top of page
379208.jpg

ibank ม.ค.61 กำไรแล้ว 310 ล้าน...คาด เม.ย.ได้พันธมิตรร่วมทุน


ไอแบงก์เดือน ม.ค.61 มีกำไรครั้งแรกในรอบ 5 ปี สุทธิ 310 ล้านบาท เผย เม.ย.นี้ได้พันธมิตรร่วมทุน หลังร่อนจดหมายเชิญชวน 68 สถาบันการเงินทั่วโลก ขณะที่การแก้กฎหมายให้คลังถือหุ้นเกิน 49% ทั้งสามารถใส่เงินเพิ่มทุน 1.81 หมื่นล้านจะเสร็จภายในเดือนมี.ค. ก่อนเซ็นสัญญากับพันธมิตรพอดี ล่าสุด ยืมมือแบงก์ออมสินสอนวิธีสกัดฟอกเงิน ต่อต้านก่อการร้าย พร้อมสร้างคุณธรรม-ความโปร่งใส

นายวิทัย รัตนากร กรรมการและรักษาการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank) เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม 2561 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงาน 70 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 310 ล้านบาท (กำไรสุทธิส่วนหนึ่งเกิดจากบริษัท บริหารสินทรัพย์ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (IAM) เริ่มทยอยชำระเงินจากการซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีการตั้งสำรองแล้วทั้งจำนวนให้กับธนาคาร) ซึ่งถือเป็นผลการดำเนินงานที่มีผลกำไรเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ทั้งนี้ เดิมธนาคารตั้งเป้าผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนสำรองในปีนี้จำนวน 100 ล้านบาท แต่จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น การปล่อยสินเชื่อในปีที่ผ่านมาและต้นปีนี้แทบไม่มี NPL ใหม่เกิดขึ้นเลย จึงเพิ่มเป้าหมายกำไรก่อนสำรองเป็น 350 ล้านบาท

สำหรับทางด้านการหาพันธมิตรร่วมลงทุนกับธนาคาร ได้มีการยื่นข้อเสนอเชิญชวนให้กับสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 68 ราย ซึ่งปัจจุบันได้คัดเลือกเหลือ 1 ราย จากสถาบันการเงินที่มีคุณสมบัติถูกต้องและเสนอเงื่อนไขดีที่สุด และอยู่ระหว่างการตรวจสอบกิจการ (Due diligence) โดยคาดว่าภายในต้นเดือนมีนาคมนี้จะมีการยื่นข้อเสนอเพื่อร่วมกิจการ และประมาณปลายเดือนมีนาคมน่าจะมีการอนุมัติจากทางการไทย และคาดว่าน่าจะจบสิ้นกระบวนการทั้งหมดในเดือนมีนาคม 2561 อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าสถาบันการเงินที่จะเข้าร่วมทุนด้วยเป็นใคร เนื่องจากยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขห้ามเปิดเผยก่อนการทำสัญญา

ส่วนการเพิ่มทุนธนาคารจำนวน 18,100 ล้านบาท ปัจจุบันการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กระทรวงการคลังถือหุ้นไอแบงก์เกิน 49% เป็นการชั่วคราว อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระ 2 และจะผ่านวาระ 3 เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายภายใน 30 วัน หรือภายในเดือนมีนาคมนี้ ทำให้ในช่วงต้นเดือนเมษายน ธนาคารจะได้รับเงินเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง 2,000 ล้านบาท ตามที่ได้มีการอนุมัติจัดสรรงบประมาณไว้แล้วตั้งแต่ปี 2557 และเงินเพิ่มทุนอีกส่วนหนึ่งจำนวน 16,100 ล้านบาท จะมาจากกองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งเงินมีอยู่พร้อมแล้ว ขณะที่ภายหลังการเพิ่มทุนกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคาร (BIS Ratio) จะเพิ่มเป็น 8.5% เป็นไปตามเงื่อนไขที่พันธมิตรตัดสินใจเข้าร่วมทุน

