top of page

ห่วงนักลงทุนซื้อขายเงินดิจิทัล...ชี้ฝ่ายกำกับดูแลต้องมีชั้นเชิง


อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเลขาธิการ ก.ล.ต. ออกปาก เป็นห่วงนักลงทุนไทยซื้อขายเงินดิจิทัล และ ICO เพราะไม่สามารถฝืนแนวโน้มของโลกได้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลจึงต้องมีชั้นเชิงและก้าวตามให้ทันในระดับที่เหมาะสม เข้มไปก็ไม่ได้อ่อนไปก็ไม่ดี

“ยิ่งล้อมคอกยิ่งเป็นโทษมากกว่าเกิดประโยชน์”

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลขาธิการก.ล.ต. และ รองผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล่าวกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงกรณีกระแสการซื้อขายเงินดิจิทัล และการระดมทุนด้วยการออก ICO ซึ่งเป็นการระดมทุนจากประชาชนทั่วไป ละม้ายคล้ายกับการระดมทุนด้วยการออก IPO เป็นเหมือน “แฝดเทียม” ซึ่งการระดมทุนโดยการออก ICO ยังไม่มีการกำกับดุแลควบคุมจากทางการ ไม่ได้รับการสนับสนุน แต่ก็ไม่ถูกห้าม ซึ่งจะมีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวนไม่น้อยกำลังศึกษาและมีแนวโน้มจะออกระดมทุนด้วยวิธีนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ หลังมีการประกาศขายอย่างเป็นทางการของเจมาร์ทเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

“ส่วนตัวผม ก็ติดตามเรื่องนี้ด้วยความเป็นห่วง เนื่องจากเงินดิจิทัล ใครหรือเอกชนก็สามารถสร้างขึ้นมาได้เอง คือหากมองเรื่องจุดประสงค์ถือว่าดี เพราะว่าสามารถอำนวยความสะดวกให้เอกชนในระยะยาวสามารถโอนชำระเงินกันได้โดยไม่ต้องผ่านระบบแบงก์ตามปกติ ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่า จะประหยัดค่าธรรมเนียม

อย่างเช่นที่มีบางกรณี เช่น พวกอาสาสมัครที่ไปทำงานในที่ลำบากๆ อย่าง แอฟริกา หรือ บางประเทศที่โอนเงินยาก เขาก็จ่ายเงินให้กับอาสาสมัครที่ไปทำงานเป็นเงินดิจิทัล

แม้แต่กรณีของบริษัทโกดักก็เหมือนกัน เดิมคือ โกดักเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายฟิล์ม และพอหมดยุคฟิล์มถ่ายรูป หมดความนิยมไป ในตอนนี้โกดักก็ปรับตัวแล้วหันไปทำธุรกิจในลักษณะคือใครมีรูปดีๆ แล้วต้องการเอาขึ้นเว็บ เผื่อใครจะเอารูปพวกนี้ไปใช้ในการเผยแพร่หรือประกอบเรื่อง แล้วจะจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ให้กับโกดัก ทางโกดักก็จะบริหารจัดการให้ แล้วก็จ่ายเงินให้กับพวกนี้เป็นเหรียญที่ออกมาเฉพาะ คือ โกดัก คอยน์

ฉะนั้น การที่มีเงินดิจิทัล ถือเป็นเรื่องที่ดีในระยะยาวและจะเป็นทิศทางในอนาคต อย่างไรก็ต้องเกิด แต่ปัญหาคือ ถ้าเราไม่ระมัดระวังจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงกัน หรือมาเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไร ก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้”

นายธีระชัย กล่าวด้วยความเป็นห่วง แต่ก็ยอมรับว่า ไม่สามารถปฏิเสธ นวัตกรรมการเงินที่จะเกิดขึ้นใหม่ๆได้ ดังนั้น ฝ่ายที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการคลัง เลขาธิการก.ล.ต. หรือแบงก์ชาติ ต้องกำกับดูแลในระดับที่เหมาะสม

“สำหรับในประเทศไทย หากจะควบคุมกำกับดูแล แบบตัดไม่ให้เกิดการซื้อขายการลงทุน เช่นห้ามทำธุรกรรมผ่านระบบแบงก์ เรียกว่าทำให้เกิดไม่ได้ แบบนั้นก็จะเป็นการฝืนแนวโน้มของโลกอยู่ระดับหนึ่ง

ส่วนตัวคิดว่าวิธีการก็คือ ถ้ามันจะเกิดก็ให้เกิดในลักษณะที่มีการกำกับดูแลในระดับที่พอสมควร เพราะการจะไปออกกฎกติกาหรือกำกับให้เข้มข้น คงจะทำได้ยากมาก เพราะว่าผู้ออกเงินดิจิทัลอาจเลี่ยงไปออกนอกประเทศได้อยู่ดี ซึ่งง่ายมาก

