top of page

ปัจจัยต่างประเทศเป็นปัจจัยหนุนหลัก


แกว่งขึ้นต่อ !

ทิศทางในระยะสั้นของตลาดหุ้นไทย ในทางเทคนิค “นายหมูบิน” มองว่า SET ในระยะสั้นได้ใช้การพักตัวในระหว่างวันตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมาลดความร้อนแรงลงมาได้ระดับหนึ่งแล้ว สะท้อนออกมาจากการที่ Indicator ระยะสั้นในรายนาทีที่มีสัญญาณลบ หรือ Negative ในช่วงเวลาดังกล่าวเริ่มที่จะลดน้ำหนักลงแล้ว ดังนั้นในเบื้องต้นสำหรับแนวโน้มในรายสัปดาห์ หรือ Weekly ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ปรับตัวลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 75 ในราย 30 นาทีบริเวณ 1,627 จุด (+/-) อีกครั้ง SET ยังคงอยู่ในกรอบของการเหวี่ยงขึ้นต่อสั้นๆได้ และการพักตัวช่วงสั้นภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวให้มองเป็นการถอยเพื่อดีดกลับไว้ก่อน โดยมีเป้าหมายในการล็อกกำไรสำหรับนัก Trading ระยะสั้นไว้แถวๆ 1,650 และ 1,700 จุด ส่วนนักลงทุนระยะกลางถือหุ้นน่า Let Profit Run ต่อไป ส่วนจะซื้อเพิ่มได้หรือไม่ ดูจากการปรับ Rebound ขึ้นแรงตามตลาดหุ้นสหรัฐ ให้รอไปก่อน

ทั้งนี้สาเหตุที่ “นายหมูบิน” มองเป้าหมายไว้จำกัดแถวๆ 1,650 และ 1,700 จุด เนื่องจากปัจจัยหนุนสำคัญของ SET ยังคงอยู่ที่ปัจจัยจากต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งในส่วนของผลกระทบจากพายุเฮอริเคนเออร์มา ในสหรัฐที่ไม่ได้รุนแรงอย่างที่มีการประเมินกันไว้ก่อนหน้านี้ และการที่นักลงทุนเริ่มคลายความวิตกเกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลี ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังคงไม่มีอะไรโดดเด่น โดยเฉพาะความหวังที่จะได้เห็นธนาคารแห่งประเทศไทย ลดดอกเบี้ยเป็นไปได้ยาก แม้ว่าล่าสุดปลัดกระทรวงการคลังจะออกมาตั้งคำถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าจะลดอัตราดอกเบี้ย ในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น โดยมองว่าการลดดอกเบี้ยก็จะช่วยลดการเก็งกำไร ขณะที่เงินเฟ้อก็จะไม่ได้ปรับขึ้นมาสูงเพราะอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว

แต่ดูเหมือนว่ามุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย จะทำให้โอกาสที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยมีความเป็นไปได้น้อย เพราะมองว่านโยบายการเงินของไทยในปัจจุบันยังเป็นระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการมองต่างมุมกับกระทรวงการคลัง คือมองว่าในภาวะปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงติดลบ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สามารถช่วยลดต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจในตลาดตราสารหนี้อยู่แล้ว

ตลาดหุ้นสหรัฐยังคงคึกคักหนุนหุ้นไทย : ในเชิงของปัจจัยที่จะเข้ามามีผลกับตลาดหุ้นโลกนั้น ต้องยอมรับว่าการปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงอีกครั้งของตลาดหุ้นสหรัฐ เป็นอะไรที่ถือว่าบวกสุดๆกับทิศทางของตลาดหุ้นโลก หลังจากที่พายุเฮอริเคนเออร์มา ไม่ได้สร้างความเสียหายมากเท่ากับที่มีการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์กันว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่เกิดจากพายุเฮอริเคนเออร์มา และพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ รวมกันนั้นอาจสูงถึง 2.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.5% ของตัวเลขจีดีพีสหรัฐ ทั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สหรัฐต้องเผชิญกับพายุเฮอริเคนที่มีความรุนแรงติดกัน 2 ลูก ซึ่งจากความเสียหายที่น้อยกว่าคาดของพายุทั้ง 2 ลูก ประกอบกับการที่นักลงทุนคลายความวิตกเกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลี หลังจากที่เกาหลีเหนือไม่ได้ยิงขีปนาวุธ และทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในช่วงฉลองวันชาติที่ผ่านมา

แม้ว่าล่าสุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จะลงมติต่อมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อเกาหลีเหนือ โดยการกำหนดเพดานการส่งน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปยังเกาหลีเหนือก็ตาม ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย กลับเข้ามายังสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้ง สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนีดาวโจนส์พุ่งขึ้นกว่า 200 จุด ทะลุขึ้นมาทำ New High ที่ระดับ 22,000 จุดอีกครั้งในจันทร์ที่ 11 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี เมื่อเราไปพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าหุ้นที่น่าจะช่วยหนุนทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐต่อไปในระยะสั้นน่าจะเป็นหุ้นในกลุ่มพลังงาน แม้ว่าในมุมมองความต้องการใช้น้ำมัน หรือ Demand โกลด์แมน แซคส์ จะคาดการณ์ว่า Demand น้ำมันในสหรัฐจะลดลงราว 700,000 บาร์เรล/วันในเดือนนี้ และ 300,000 บาร์เรล/วันในเดือนหน้า โดยได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุเฮอริเคนที่พัดกระหน่ำสหรัฐ โดยมองว่าพายุทั้ง 2 ลูกจะทำให้บริษัทปิโตรเคมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งพายุเคลื่อนตัวผ่านลดความต้องการใช้น้ำมันลง แต่ Downside ในการปรับตัวลงของราคาน้ำมันถูกจำกัดจากการหารือกันล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระหว่างรัฐมนตรีน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย, เวเนซุเอลา และคาซัคสถาน เกี่ยวกับการขยายเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตให้เกินกว่าไตรมาสแรกในปีหน้า ต่อเนื่องจากการที่ก่อนหน้านี้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปก ได้บรรลุข้อตกลงในการประชุมกัน ในการขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้าไปแล้วตั้งแต่ 25 พ.ค. 2560 แต่ราคาน้ำมันก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นตามที่คาด โดยยังคงถูกกดดันจากการผลิตน้ำมันที่มากขึ้นของสหรัฐ รวมทั้งลิเบียและไนจีเรีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศสมาชิกโอเปกที่ได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : กรณีที่ SET ยังคงปิดเหนือกว่า 1,627 (+/-5) จุดได้ แนะนำใช้เป็นโอกาส “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” กลับมา “ถือเงินสด” หรือ “Wait and See” เพื่อรอซื้อกลับในหุ้น PTTGC, KBANK, SCB, STEC, CK, SCC, LH, SIRI, INTUCH และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคราย 30 นาที (30 Mins)

Source: Wealth Hunters Club

33 views
bottom of page