top of page
379208.jpg

SME บัญชีเดียว = ดีแต่ยาก...ห่วงยังไม่พร้อม ไม่แคล้วหันหาหนี้นอกระบบ


‘เวทย์ นุชเจริญ’ อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงไทย ผู้ทุ่มเทใกล้ชิด เข้าใจให้การสนับสนุนธุรกิจลูกค้ารายเล็ก รายกลางรายย่อย รายใหญ่ เอสเอ็มอีของไทยมาตลอดชีวิตการทำงาน ให้ความเห็นกรณี เอสเอ็มอีบัญชีเดียว ที่ทางการผลักดันในเวลานี้

กรณี SME บัญชีเดียว กำลังเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้?

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนี้ อยากจะเล่าถึงประสบการณ์การดูแลสินเชื่อทั้งรายย่อยและ SME รวมถึงรายใหญ่ด้วย จากที่ทำงานในธนาคารกรุงไทย คือถ้าเป็นบริษัทรายกลาง..รายใหญ่ เราไม่ห่วงเพราะบัญชีเขามีมาตรฐานอยู่แล้ว มีสำนักงานตรวจสอบบัญชีที่ตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากๆ คือ SME

จุดอ่อนที่สำคัญของ SME บ้านเราคือ ไม่มีการทำบัญชี หรือทำบัญชีก็ไม่ตรงตามความเป็นจริงที่ได้ดำเนินธุรกิจมา ส่วนใหญ่เมื่อใกล้ยื่นภาษีก็จะมีสำนักงานบัญชีมาช่วยทำบัญชีและไปยื่นภาษีกับสรรพากร

หัวใจสำคัญในอดีต คือ ทำอย่างไรกับทำบัญชีให้เสียภาษีต่ำที่สุด จึงเป็นสาเหตุเมื่อ SME ไปขอสินเชื่อกับธนาคาร แล้วธนาคารใช้บัญชีนี้พิจารณาการอนุมัติสินเชื่อก็ไม่สามารถปล่อยสินเชื่อได้ เพราะ SME บางรายที่ทำบัญชีให้ขาดทุนบ้าง ทำตัวเลขกำไรให้น้อยที่สุดบ้าง พอเข้าไปวิเคราะห์ตามกฎเกณฑ์ของธนาคารแล้ว SME ก็ไม่สามารถขอสินเชื่อได้

ในอดีตธนาคารจะมีพนักงานเรียกว่า Loan Officer มาปรับงบฯ เพื่อให้ลูกค้าพวกนี้สามารถขอสินเชื่อได้ การปรับงบนั้นก็ต้องเอารายได้รายจ่ายที่แท้จริง ค่าใช้จ่ายต่างๆ มาตัดงบกัน และใส่เข้าไปในสูตรวิเคราะห์การเงินของธนาคารจึงจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้

แล้วตอนนี้เกิดอะไรขึ้น?

ปัจจุบันนี้ รัฐบาลต้องการให้ SME บ้านเรามีการเสริมจุดแข็งทางด้านการทำบัญชีของ SME อาจจะเกี่ยวเรื่องภาษีด้วยหลายอย่าง รัฐบาลก็เลยออก พระราชกำหนดบัญชีชุดเดียว พ.ศ. 2559

ตอนออกพระราชกำหนดนี้ใหม่ๆ รัฐบาลพยายามบอก SME ว่าต้องทำบัญชีเดียว ในช่วงปี 2559-2561 เป็นช่วง 3 ปีที่รัฐบาลให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการทำบัญชีให้ถูกต้อง เดิมคิดว่า SME หลายรายจะใช้ใน พ.ศ. 2562 แต่เมื่อไม่นานมานี้ท่านรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่าจะเริ่มใช้ใน 1 มกราคม 2561 โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังคอยกำกับดูแลสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อให้กับธนาคาร หากธนาคารไหนไม่ปฏิบัติตามหรือหลีกเลี่ยงก็จะเท่ากับสนับสนุนให้ SME หลบภาษี

ผมคิดว่าเรื่องนี้รัฐบาลมีการประชาสัมพันธ์น้อยไป หลายรายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับ SME ผมว่ามีการประชาสัมพันธ์น้อยมาก เพราะจริงๆ SME ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม ผมเป็นกรรมการที่ออกผลิตภัณฑ์ให้ SME Bank คือเขาพยายามเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริม SME โดยถ้า SME รายไหนมีบัญชีเดียวแล้วมาขอสินเชื่อ ก็จะให้ดอกเบี้ยราคาพิเศษ ซึ่งธนาคารกรุงไทยก็มี

สิ่งที่ผมเป็นห่วงเพราะว่าคน 3 กลุ่มที่ต้องมีส่วนร่วมมาก กลุ่มแรก คือ รัฐบาล คิดว่าไม่เผยแพร่หรือประกาศประชาสัมพันธ์ให้ทราบมากเท่าไหร่ SME จึงไม่ค่อยทราบเรื่องนี้ กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มสถาบันการเงิน คิดว่าการเผยแพร่ความรู้ตรงนี้ให้ลูกค้าน้อยเกินไป ในอดีตที่ผ่านมาผมค่อนข้างเห็นใจ SME เพราะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในบ้านเราลำบากมาก ถึงแม้จะมีบัญชีอย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์วิเคราะห์ของธนาคารพาณิชย์แล้ว SME ก็ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ และในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่า SME เป็นลูกค้ากลุ่มที่มี NPL เพิ่มสูงมาก เนื่องจากมีจุดอ่อนเรื่องบัญชี สถาบันการเงินก็เป็นส่วนสำคัญ ที่ผมมองว่ามีความสำคัญมากเพราะใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด กลุ่มที่ 3 คือ ผู้ประกอบการ ...ถึงเวลานี้ผู้ประกอบการบ้านเราจะไม่ให้ความสำคัญไม่ได้แล้วในเรื่องมาตรการ SME บัญชีเดียว เพราะเป็นเรื่องที่ต้องปฎิบัติตามกฎหมายจะทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว

ในอดีตที่ผ่านมาหนี้นอกระบบขยายตัวอย่างรุนแรง เพราะ SME บ้านเรา เมื่อเขาเข้าถึงสถาบันการเงินไม่ได้ก็ต้องไปพึ่งเงินนอกระบบ กลายเป็นเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการยิ่งขึ้น

จากการที่ผมได้สัมผัสกับ SME ทำงานหลาย 10 ปีที่ธนาคารกรุงไทย และในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมาผมยังเห็น SME บ้านเรายังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ผมย้ำเสมอในบทความที่ผมเขียนและมีโอกาสได้บรรยายในที่ต่างๆ คือ SME บ้านเราไปเปิดบัญชีกับธนาคาร เปิดกระแสรายวันหรือออมทรัพย์ก็ได้ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ขายได้หรือรายได้จากการประกอบการต้องมาเข้าบัญชีธนาคารก็จะรู้เลย สมัยผมเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ผมไม่ต้องใช้สูตรในการวิเคราะห์ให้ซับซ้อน ลูกค้ารายไหนมีที่มีบัญชีสะพัดหมุนเวียนมากๆ เราปล่อยสินเชื่อได้และไม่เคยเป็นหนี้เสีย ถ้าเป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดมีเงินทองเข้าออกทุกวัน มีวินัยในการใช้เงิน บัญชีจะเป็นตัวกำหนดวินัยของลูกค้า ก็เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าต้องเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการได้รับทราบ

SME ที่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการทำบัญชี/ทำบัญชีให้ถูกต้อง มีเยอะไหม?