เพราะฉะนั้น วิธีการคิดว่าควรจะต้องหาวิธีกันคนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง คือไม่ให้คนที่ไม่มีคุณสมบัติ หรือรับความเสี่ยงได้ไม่ดีพอเข้าไปยุ่งเกี่ยว เช่นเดียวกับกรณีของหลักทรัพย์เราจะบอกว่านักลงทุนที่เราเรียกว่านักลงทุนไฮเน็ตเวิร์ก คือนักลงทุนที่มีฐานะดี มีศักยภาพ ดูแลตัวเองได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยการคุ้มครองในการกำกับดูแลแบบละเอียด คือยอมรับความเสี่ยงได้ ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้ ทางกลต.จะเปิดให้เข้าไปลงทุนรับความเสี่ยงกันเองได้มากกว่าชาวบ้านปกติทั่วไป

ถ้าเราทำแบบนี้ ใช้หลักการเดียวกันนี้กับการซื้อขายเงินดิจิทัล และ ICO ก็น่าจะเป็นวิธีการกำกับดูแลที่ดี

คือ อย่าไปกำกับที่ตัวโปรดักท์หรือตัวเงินดิจิทัล เหมือนเปิดประตูแบบแง้มๆให้ เปิดให้แคบๆสำหรับคนที่จะเข้าไปยุ่งกับเงินดิจิทัล ให้เป็นเฉพาะคนที่พร้อมรับความเสี่ยงได้พอสมควร ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้ คิดว่าก็จะเป็นวิธีการได้ประโยชน์ทั้ง 2 ด้าน”

นายธีระชัย ย้ำว่า การจะไปล้อมคอก จะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์

“ต้องยอมรับว่า ถึงแม้ว่าจะเปิดให้เข้าไปเฉพาะคนที่มีฐานะ คนที่มีความรู้ หรือคนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ มันก็ยังมีการเก็งกำไร และก็เป็นแบบล่อตาล่อใจคนที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องยอมว่าใครอยากจะไปเล่นกับไฟก็ไป ถ้าเป็นลักษณะแบบนี้ ส่วนตัวมองว่าจะเป็นวิธีการที่จะทำให้การพัฒนาในบ้านเรารองรับกับอนาคตที่มันจะเกิดได้ดีขึ้น

ส่วนคนที่รับความเสี่ยงไม่ได้ แต่ไปเล่นข้างนอก ก็จะเกิดอันตราย ดังนั้น ในแง่การกำกับดูแล การที่จะเปิดช่องให้มีการหลบหลีก ให้คนที่ไม่อยู่ในฐานะรับความเสี่ยงได้ แล้วก็สามารถที่จะเล็ดลอดไปเก็งกำไรตรงนี้ได้ ต้องปิดให้มันครบถ้วน เช่น ที่กำกับการลงทุนในตั๋วบีอีปัจจุบัน เราไปบังคับว่าตั๋วบีอีที่ออกมาจะต้องเป็นใบใหญ่ และกำหนดคุณสมบัติคนที่ซื้อ ก็จะสามารถป้องกันได้ระดับหนึ่ง”

ส่วนกรณีที่ว่าทางการควรสนับสนุน โดยเปิดกระดานเทรดของทางการเสียเองเลย เพื่อกำกับดูแลให้ถูกต้อง มีกฎระเบียบ สำหรับเงินดิจิทัล และ ICO เป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่นั้น

นายธีระชัยกล่าวให้ความเห็นว่า หากก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดกระดานให้มีการเทรดกันนั้น ต่อให้ไม่มีใครเปิดตลาด เขาก็เปิดตลาดเองได้อยู่แล้ว หรือต่อให้ทางการเปิดตลาด ก็ไม่แน่ใจว่าคนที่ลงทุนในส่วนนี้เขาจะมากันหรือไม่ เพราะเขาสามารถทำตลาดเองได้ไม่ว่าจะภายในหรือนอกประเทศ ในแง่นี้ไม่มีใครคุมได้

“เพราะฉะนั้น การที่ทางการเข้าไปรับรู้ รับทราบ ตั้งตลาดอะไรให้ ก็จะกลายเป็นว่าเราไปให้ความน่าเชื่อถือผลิตภัณฑ์เหล่านี้เกินเหตุ เชื่อว่าคนที่เกี่ยวข้องนั้น เป็นกลุ่มที่รู้ความเสี่ยงอยู่แล้ว และรู้ในแง่ข้อดีข้อเสียอยู่แล้ว

