทางนายจ้างเองก็เสี่ยงเหมือนกัน เนื่องจากพอ พ.ร.ก.ออกมาก็จะบังคับทุกอย่าง ถึงแม้การลงทะเบียนเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพราะเราต้องรู้ว่าคนที่มาอยู่ในประเทศมีใครบ้างมันก็จริง แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าลงทะเบียนแล้ว ได้ลูกจ้างที่ไม่ดี จะไปเลิกจ้างแรงงานต่างด้าวก็ไม่ได้ เหมือนกับเราก็ต้องกล้ำกลืนให้ลูกจ้างอยู่จนครบ หรือในทางกลับกัน หากแรงงานถูกเอาเปรียบ เขาก็ไม่อยากอยู่เหมือนกัน ตรงนี้ ถ้ามีการปรับให้ยืดหยุ่นสามารถปฏิบัติได้จริง สามารถยอมรับกันได้ ซึ่งเราก็เข้าใจรัฐบาลในการที่จะปรับเพื่อเสถียรภาพของประเทศหรืออะไรก็แล้วแต่ อย่างไรก็ต้องขึ้นกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย ถ้าขับเคลื่อนไม่ได้ ก็จะเดินไม่ได้ ซึ่งต้องยอมรับกัน และต้องลดค่าปรับลง”
อีกเรื่องสำคัญที่เป็นห่วงนางเพ็ญทิพย์เปิดเผย ว่าจะเกิดธุรกิจออกมาอีกอาชีพ คือ อาชีพรางวัลนำจับ ชี้เป้ามีการแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน เมื่อบทลงโทษที่มีการปรับเงินจำนวนมาก ตรงนี้ทำให้มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมากตามมา ในส่วนผู้ประกอบการมีการคุยกันเอง เป็นห่วงว่าการปรับด้วยเงินจำนวนมากจะเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชั่นหรือไม่ อยากให้ภาครัฐบาลคิดให้หนัก เพราะพวกเราเองประกอบการอยู่และก็เป็นห่วง
“เราอยากจะทำถูกกฎหมาย แต่ว่าการปรับเงินขนาดนี้ เราก็ว่าไม่ทำดีกว่า จริงๆหลายคน คนงานพวกเอสเอ็มอีกลุ่มรถยนต์ก็ได้รับความเดือดร้อนกันทั้งนั้น บางอย่างคนไทยพยายามเรียนรู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมา เขาก็ไม่อยากทำงานหนักแล้ว ดังนั้นก็ต้องพึ่งแรงงาน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาในขณะนี้คือกลัวโดนเสียค่าปรับเยอะ แค่เสี่ยงนิดเดียวก็ผิดแล้ว” นางเพ็ญทิพย์กล่าวและเปิดเผยผลกระทบต่อเอสเอ็มอีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มาร้องเรียนว่าตอนนี้ส่วนใหญ่ที่ทำอยู่คือแรงงานต่างด้าว ขณะนี้ได้กลับบ้านไป มีการหยุดก่อสร้างบ้านจากแรงงานต่างด้าวแล้ว กำหนดการที่จะส่งบ้านให้กับลูกค้าจะเกิดปัญหาและเดือดร้อนกัน
“นับจากวันแรกที่พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวออกมา ผลปรากฏว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ มีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป รวมถึงกลุ่มเหล็กที่มีปัญหาจากการใช้แรงงานต่างด้าว ก่อนหน้านี้มีการเดินทางกลับบ้าน ทำให้เกิดปัญหา คิดว่ารัฐบาลเองคงตระหนักถึงเรื่องนี้ หรือว่ารัฐบาลเองอาจจะมีช่องทางที่อาจจะจัดระเบียบอยู่ คงต้องรอดูต่อไป อย่างไรก็ตาม นอกจากที่ทางผู้ประกอบการขอให้ยืดหยุ่นเรื่องค่าปรับแล้ว ยังอยากให้รัฐบาลช่วยยืดหยุ่นในเรื่องวันจับ เรื่องประกันความเสี่ยงทั้งนายจ้างและลูกจ้าง คิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือต้องเรียกผู้ประกอบการมาเสนอความคิดเห็นและอยากให้รัฐบาลช่วยชี้แจงทีว่าออก พ.ร.ก.ตัวนี้มา เพราะเหตุใด โดยบทลงโทษต่างๆนั้น น่าจะเจอกันครึ่งทางแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีเหตุผลว่ากลัวต่างชาติจะไม่ซื้อสินค้าไทย เพราะไทยมีการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และเรื่องค้ามนุษย์ก็ตาม”
นางเพ็ญทิพย์กล่าวว่าพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ไม่ให้เวลาผู้ประกอบการเตรียมตัวจะส่งผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะ SME ที่เพิ่งรับออร์เดอร์มาและบางครั้งในกลุ่มเอสเอ็มอีใช่ว่าจะรับออร์เดอร์มาเดือนหรือสองเดือน บางทีรับมาข้ามปีก็มีก่อนหน้านี้ เรื่องปรับขึ้นค่าแรงก็มีปัญหา เดือดร้อนกันไปรอบหนึ่งแล้ว กว่าจะปรับตัวกันได้ต้องใช้ระยะเวลาเหมือนกัน ส่วนตรงนี้ก็เช่นเดียวกันถ้ารัฐบาลยืดระยะเวลาออกไป 180 วัน น่าจะค่อยๆ ปรับเรียกผู้ประกอบการกับนายจ้างมาคุยก่อน ปรับให้สมดุลว่าเขาสามารถรับได้ขนาดไหนอย่างไรแล้วก็ช่วยกันแก้ไข พ.ร.ก.จำเป็นต้องใช้ เพราะต้องจัดระเบียบ เราก็เข้าใจ แต่เมื่อเกิดผลกระทบขึ้น ต้องเรียกผู้ประกอบการเข้ามา เพื่อชี้แจงกัน และปรับเปลี่ยนลดลงมาเพื่อความเหมาะสม ขณะนี้ทุกคนบอกว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ เพิ่งเริ่มที่จะกระเตื้องขึ้นมาจะหยุดชะงักทันที
“ตอนนี้ยังมีความตื่นตะหนกอยู่ แรงงานต่างด้าวมีการเดินทางกลับไปก่อน แต่สิ่งที่จะตามมา คือเราเริ่มมองเห็นกระแสที่ออกมา ว่ากลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มาถูกต้องทุกอย่าง เริ่มเรียกร้องค่าแรงขึ้น ซึ่งก็จะเป็นปัญหา เพราะว่าเขามาถูกต้องทุกอย่างตามกำหนด พอมีคนกลับไป ก็เริ่มเกี่ยงค่าแรง จะเป็นแบบนี้ คือจะมีช่องเหมือนกัน ตอนนี้ทางเราก็ฟังข่าวอยู่ และพยายามเรียกกลุ่มของสมาคมฯของเรา คุยกันว่าจะทำอย่างไร จะรวมตัวกัน เพื่อจะช่วยเหลือกันก่อนในเรื่องแรงงานบ้าง เรื่องแบ่งปันงานช่วยกันทำบ้าง ก็ต้องเป็นแบบนี้กันไปก่อน คือตอนนี้ผู้ประกอบการจะไม่สามารถเร่งหรือทำในส่วนของการรับออร์เดอร์เพิ่ม คือไม่กล้ารับเท่าไหร่ โดยความจริงมันเป็นแบบนั้นไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม พวกเราพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ก็ควรเจอกันครึ่งทาง รัฐบาลควรฟังเสียงผู้ประกอบการเหมือนกัน คือเรียกเข้าไปคุยกันก่อนดีหรือไม่”