นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยว่า เศรษฐกิจไทยมาถึงจุดที่แย่ที่สุดแล้ว ขณะนี้อยู่ช่วงการฟื้นตัวแต่ก็คงจะไม่ได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วอย่างที่คาดการณ์กันไว้ คงต้องใช้เวลา ส่วนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ฝืดในฝั่งผู้ประกอบการค้าปลีกก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ขณะนี้เพียงรอการฟื้นตัวของการบริโภค
“ในภาพรวมธุรกิจค้าปลีกปัจจุบันยังไปได้เรื่อยๆ ในช่วงหลายปีมานี้ ต้องบอกว่า ยอดการซื้อขายผ่านออนไลน์แรงมาก ขณะนี้อยู่ที่ 3% ของการซื้อขายทั้งหมด แม้สัดส่วนยังถือว่าน้อย แต่ว่าการเติบโตมันเร็วประมาณ 15-20% โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในวงการค้าปลีกมีการปรับตัว คือต้องเข้าไปสู่ออนไลน์ เพื่อต่อกันระหว่างออนไลน์กับออนกราวด์ คือต้องเชื่อมต่อกันให้ได้ ดังนั้น ส่วนตัวมองว่าการซื้อขายผ่านออนไลน์ไม่ได้มาแย่งสัดส่วนการค้าปลีกในออนกราวด์ แต่จะเป็นการต่อยอดออนกราวด์ให้สามารถขยายฐานลูกค้ามากขึ้นมากกว่า”
นายฉัตรชัยกล่าวว่าปัจจุบัน สัดส่วนยอดขายในภาพรวมของธุรกิจค้าปลีก 3% ที่มาจากออนไลน์ จะมาจาก 2 กลุ่ม คือกลุ่มมาร์เก็ตเพลซ เช่น ลาซาด้า, ลาคูเท็น, อีเลฟเว่นสตรีท และอีกส่วนมาจากพวกรีเทลที่ทำเองหรือที่เรียกว่าอี-รีเทลลิ่ง ในส่วนผู้ประกอบการค้าปลีกเองไม่ได้ห่วงว่าในส่วนออนไลน์จะเข้ามาแย่งยอดขาย ตรงกันข้าม จะมีการเตรียมพร้อมว่าจะทำอย่างไรที่จะเข้าสู่ออนไลน์มากกว่า เพราะออนกราวด์ต้องรีบปรับตัวเองเพื่อรองรับออนไลน์ให้มากขึ้น และต้องปรับให้เร็วด้วย
“ผู้บริโภคบ้านเราคงไม่ใช่แค่ 65 ล้านคน เพราะต้องรวมนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยด้วย เมื่อรวมแล้วมีถึง 100 ล้านคน และยังมีการประเมินอีกว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 60 ล้านคน ดังนั้นฐานผู้บริโภคในไทยจะขยายตัวขึ้นมากถึงประมาณ 120-130 ล้านคนขึ้นไป ดังนั้น ตอนนี้เราไม่ห่วงเรื่องการจับจ่าย แต่รอจังหวะที่ภาครัฐบาลปรับโครงสร้างทั้งหมดจากฐานเดิมไทยแลนด์ 3.0 มาเป็น 4.0 คงต้องใช้ระยะเวลา 3-5 ปี ในการปรับ แม้ว่าช่วงนี้จะซึมๆ แต่ปีหน้ามองว่าภาพรวมและบรรยากาศการซื้อขายจะดีขึ้นแล้ว” นายฉัตรชัยกล่าว
“ส่วนโชห่วย 4-5 พันราย ที่เข้าร่วมโครงการธงฟ้าประชารัฐกับทางกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรองรับสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยว่า ที่ผ่านมาในส่วนโครงการดังกล่าว ก็มีโชห่วยการเข้าร่วมกันอยู่แล้ว คือไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ ถือเป็นภาคปกติที่ทางกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการอยู่ ขณะที่ล่าสุด น่าจะทำให้โชห่วยมีการเข้าร่วมรับสวัสดิการเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง โดยพยายามหาช่องทางให้ผู้ที่ใช้บริการต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าไปใช้ จะทำให้เงินสะพัดขึ้น เพราะเป็นการเอาเงินลงไปที่รากหญ้า แต่จะสะพัดมากน้อยแค่ไหน ยังไม่แน่ใจ”
