top of page

ขึ้นต่อเป็นโอกาสในการขายปรับพอร์ต


มองด้านบวก !

ถ้าพิจารณาจากภาพใหญ่จะพบว่าการปรับตัวขึ้นมาของตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากมุมมองต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ภาพรวมของเศรษฐกิจยังคงอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เช่นในสหรัฐเองตัวเลขล่าสุดพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐในเดือน ก.ย.2560 ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน และยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนฮาร์วีย์ และเออร์มาก็ตาม

นอกจากนี้ในเชิงของนโยบายเศรษฐกิจนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงมองว่ามาตรการของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ น่าจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจสหรัฐให้ขยายตัวที่ระดับเหนือกว่า 3% ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้านั้น จากที่อัตราการขยายตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 อยู่ที่ 2.1% ขณะที่ในส่วนของจีนที่เป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ในภาพรวมเริ่มดีขึ้น โดยที่ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจีนซึ่งสะท้อนมุมมองและความคิดเห็นของนักธุรกิจจีนที่มีต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและโอกาสทางธุรกิจปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2555 สอดคล้องกับตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประจำเดือน ส.ค. 2560 ปรับตัวขึ้น 9.1% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 6.252 หมื่นล้านหยวน (9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในไตรมาส 2 ที่ขยายตัว 6.9% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายตลอดทั้งปีของรัฐบาลจีนซึ่งกำหนดไว้ที่ราว 6.5% ทั้งนี้ มุมมองต่อทิศทางของเศรษฐกิจจีนดังกล่าวน่าจะยังคงมีอยู่ต่อไป และจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดหุ้นภูมิภาคด้วย หลังจากที่รัฐบาลจีนยังคงส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยที่ล่าสุดธนาคารกลางจีน (PBOC) ยังคงเดินหน้าอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดการเงิน ผ่านทางข้อตกลงซื้อคืนพันธบัตรที่มีสัญญาขายคืน (Reverse Repo) โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินในระบบ ซึ่งเป็นไปตามแผนของธนาคารกลางจีนที่ต้องการหันมาพึ่งพาการดำเนินการทางตลาดเงิน (Open Market Operations: OMO) เพื่อบริหารจัดการสภาพคล่อง แทนการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือลดอัตราส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR)

ภาพของเศรษฐกิจที่ยังคงดูดีของยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐ และจีน จะส่งผลให้ระดับการยอมรับความเสี่ยงของนักลงทุน หรือ Risk Tolerance ของนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงได้ หลังจากที่ล่าสุดผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนในสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา (7-13 ก.ย.2560) สัดส่วนนักลงทุนที่ยังคงมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังเป็นขาขึ้น (Bullish) ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวขึ้นถึง 12.0% สู่ระดับ 41.3% สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่ยังคงมองว่าตลาดหุ้นสหรัฐกำลังกลับสู่ขาลง (Bearish) ในระยะ 6 เดือนข้างหน้าที่ปรับตัวลงถึง 13.8% สู่ระดับ 22.0%

อย่าลืมจุดเสี่ยงด้านลบ : คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าในภาพรวมนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกยังคงให้น้ำหนักกับภาพที่เป็นบวกของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่อยู่ แต่ “นายหมูบิน” ยังคงเน้นว่าการปรับตัวขึ้นของ SET ในรอบนี้ควรจะเป็นโอกาสให้นักลงทุนขายหุ้นทำกำไร หรือ Take Profit เพื่อปรับพอร์ตออกมาอีกครั้งมากกว่า โดยมองเป้าหมายไว้เบื้องต้นแถวๆ 1,710 จุด เนื่องจากความเสี่ยงที่ตลาดมองข้ามไปในระยะสั้นยังคงเป็นอะไรที่น่ากังวลพอสมควรที่เดียว โดยเฉพาะในส่วนของสหรัฐที่แม้ว่าเลขเศรษฐกิจจะออกมาดี แต่ปัญหาทางด้านการคลัง ที่แม้ว่าล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจะมีมติอนุมัติร่างกฎหมายงบประมาณวงเงิน 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ไปแล้ว แต่ก็มีแนวโน้มที่ร่างกฎหมายงบประมาณดังกล่าว จะเผชิญกับเสียงคัดค้านในวุฒิสภาเช่นกัน และโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งล่าสุด CME Group ระบุว่ามีโอกาสถึง 52.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมในเดือน ธ.ค. 2560 รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะมีการประกาศปรับลดงบดุลจากระดับ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบด้านลบต่อตลาดหุ้นภูมิภาคบ้างไม่มากก็น้อย

ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างกระทรวงการคลัง กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็เป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ล่าสุด รมว.คลัง ออกมาระบุอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยหาก ธปท. จะมีแนวคิดในการปรับกรอบเงินเฟ้อของปีนี้ใหม่ จากที่ปัจจุบันกระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้ร่วมกันกำหนดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อสำหรับปี 2560 ไว้ที่ +/- 2.5% หรืออยู่ในกรอบ 1-4% ซึ่งถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับปลัดกระทรวงการคลังที่ระบุชัดเจนว่าได้เคยเสนอให้ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว

นอกจากนี้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ ธปท. และ “นายหมูบิน” มองว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญคือการที่ออกมายอมรับว่า มีการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินที่ผิดปกติเป็นบางช่วง ซึ่ง “นายหมูบิน” มองว่าจะส่งผลให้การปรับตัวขึ้นของ SET ค่อนข้างเปราะบาง และในกรณีที่ตลาดหุ้นโลกเข้าสู่ภาวะการพักตัว ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสที่จะถูกแรงขายลดความเสี่ยงออกมาก่อนเช่นกัน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : กรณีที่ SET ยังคงปิดเหนือกว่า 1,645 (+/-5) จุดได้ แนะนำใช้เป็นโอกาส “ดีดขึ้นขาย” ในลักษณะ “Short Against” กลับมา “ถือเงินสด” หรือ “Wait and See” เพื่อรอซื้อกลับในหุ้น PTTGC, KBANK, SCB, STEC, CK, SCC, LH, SIRI, INTUCH และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น. เช่นเดิมครับ

**********************************************************************

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคราย 30 นาที (30 Mins)

Source: Wealth Hunters Club

9 views
bottom of page