ผมว่ามีเกิน 80% ซึ่งเป็นจำนวนที่มาก แล้วในอดีตที่ผ่านมาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งผมได้ไปสัมผัสและมีส่วนร่วมหลายแห่ง คิดว่าเขาก็ยืดหยุ่นให้ลูกค้าพยายามหาวิธีการที่จะให้สินเชื่อกับลูกค้าโดยมีการปรับบัญชีเพื่อให้ผ่าน แต่ต่อไปสถาบันการเงินเฉพาะกิจก็ไม่สามารถทำได้แล้ว

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ได้เจอผู้บริหารของแบงก์ที่ทำหน้าที่ด้านนี้ก็มีการเตรียมการกันพอสมควร ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เรียกเข้าไปทำความเข้าใจ แต่ สิ่งที่ผมเรียกร้องให้ทำความเข้าใจ คือ ผมอยากให้สภาอุตสาหกรรม/หอการค้า ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดกับ SME มากที่สุดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้กับ SME ในแต่ละจังหวัดด้วย

การทำบัญชีหรือลงบัญชีเพื่อให้เป็น SME บัญชีเดียว ทำให้มีภาระค่าใช้จ่าย?

อันนี้ก็เป็นอีกภาระหนึ่งซึ่งผมก็เป็นห่วงว่า เป็นภาระค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง ผมคิดว่าสภาอุตสาหกรรม หอการค้า น่าจะมีมาตรการช่วยเหลือ หรือรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือ มีสำนักงานบัญชีที่จิตสาธารณะมาช่วยเหลือ ... ก็จะช่วยได้มาก ให้ผู้ประกอบการ SME เขาสามารถลงบัญชีได้ถูกต้อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้

ปัจจุบันอยากจะยืนยันว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับ SME ง่ายมาก ท่านซื้อโปรแกรมมาแล้วป้อนข้อมูลเข้าไป หาก SME ไปจ้างบริษัทบัญชีใหญ่ค่าใช้จ่ายก็จะแพงมาก หรือสถาบันพวกนี้มีหน่วยงานหนึ่งในสังกัดตัวเองทำเหมือนสภาทนายความจิตสาธารณะมาให้บริการ SME ก็จะเป็นการส่งเสริม SME ด้วย

ผมดูตัวเลข NPL เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ขึ้นไปสูงถึง 4% จะ 5% แล้ว ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง คิดว่าทุกฝ่ายต้องช่วย SME คิดว่าหลายบริษัทที่ผมได้บริการดูแลกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ เขาก็ปรับปรุงมีการส่งพนักงานไปเรียนรู้ แต่ SME ที่ยังไม่ได้ดำเนินการก็อยากจะฝากว่า เรื่อง บัญชีเดียว มันเป็นกฎหมายที่ต้องปฎิบัติตามและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเร่งเรียนรู้

แบงก์เฉพาะกิจของทางการมีแคมเปญออกมาให้เยอะแยะ แต่เหมือนขนมเค้กที่ใส่ไว้ในตู้แล้วล็อคกุญแจไว้ 2-3 ชั้น ผู้ประกอบการเข้าไปไม่ได้ และยิ่งมาเจอเรื่อง SME บัญชีเดียวยิ่งเหนื่อย คนกู้ยาก พอจะช่วยให้กู้ได้คนปล่อยกู้ก็มีความผิดด้วย?

มีความเสี่ยงมากเพราะว่าสถาบันการเงินแต่ละแห่งต้องรอบคอบและระมัดระวังมากกว่าเดิม ที่เป็นห่วง คือ ก่อนหน้านี้ธนาคารช่วยดูแลสินเชื่อ ให้การสนับสนุน SME มากเท่าที่จะทำได้ แต่จากนี้พนักงานเองค่อนข้างระมัดระวังพอสมควร แบงก์เฉพาะกิจของรัฐ มีกฎหมายหลายฉบับ มีมากกว่าแบงก์พาณิชย์ มีกฎหมายรัฐวิสาหกิจ กฎหมายปปช. ปปง. มีคนตรวจเยอะมาก

59 views
bottom of page