top of page
379208.jpg

ธ.ก.ส.ชูศูนย์กลางการเงินชนบท....9 เดือนหนุนสินเชื่อกว่า 4.3 แสนล้าน


ธ.ก.ส.เผย 9 เดือนปีบัญชี 60 สนับสนุนสินเชื่อเกษตรกร 4.38 แสนล้าน กำไรแล้วกว่า 7.8 พันล้าน หนี้เสียลดลงเหลือ 5.54% ตั้งเป้าสิ้นปีบัญชีกำไร 9 พันล้าน หนี้เสียเหลือต่ำกว่า 4% พร้อมชงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยครบวงจร-แก้หนี้นอกระบบ 9.5 หมื่นล้าน ประกาศยุทธศาสตร์ปีบัญชี 61 เป็นศูนย์กลางการเงินภาคเกษตรและชนบท ล่าสุด พัฒนาโมบาย แบงกิ้ง ชำระเงินผ่าน QR Code ได้

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงาน 9 เดือน ของปีบัญชี 2560 (1 เมษายน – 31 ธันวาคม 2560) ธนาคารปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร ผ่านผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อยได้ จำนวน 438,000 ล้านบาท ทำให้ยอดสินเชื่อคงค้าง (Outstanding) เพิ่มขึ้นเป็น 1,317,339 ล้านบาท เติบโตจากสิ้นปีบัญชีก่อน 3.16% และมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 1,693,208 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีบัญชีก่อน 4.7%

ส่วนทางด้านยอดเงินฝากรวมอยู่ที่ 1,426,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีบัญชีก่อน 1.4% ขณะที่ทางด้านรายได้รวมอยู่ที่ 68,980 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 61,140 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 7,840 ล้านบาท

สำหรับคุณภาพสินทรัพย์ มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 5.54% ของสินเชื่อรวม โดยมีแนวโน้มลดต่ำลง ซึ่งคาดว่าสิ้นปีบัญชี (31 มีนาคม 2561) NPL จะอยู่ในระดับต่ำกว่า 4% ของสินเชื่อรวม ด้านสถานะเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ระดับ 12.18% สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดที่ 8.50%

“ผลงาน 9 เดือนแรกของปีบัญชี ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นปีบัญชี 2560 ก็จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยธนาคารจะมีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 86,000 ล้านบาท เงินฝากเพิ่มขึ้น 50,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิที่ 9,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะที่ในปีบัญชี 2561 ประมาณการผลว่า สินทรัพย์รวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.74 ล้านล้านบาท สินเชื่อคงค้างมีจำนวน 1.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 93,000 ล้านบาท เงินฝากอยู่ที่ 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 57,500 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการมีจำนวน 4,800 ล้านบาท NPL อยู่ในระดับไม่เกิน 4.00% คุณภาพชีวิตเกษตรกรดีขึ้น 85% กำไรสุทธิ 8,099 ล้านบาท อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ 0.47% และ BIS Ratio อยู่ที่ระดับ 11.22%” นายอภิรมย์ กล่าวและเผยต่อไปว่า

ด้านนโยบายรัฐบาลที่มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก มีนโยบายที่สำคัญ เช่น 1.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ซึ่งมีทั้งโครงการที่ช่วยแบ่งเบาภาระหนี้สิน การลดภาระค่าใช้จ่าย การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2560/61 ที่ได้จ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรไปแล้วจำนวน 3.6 ล้านราย จำนวนเงิน 34,000 ล้านบาท

2.มาตรการส่งเสริมปรับเปลี่ยนการผลิต เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพและลดพื้นที่การทำนาไม่เหมาะสม โดยส่งเสริมการเลี้ยง กระบือ โคเนื้อ แพะ พืชอาหารสัตว์ มีเกษตรกรได้รับการสนับสนุนสินเชื่อกว่า 45,700 ราย เป็นเงินประมาณ 3,000 ล้านบาท

3.มาตรการพัฒนายางพาราทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนสถาบันเกษตรกรในการรับซื้อและรวบรวมยางพารามาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และเชื่อมโยงธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ มีสถาบันเกษตรกรได้รับการสนับสนุน 554 แห่ง วงเงินสินเชื่อกว่า 7,900 ล้านบาท

4. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เพื่อบรรเทาภาระหนี้สิน ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการผลิต เป็นต้น มีเกษตรกรได้รับการช่วยเหลือและสนับสนุนสินเชื่อกว่า 201,700 ราย สถาบันเกษตรกร 221 แห่ง จำนวนเงิน 26,000 ล้านบาท

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวต่อไปว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการจัดการปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนของประชาชนในประเทศ ธ.ก.ส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ พร้อมที่จะเป็นกลไกในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเบื้องต้นคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เห็นชอบให้นำเสนอโครงการที่จะเข้าไปสนับสนุนนโยบายดังกล่าวแบบครบวงจร คือทั้งในส่วนของมาตรการในการพัฒนาตนเองของผู้มีรายได้น้อยในเรื่องความรู้และการบริหารจัดการทางการเงิน มาตรการในการพัฒนาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และมาตรการในการลดภาระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ โดยคาดว่าจะใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อสนับสนุนนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและการแก้ไขหนี้นอกระบบครั้งนี้ประมาณ 95,000 ล้านบาท

“ในส่วนที่รองนายกฯสมคิด (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ) ต้องการให้ ธ.ก.ส.ลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าเกษตรกรอยู่ในระดับต่ำกว่า 7% หากดูจากโครงการชำระดีมีคืน ที่มีการคืนดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรรายย่อยวงเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ที่มีประวัติชำระหนี้ดี 30% จะเท่ากับว่า ธ.ก.ส.ได้ลดดอกเบี้ยให้ลูกค้าเกษตรกรแล้ว คือ อัตราดอกเบี้ยจะลดลง 2.1% จาก 7% เหลือเพียง 4.9% เท่านั้น”

นายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า ธ.ก.ส.ได้กำหนดยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงาน ปีบัญชี 2561 (1เมษายน 2561 - 31 มีนาคม 2562) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการเงินภาคการเกษตรและภาคชนบท (Rural Universal Bank) โดยกำหนดแนวทางไว้ 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตรไทย ประกอบด้วย แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพภาคการผลิต ตามนโนบายภาคการเกษตร และยกระดับสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตร ผู้ประกอบการและองค์กรธุรกิจชุมชนเป็นหัวขบวนในการขับเคลื่อนตลอดห่วงโซ่มูลค่าสินค้าเกษตร แผนงานพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร และสร้างเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน โครงการพัฒนาทายาทเกษตรกร (Smart Farmer) และโครงการพัฒนาสหกรณ์การเกษตรให้มีศักยภาพและการบริการจัดการที่ดี และปรับโครงสร้างการผลิต ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ แผนงานพัฒนาและยกระดับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยให้หลุดพ้นความยากจน ด้วยการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ส่งเสริมพัฒนา อาชีพและแผนงานสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้เกษตรกร

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มพัฒนาบริการทางการเงินครบวงจรและทันสมัย ประกอบด้วย แผนงานพัฒนาและบริหาร ช่องทางอย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาและขยายขอบเขตการบริการผ่านช่องทางดิจิทัล ให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี (Disruptive Technology) โครงการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตรให้เป็นเครือข่ายทางการเงิน แผนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการ ให้ครอบคลุมความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่มตลอดห่วงโซ่และโครงการพัฒนาระบบการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารเงินทุนให้สมดุลเพื่อความมั่นคงและยั่งยืน ประกอบด้วย แผนงานพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการ เพื่อเพิ่มสัดส่วนเงินฝากต้นทุนต่ำ แผนงานบริหารส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิและพัฒนาระบบ Fund Transfer Pricing แผนงานพัฒนาเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และแผนงานดูแลเงินกองทุนให้เพียงพอต่อการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล ประกอบด้วย แผนงานการใช้ Big Data เพื่อบริหารข้อมูลตลอดห่วงโซ่ในหลากหลายมิติ แผนงานส่งเสริมนวัตกรรมและวิจัยสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทั้งองค์กร และลูกค้า/ชุมชน แผนงานประเมินความสำเร็จด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในการเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายของรัฐและโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ แผนงานยกระดับศักยภาพบุคลากรให้มีความเป็นเลิศและเชี่ยวชาญตรงสายงาน แผนงานพัฒนากระบวนการให้เป็นมาตรฐานเพื่อการบริการที่เป็นเลิศและแผนงานส่งเสริมธรรมาภิบาลและคุณธรรมภายในองค์กรตามมาตรฐานสากล

ยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนาศักยภาพชุมชนแบบบูรณาการเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจฐานรากสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสำคัญกับ แผนงานเสริมสร้างความยั่งยืนเชิงนิเวศเศรษฐกิจ แผนงานการเชื่อมโยงตลาดผลิตภัณฑ์การเกษตรและแผนงานให้ความรู้คู่การพัฒนาชุมชนเพื่อสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง และยกระดับสู่ชุมชนอุดมสุข

"ธ.ก.ส. กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจและกรอบความยั่งยืน ที่มุ่งเน้นการดูแลลูกค้า ชุมชนและองค์กรเพื่อให้สอดคล้อง กับทิศทางการพัฒนาประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) สอดรับกับวิสัยทัศน์ พันธกิจและกรอบความยั่งยืนใหม่ โดยยึดถือแนวทาง 4 เป้าประสงค์ 5 ยุทธศาสตร์ ค่านิยมและความสามารถพิเศษองค์กร ขยายการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคาร ภายใต้กรอบนโยบายการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุผลสำเร็จตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้" นายอภิรมย์ กล่าวและเผยอีกว่า

ล่าสุด ธ.ก.ส. ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile สำหรับให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่บนสมาร์ทโฟน เพื่อตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตของกลุ่มเกษตรกรลูกค้ารุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินจากรูปแบบเดิมที่หน้าเคาน์เตอร์บริการของ สาขาสู่การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ผ่านสมาร์ทโฟน ตามแผนยุทธศาสตร์ของธนาคารที่มุ่งพัฒนาการให้บริการทางการเงิน ครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยหยุดนิ่งซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคเกษตรสู่ความยั่งยืนและทันสมัย

ขณะที่ ธปท.ได้รับ ธ.ก.ส.เข้าร่วมทดสอบโครงการ QR Payment ภายใต้กรอบ Regulatory Sandbox ในการให้บริการ QR Code ระบบ Promptpay ตามมาตรฐานที่ ธปท.กำหนดเพื่อรองรับการชำระค่าสินค้าและบริการของผู้ให้บริการรายอื่น โดยกลุ่มที่ให้บริการในโครงการ อาทิ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร (SMAEs) ร้านค้าชุมชน วิสาหกิจชุมชนและชุมชนท่องเที่ยว เมื่อผลการทดสอบผ่านตัวชี้วัดความสำเร็จแล้ว ธ.ก.ส.จะนำ QR Code ออกให้บริการโดยทั่วไป เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการชำระเงินที่สะดวก รวดเร็ว ลดการใช้เงินสด อย่างเต็มรูปแบบต่อไป โดยปัจจุบันมีลูกค้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile แล้วประมาณ 140,000 ราย และธนาคารตั้งเป้ามีลูกค้าดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นภายในสิ้นปีบัญชี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 500,000 ราย

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีบัญชี 2558 จนถึงปัจจุบัน ธ.ก.ส. ได้จัดโครงการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ผ่านผู้นำกลุ่มเกษตรกร ผู้นำชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส. โดยถ่ายทอดความรู้ทางการเงินและบัญชีครัวเรือน ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ รวมถึงการรู้เท่าทันกลโกงรูปแบบต่างๆ ที่มากับเทคโนโลยี และนำไปถ่ายทอดต่อให้กับสมาชิก เพื่อให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ทั้งด้านบริการทางการเงินและระบบบัญชีอย่างเหมาะสม ซึ่งการขยายโครงการในระยะที่ 2 จะเน้นการให้ความรู้ทางด้านการเงินและเทคโนโลยี (Financial & Digital Literacy) แก่เกษตรกรให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยอันเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและมุ่งสู่เป้าหมายภาคการเกษตร 4.0

"ธ.ก.ส. มุ่งมั่น พัฒนา บริการทางการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรลูกค้าให้ก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ไม่เคยหยุดนิ่ง โดยเฉพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ยกระดับเป็นผู้ประกอบการเกษตร หรือ SMAEs ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงช่องทางการตลาดออนไลน์ ที่ช่วยยกระดับราคาสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพของการผลิต การตลาดและการบริหารจัดการ จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรได้หลายเท่า และยังสร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชน คืนความสุขและสร้างมั่งคั่ง มั่นคงให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน" นายอภิรมย์กล่าว

0 views
bottom of page