top of page
379208.jpg

Trade War ทรัมป์เอาจริง...แนะไทยเข้าร่วม CPTPP


เตือนไทยรับมือสงครามการค้า Trade War หลังจากผู้นำสหรัฐอเมริกาเปิดฉากตั้งกำแพงภาษีเล่นงานเหล็ก-อะลูมิเนียม ตามหลังเครื่องซักผ้า-แผงโซลาร์เซลส์ไปก่อนหน้านี้ มอง “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้นำแปลกประหลาดยังคงจะมีมาตรการแผลงๆ ออกมาเล่นงานสินค้าต่างชาติ เอาเปรียบสหรัฐอีกและอาจเจอการตอบโต้กลับ ด้วยมาตรการภาษีจนถึงสารพัดมาตรการด้วยข้ออ้างเพื่อความมั่นคงของประเทศ อาจกลายเป็นการนำโลกเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำสุดแบบปี 1929 เศร้ากันทั้งโลกและตามด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 (2484-2488) แนะไทยแต่งตัวเข้าร่วมวงไพบูลย์ประชาคมเศรษฐกิจ CPTPP 11 ชาติ โฉมใหม่ TPP ไร้เงาสหรัฐอเมริกาลดความเข้มข้นกติกาไปเยอะ มองเป็นโอกาสดี มีหลายชาติสนใจเข้าร่วม แม้กระทั่งอังกฤษ คิดเข้าร่วมหลังออกจาก EU

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงเรื่องที่สหรัฐอเมริกาเปิดยุทธการ Trade War ถือว่ามีความน่ากลัว ต้นเหตุจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาตรการภาษีเหล็ก, อะลูมิเนียม หรือเครื่องซักผ้า และแผงโซลาร์เซลส์ก่อนหน้านี้ โดยเมื่อดูจากในอดีตที่ผ่านมามีมาตรการ Anti-Dumping ทางสหรัฐอเมริกาได้มีการตรวจสอบว่าสินค้าเหล่านี้ขายในราคาถูกได้อย่างไร การออกมาตรการเรื่องภาษีคิดว่าเดินตามเกม คือ ทุกประเทศสามารถทำได้หมดหากมีการทุ่มตลาดจริง สหรัฐอเมริกาก็สามาถจัดเก็บภาษีเพิ่มได้ แต่ที่มีประเด็นโต้แย้งตรงที่เวลาเกิดการสืบสวนสอบสวนลักษณะนี้ ผู้กล่าวหาจะทำการสืบสวน พิจารณา หาข้อมูล และยังตัดสินเองด้วยทั้งหมด เทียบกันกับเป็นตำรวจ อัยการ และศาล ในคนเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมเพราะข้อมูลอาจจะผิดเพี้ยนไปถือว่าไม่ดี

ขณะที่การกระทำที่ไม่ดีมากตอนที่สหรัฐอเมริกามีการประกาศเรื่องมาตรการภาษีเหล็กกับอะลูมิเนียมเพราะทางสหรัฐอเมริกาอ้างว่าปริมาณเหล็กและอะลูมิเนียมที่เข้ามาประเทศจำนวนมากขณะนี้ทำให้ความมั่นคงของประเทศมีปัญหา การอ้างแบบนี้ทำได้หรือไม่โดยใช้มาตรการ 232 ที่ออกมาในปี 1962 ซึ่งเป็นกฎหมายในประเทศ แต่ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาไม่เคยใช้กฎหมายในลักษณะแบบนี้ อาจเคยพยายามใช้อยู่ครั้งหนึ่งแต่สุดท้ายไม่ได้ใช้เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรมาก แต่วันนี้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาใช้กฎหมายนี้ใหม่ สรุปว่ามีโอกาสเกิด Trade War เพราะมีหลายประเทศที่โดนเก็บภาษีไปถึง 10 ประเทศที่ได้เข้าไปขาย อย่างเช่น แคนนาดา หรือ เม็กซิโก ภาพรวมถือว่าคนไม่สบายใจกัน อาจจะเกิดได้แต่คงไม่ตอบโต้สหรัฐอเมริกา เพราะทุกคนมีสิทธิ์อ้างเรื่อง Trade War ได้ สมมุติประเทศไทยมีการอ้างความมั่นคงก็ป้องกันไม่ให้สินค้าราคาถูกเข้ามาได้เช่นกัน

“อย่างปัญหาเรื่องหมู่บ้านเราที่มีปัญหาก็จะลามไปถึงความมั่นคง เพราะความมั่นคงสามารถอธิบายได้หลายอย่าง ความน่ากลัวของ Trade War คือ ทุกคนขึ้นภาษีหมดเพื่อปกป้องตัว เพราะฉะนั้นก็กลับไปสู่ยุคโบราณ อย่างยุคโบราณก่อนที่จะมี WTO ข้อตกลงเรื่องภาษีทางการค้า แต่ทุกคนต่างกลับไปยุคเดิมเพื่อไม่ให้สินค้าเข้ามาเยอะแต่อยากขายเยอะซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะเป็นยุคสมัยสงครามแต่ก่อน ยกตัวอย่าง ในปี 1929 มีปัญหาในลักษณะแบบนี้คล้ายกันเพราะเศรษฐกิจไม่ดีตกต่ำมาก ได้มี ส.ส.และส.ว.สหรัฐ 2 ท่านออกกฎหมายแบบนี้ปกป้องตลาดสหรัฐฯโดยปรับขึ้นภาษี เพราะถ้าขึ้นภาษีแล้วก็จะซื้อน้อยลง ขาดดุลทางการค้าน้อยลง เศรษฐกิจจะดีขึ้น เมื่อคิดแบบนี้แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็เหมือนกับวันนี้ เพราะทุกประเทศปิดกั้นหมด” นายพรศิลป์กล่าวและว่าผลจากมาตรการปกป้องตลาด ทำให้ในปี 1930-1932 เกิดดีเปรสชั่นทั่วโลก และลุกลามมาถึงประเทศไทย หลังจากนั้นก็เกิดสงครามโลกขึ้น ปัญหาอาจจะใกล้เคียงกันแต่ก็เกิดปัญหาที่เข้าใจเหมือนกันว่าสินค้าแพง ค้าขายไม่ได้เพราะต้นทุนแพงมาก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ได้เห็นและประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็กำลังจะทำแบบนี้ คิดว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวเหมือนกัน

“ส่วนข้อตกลงใหม่ในนาม CPTPP ที่มี 11 ชาติเข้าร่วม ปราศจากสหรัฐอเมริกา โดยมีขนาดเศรษฐกิจ 13.5% ของ GDP และมีประชากรประมาณ 500 ล้านคนนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าติดตาม ผมคิดว่าไทยน่าจะเข้าไปร่วมด้วยเพราะในยุคแรกสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎระเบียบเข้มทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เกษตรกรรม หรือ สิทธิของเอกชนฟ้องรัