ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เผยความเชื่อมั่นของธุรกิจ SME ครึ่งปีแรกยังทรงตัว เหตุราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ กดกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจซึมยาว แนะผู้ประกอบการพลิกโฉมธุรกิจเป็นมืออาชีพเพื่อปรับตัวและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ (Head Economist) ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 2/2560 จากความเห็นของผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ สำรวจโดยศูนย์บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี (RMC) ทีเอ็มบี พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันยังทรงตัว โดยดัชนีอยู่ที่ระดับ 39.6 จากระดับ 40.6 ในไตรมาสก่อน เมื่อมองไปอีก 3 เดือนข้างหน้าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเห็นว่าบรรยากาศในการดำเนินธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลง สะท้อนจากค่าดัชนีที่ระดับ 48.8 ทรงตัวจาก 49.4 ในไตรมาสก่อน แม้ทิศทางของดัชนีจะมีการเคลื่อนไหวอยู่ในเกณฑ์ทรงตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 แต่ค่าดัชนียังต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าผู้ประกอบการยังคงเผชิญกับความท้าทายในการบริหารต้นทุนและการสร้างรายได้ให้กิจการเติบโต
“ครึ่งปีแรก SME ต้องเผชิญอุปสรรคด้านต้นทุนหลายระลอก เริ่มตั้งแต่ต้นปีที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่มีผลบังคับใช้ ทำให้ต้นทุนค่าแรงในภูมิภาคซึ่งเดิมอยู่ที่ 222-273 บาท เพิ่มเป็น 300-310 บาท ตามด้วยกลางปีหลังประกาศ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานฉับพลับ ผลักให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นเพิ่มเติม สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการและกดความเชื่อมั่นด้านต้นทุนให้ทรงตัวในระดับต่ำ เมื่อผนวกกับราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อย หนุนกำลังซื้อฟื้นตัวในวงจำกัด ภาคธุรกิจจึงต้องเผชิญกับความไม่คล่องตัวทั้งในการบริหารต้นทุนและสร้างรายได้ต่อไป” นายเบญจรงค์กล่าว
เมื่อศึกษาปัจจัยกังวลที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ พบว่า สัดส่วนของผู้มีความกังวลลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 70 เมื่อเริ่มต้นสำรวจในปี 2555 และคงเหลือเพียงร้อยละ 55 ในไตรมาส 2/2560 โดยในส่วนของผู้มีความกังวล พบว่า ภาวะเศรษฐกิจ-กำลังซื้อฟื้นตัวช้า เป็นปัจจัยกังวลสูงสุดคิดเป็นร้อยละ 65.2 รองลงมาคือความกังวลด้านสภาพคล่องและการขาดแคลนแรงงาน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.6 และ 6.9 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์แยกตามประเภทธุรกิจ เราพบว่า ผู้ประกอบการที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดามีความกังวลกระจุกตัวไปในเรื่องภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ “มากกว่า” นิติบุคคล และผลจากความเชื่อมั่นด้านรายได้ยังหนุนให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบธุรกิจที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลมีระดับสูงกว่า บุคคลธรรมดามาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขันที่ไม่เท่ากันระหว่างผู้ประกอบการแต่ละประเภทการจัดการ
เมื่อศูนย์วิเคราะห์ฯ นำ Big Data ของ SME ที่จดทะเบียนตั้งแต่ปี 2551-2559 กว่าหนึ่งหมื่นสองพันราย มาศึกษาเพิ่มเติม พบว่า ธุรกิจจำนวน 3 ใน 4 มีขนาดเล็ก รายได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อปี และมีลักษณะใกล้เคียงกับผู้ประกอบการที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดา มีรายได้เพิ่มขึ้นได้เพียงหนึ่งเท่าในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง ในขณะที่กลุ่มที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคลมากขึ้น หรือมีรายได้ประมาณ 10-50 ล้านบาทต่อปี สามารถสร้างยอดขายให้เติบโตได้ 3-4 เท่า และกลุ่มนี้สามารถแปลงสินค้าเป็นเงินสดได้รวดเร็วกว่า ทั้งยังมีสัดส่วนของสินทรัพย์ที่สามารถใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อสูงกว่ากลุ่มแรกอีกด้วย
“เรามองว่า การบริหารกิจการแบบนิติบุคคล ช่วยให้ผู้ประกอบการมีระบบที่จะทำให้เห็นสถานะธุรกิจตนเองทุกซอกทุกมุม เนื่องจากมีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง ตรวจสอบได้ ทำให้สามารถตอบสนองได้ทันต่อสถานการณ์ และการวางกลยุทธ์เพื่อสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่ายมีประสิทธิภาพในระยะยาวได้ ทั้งยังสามารถติดต่อกับธุรกิจขนาดใหญ่หรือคู่ค้าในต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลให้อุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีน้อยลงเพราะตรวจสอบสถานะการเงินและธุรกรรมได้ และเมื่อรัฐมีนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อหรือช่วยเหลือ SME ก็จะได้ผลบวกจากนโยบายอย่างเต็มที่” นายเบญจรงค์สรุป