ตรงนี้เราเองก็คงไม่ต้องกังวลมากเกินไป อย่าลืมว่าเงินดิจิทัลเวลาเก็งกำไรแล้วราคาสูงเกินไป ถ้ามันเกิดเลิก ก็จะไม่มีอะไรเหลือเลย มันไม่มีทรัพย์สิน ไม่เหมือนกับตัวหุ้นบริษัท ซึ่งบริษัทอย่างน้อยยังมีทรัพย์สินหักหนี้สินออก ยังเหลือในส่วนของผู้ถือหุ้น แต่สำหรับเงินดิจิทัลไม่มีอะไรเหลือเลย”

สำหรับการที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวนไม่น้อย ที่เตรียมจะออก ICO ตรงนี้จะสะท้อนว่าการออกแบบเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน IPO หุ้นกู้ หุ้นบุริมสิทธิ มันไม่ได้ผลแล้วหรือไม่นั้น นายธีระชัยกล่าวว่า คิดว่าการออกเงินดิจิทัลจะต้องไม่ใช้เป็นกระบวนการระดมเงินเข้ามาเพื่อที่จะใช้ในบริษัท

“ตรงนี้ต้องตีความให้ชัดว่าผิดกฎหมาย คือการออกเงินดิจิทัลเพื่อที่จะใช้ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า มีเดียม คือเป็นอุปกรณ์ในการเอื้ออำนวยในการชำระเงินตรงนี้ ก็พอไปได้ แต่หากใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเลี่ยงในการออกหุ้นกู้ในการที่จะออกตั๋วเงิน ในการที่จะกู้เงิน หรือระดมทุน ตรงนี้ต้องชี้ออกมาเลยว่าผิดกฎหมาย

ดังนั้น ต้องปิดช่องนี้ไปเลย ไม่ให้กลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาออกอะไรตรงนี้ เพื่อหาเงินมาใช้ในบริษัท ต้องถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หากกระบวนการที่จะทำตรงนี้ให้เกิดขึ้น คือต้องไม่ได้เอาเงินมาใช้ภายในบริษัท

หากเขาเลี่ยง บอกว่าตั้งบริษัทลูกขึ้นมาทำ ไม่ได้ทำเอง ถ้าอย่างนี้ ก็ต้องมานั่งแยก ว่าถ้ามันเป็นการตัดเป็นบริษัทลูก และทำเพื่อให้เกิดความสะดวกในการชำระเงิน ส่วนตัวมองว่าตรงนี้รับได้ แต่ว่าก็จะมีปัญหาเรื่องการบริหารความเสี่ยงของบริษัทจดทะเบียนที่จะเอาตัวนี้มาประกอบกัน เพราะว่าการที่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง จะว่าโดยตัวเองหรือบริษัทลูก เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการซึ่งวันหนึ่งเกิดปัญหาฟองสบู่แตก เกิดปัญหาเก็งกำไรที่มันเกินเหตุและคนได้รับความเสียหาย ทำให้ความเสี่ยงต่อชื่อเสียงมันลามกลับมาที่ตัวบริษัทได้

ในส่วนนี้มองว่าในแง่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ถ้าจะห้ามบริษัทจดทะเบียนเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ถ้ามันจะเกิดความเสี่ยงต่อตัวบริษัท ก็คิดว่ามีเหตุผลที่จะห้ามได้”

อย่างไรก็ตาม เท่าที่เห็นในตอนนี้ อะไรก็ฝากไว้ที่ ก.ล.ต.ให้ออกกฎเกณฑ์ กติกา ต่างๆนั้น ส่วนตัวมีข้อแนะนำว่า ในส่วนที่จะใช้กระบวนการนี้ เพื่อจะเลื่อนกฎหมายในการระดมทุน ต้องทำการห้ามไว้ นอกจากนี้ ในแง่ของการที่จะเปิดช่องให้มีการเล็ดลอดออกไป การเก็งกำไรนี้มันจะไปสู่ชาวบ้าน คนที่ไม่อยู่ในฐานะรับความเสี่ยงได้ ก็ต้องหาทางป้องกัน หากว่าทำอย่างนั้นได้ แล้วให้คนที่เกี่ยวข้องเป็นเฉพาะกลุ่มที่พอรับความเสี่ยงได้ และเราปิดความเสี่ยงที่มันจะไหล่บ่าไปกระทบบริษัทจดทะเบียน ต่อสถาบันการเงินได้ คิดว่าตรงนี้ก็พอบริหารจัดการได้ เราดูในแง่กันความเสี่ยงไม่ให้กระจายไปโดนชาวบ้านจะดีกว่า คือไปให้การยอมรับอย่างเป็นทางการ ดูจะไม่เหมาะ

11 views
bottom of page