top of page
379208.jpg

ยังมีลุ้น!! แกว่งตัวขึ้นต่อได้ไม่ยาก


จีนดี และญี่ปุ่นเด่น ! ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมาต้องยอมรับทิศทางของตลาดหุ้นเอเชียค่อนข้างเด่นมากๆ ในสายตาของนักลงทุน และดูเหมือนว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงต่อเนื่องต่อไปได้ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยหนุนออกมาเพิ่มเติมจากจีน และญี่ปุ่นในฐานะพี่ใหญ่ในภูมิภาค

ในส่วนของจีนพบว่าล่าสุดธนาคารกลางจีนยังคงเดินหน้าอัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่านการดำเนินการทางตลาดเงิน (Open Market Operations - OMO) โดยเฉพาะการขายพันธบัตรโดยมีสัญญาขายคืน (Reverse Repo) อายุ 7 วัน มูลค่าเฉลี่ย 8 หมื่นล้านหยวนต่อวัน, ข้อตกลง Reverse Repo อายุ 14 วัน มูลค่าเฉลี่ย 8 หมื่นล้านหยวนต่อวัน และข้อตกลง Reverse Repo อายุ 63 วัน มูลค่า 1 หมื่นล้านหยวนต่อวัน สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารกลางจีนกำลังหันมาพึ่งพาการดำเนินการ OMO มากขึ้นในการบริหารจัดการสภาพคล่อง มากกว่าที่จะมุ่งลดอัตราดอกเบี้ย หรือลดอัตราส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้ผลเสียด้วย

สะท้อนออกมาจากการที่กระทรวงพาณิชย์จีน (MOC) เปิดเผยว่าการบริโภคของจีนฟื้นตัวขึ้นในปี 2560 โดยได้ปัจจัยหนุนจากอุปสงค์สินค้า และการบริการคุณภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่วนใหญ่ได้แรงหนุนจากความต้องการสินค้าคุณภาพ โดยสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าจำพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ หุ่นยนต์ทำความสะอาด และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก ส่งผลให้สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ออกมาระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ตลอดปี 2560 จะขยายตัว 6.9%

ในส่วนของญี่ปุ่นนั้น ในการประชุมคณะกรรมการบริหารของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ครั้งล่าสุด คณะกรรมการได้มีมติคงคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีงบประมาณ 2561 เอาไว้ที่ระดับ 1.4% และคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อเอาไว้ที่ระดับ 1.4% เช่นกัน รวมทั้งคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อในปีงบประมาณ 2562 ว่าจะขยายตัวไปแตะระดับ 2% ได้ แต่ไฮไลต์คงอยู่ที่การที่ที่ประชุม BOJ มติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ให้คงนโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงรุก โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตร โดยมีเป้าหมายที่จะรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อระยะยาวให้เคลื่อนไหวที่ระดับ 0%

ดังนั้นในเชิงแนวโน้มเทคนิคนายหมูบินประเมินว่าตราบใดที่ดัชนี Shanghai Composite ของจีน และ Nikkei ของญี่ปุ่นยังคงยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วันที่ 3,408 และ 23,424 จุด ทิศทางของตลาดหุ้นเอเชียจะยังคงอยู่ในแนวโน้มของการแกว่งตัวขึ้นต่อได้ในระยะไม่เกิน 1 เดือน นอกจากนี้ในส่วนของตลาดหุ้นไทย นายหมูบินประเมินว่าตราบใดที่ SET ยังคงไม่ถอยตัวลงไปต่ำกว่าบริเวณ Fib Node .618 ที่ 1,761 จุด การย่อตัวลงของ SET ในระหว่างสัปดาห์จะเป็นเพียงแค่การพักตัวในระยะสั้น ก่อนกลับขึ้นไปแกว่งตัวเหนือ 1,850 จุดอีกครั้ง

ตลาดหุ้นสหรัฐยังอยู่ในเส้นทาง : ในส่วนของทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐนั้น ยังคงมีอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นต่อไป และปัจจัยที่กดดันเริ่มที่จะคลายตัวลงไปมากแล้ว หลังจากที่ล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ได้ลงนามเพื่อบังคับใช้กฎหมายงบประมาณชั่วคราวแล้ว ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดของภาวะการปิดหน่วยงานรัฐบาล (ชัตดาวน์) และยังเปิดทางให้หน่วยงานส่วนใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง โดยที่การลงนามบังคับใช้กฎหมายงบประมาณชั่วคราวฉบับนี้ จะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณในการบริหารประเทศจนถึงวันที่ 8 ก.พ.2561

ทั้งนี้ผลกระทบดังกล่าวส่งผลให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ และปีหน้าสู่ระดับ 3.9% โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.2% ซึ่ง IMF ระบุชัดเจนว่าตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุจากแรงผลักดันการขยายตัวในระดับโลกที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจากอานิสงส์ของการที่รัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ทำการปฏิรูประบบภาษี ขณะที่ในรายละเอียด IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของสหรัฐในปีนี้สู่ระดับ 2.7% โดยเพิ่มขึ้น 0.4% จากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ในเดือน ต.ค.2560 และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 2.5% ในปีหน้า โดยเพิ่มขึ้น 0.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิม โดย IMF คาดว่าจะได้ผลบวกจากการปฏิรูปภาษี ซึ่งมีการปรับลดอัตราภาษีแงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 21% จาก 35% รวมทั้งยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขการขยายตัวของการค้าและบริการทั่วโลก โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.6% สู่ระดับ 4.6% ในปีนี้ และเพิ่มขึ้น 0.5% สู่ระดับ 4.4% ในปีหน้า นอกจากนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือการที่ IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวโดยรวมของเศรษฐกิจใน 5 ประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งได้แก่ ไทย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม สู่ระดับ 5.3% ในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้น 0.1% จากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 5.3% ในปีหน้าทรงตัวจากตัวเลขคาดการณ์เดิม

ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับประเด็นการเลื่อนการเลือกตั้งนั้น นายหมูบินไม่ได้กังวลกับประเด็นดังกล่าวมากนัก เนื่องจากล่าสุดนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ากรรมาธิการวิสามัญกำลังพิจารณาให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกไปจากเดิม 90 วัน เป็น 120 วันเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเลื่อนออกไปไม่มาก

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ไม่ถอยตัวลงไปปิดต่ำกว่า 1,761 (+/-5) จุดอีกครั้ง การถอยตัวลงระหว่างวันให้ใช้เป็นโอกาสในการ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, SAWAD, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจากนายหมูบินได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น. ทาง FM 101 เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

84 views
bottom of page