สำหรับกรณีล่าสุดที่บริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็นประกาศจับมือเทสโก้โลตัส นายฉัตรชัยมองว่า ไทยกำลังเปิดประเทศอยู่ และกำลังเดินหน้าเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 เห็นได้ว่าไม่เฉพาะธุรกิจค้าปลีกที่มีการควบรวมอะไรบางอย่างเข้ามา ธุรกิจอื่นๆ ก็เป็นแบบนี้อย่างเช่นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แสนสิริจับมือกับโตคิว หรือธนาคารกรุงศรีอยุธยามีธนาคารมิตซุยเข้ามาถือหุ้นร่วม ตอนนี้ต้องบอกว่าพอไทยเปิดประเทศและจะก้าวข้ามออกไปนอกประเทศ ถ้าตัวเราเล็กจะก้าวข้ามไม่ได้ ดังนั้นการควบรวมกิจการจะเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่ทำให้สเกลบริษัทของคนไทยใหญ่ขึ้นเพื่อจะออกไปสู่ต่างประเทศ บริษัทต่างประเทศมีขนาดใหญ่กว่า ดังนั้น บริษัทของคนไทยจึงต้องทำให้ตัวมีขนาดใหญ่ก่อน เพื่อไม่ให้เกิดการเทกโอเวอร์ในเวลาต่อมา
“ที่ผ่านมาสิ่งที่เห็นคือส่วนใหญ่กิจการของต่างประเทศ จะขายให้กลุ่มคนไทย เช่น แมคโครฯ, บิ๊กซี, คาร์ฟู, เคเอฟซี ส่วนกรณีของเทสโก้ โลตัส จะมีทั้งความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ที่จะขายกิจการ ต้องไปดูวัตถุประสงค์ล่าสุดที่ทางซีพีเอ็นและเทสโก้โลตัสว่าการจับมือกันครั้งนี้เพื่ออะไร เพราะเท่าที่ดู เงินจดทะเบียนอยู่ที่ 5 แสนบาท ถือว่าต่ำมาก ดังนั้น ยังต้องรอดูทิศทางต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขณะเดียวกันเป็นไปได้จากที่ซีพีเอ็นดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก ความหมายคือเป็นคนหาพื้นที่ และเป็นไปได้ว่าเทสโก้ โลตัสอาจจะยกพื้นที่ให้กับทางบริษัทจอยเวนเจอร์เป็นคนบริหาร และตัวเองเป็นคนทำหน้าที่ไปเช่าแทน เพื่อลดภาระเรื่องการลงทุนต่างๆ และดำเนินธุรกิจต่อไปได้” นายฉัตรชัยกล่าวและมองการจับมือดังกล่าวคงไม่เกี่ยวเรื่องกำลังซื้อที่ตกต่ำ
“แต่หากให้พิจารณา คือเมื่อก่อนการลงทุนต้องใช้เงินจากต่างประเทศเข้ามา เข้าใจว่า บริษัทแม่อาจจะไม่ส่งเงินลงทุนมาแล้ว เพราะฉะนั้น หากต้องการขยายตัว จำเป็นต้องหาเงินลงทุนเอง ซึ่งก็เอาทรัพย์สินที่ตัวเองมีอยู่ขายให้กับคนที่ 3 แล้วตัวเองเข้าไปเช่าแทน จะได้เงินมาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหลักการทำธุรกิจธรรมดาทั่วไป การจับมือ ในเชิงโครงสร้าง ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ไม่ได้กระทบอะไรเลย หรืออีกกรณีที่คุณเจริญเทกโอเวอร์เคเอฟซีก็ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะคุณเจริญมีไทยเบฟเวอเรจอยู่ มีธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ก็จะเป็นการต่อยอดทางธุรกิจกัน เนื่องจากมีเครือข่ายอยู่แล้ว โลกค้าปลีกวันนี้ จำเป็นต้องปรับตัว เพื่อให้ยืนอยู่ได้ในสภาวะที่เศรษฐกิจไทย ยังไม่เข้าที่เข้าทาง”