“ตอนนี้เรามีสินเชื่ออยู่ประมาณ 4.4 หมื่นล้าน เงินฝาก 8.5 หมื่นล้าน (สินเชื่อน้อยกว่าเงินฝากมากเนื่องจากการขาย NPL ให้กับ IAM) ซึ่งเราต้องเร่งขยายสินเชื่อ ปีนี้มีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ 1 หมื่นล้าน โต 23% มั่นใจว่าสามารถทำได้ตามเป้าหมาย” นายวิทัย กล่าว

ทั้งนี้ ล่าสุด ธนาคารออมสินและธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการให้ความช่วยเหลือทางด้านการกำกับการปฏิบัติงาน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ข้อตกลงฉบับนี้จัดทำขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือเพื่อบูรณาการการทำงานระหว่างสถาบันการเงินรัฐ โดยธนาคารออมสินจะส่งเสริมและสนับสนุนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาการดำเนินงานด้านการกำกับการปฏิบัติงาน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะได้ตกลงร่วมกันในการกำหนดรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติของการให้ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นบรรลุวัตถุประสงค์การทำบันทึกข้อตกลงต่อไป

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินได้ให้ความสำคัญกับระบบการควบคุมภายในและการกำกับดูแลการปฏิบัติงานของธนาคาร ให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ทางการ และกฎเกณฑ์ของธนาคาร สำหรับการกำกับการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ธนาคารได้กำหนดให้มีส่วนกำกับการฟอกเงินโดยเฉพาะ มีการปฏิบัติงานเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง สอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้าน

AML/CFT/CPF โดยมีนโยบายการปฏิบัติงานเพื่อป้องกัน ยับยั้ง มิให้ธนาคารถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีกรอบการดำเนินงานในด้านดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน และถือเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบธนาคารออมสิน ซึ่งกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของธนาคารออมสินทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

สำหรับการปฏิบัติงานเพื่อสร้างความโปร่งใสของธนาคารออมสิน เกิดจากบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจำนวน 55 แห่ง นับตั้งแต่ปี 2557 เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยสนับสนุนและดำเนินการให้รัฐวิสาหกิจ มีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงาน (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการพัฒนาหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล โดยธนาคารออมสินได้เข้าร่วมประเมินผลตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินมีคะแนน ITA อยู่ที่ 95.79 จาก 87.24 เมื่อปี 2557 เป็นอันดับที่ 3 จากรัฐวิสาหกิจ 54 แห่ง และเป็นอันดับที่ 6 จากหน่วยงานทั่วประเทศ 442 แห่ง

“ความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อยกระดับการปฏิบัติงานด้านการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงาน และมีการกำกับดูแลการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนานาชาติ” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าว

ด้าน นายวิทัย รัตนากร กรรมการและรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไอแบงก์ ตระหนักดีว่า ธนาคารออมสิน เป็นสถาบันการเงินของรัฐขนาดใหญ่ เป็นผู้นำด้านการกำกับการปฏิบัติงานที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในวันนี้ที่ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารออมสิน โดยเป็นการให้ความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาการดำเนินงานในด้านการกำกับการปฏิบัติงาน ในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) และการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA)

ทั้งนี้การดำเนินการทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การกำกับการปฏิบัติงาน การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ล้วนแต่เป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานที่สถาบันการเงินพึงต้องมีการพัฒนาและยกระดับอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เท่าทันต่อสภาพแวดล้อมในอุตสาหกรรมการเงินที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงให้เป็นไปตามมาตรฐานการปฎิบัติในระดับนานาชาติอันเป็นการสร้างความมั่นใจต่อประชาชนผู้ใช้บริการ รวมตลอดถึงหน่วยงานทางการว่าไอแบงก์เป็นสถาบันการเงินที่ให้ความสำคัญต่อความโปร่งใส ภายใต้นโยบายที่คำนึงถึงความรับผิดชอบสูงสุดต่อทุกภาคส่วน

“ความร่วมมือในครั้งนี้ ระหว่าง ธนาคารออมสินและไอแบงก์ เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างสถาบันการเงินภาครัฐ เพื่อยกระดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพและความโปร่งใสสูงสุดต่อการให้บริการแก่พี่น้องประชาชน ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง” นายวิทัย กล่าว

38 views
bottom of page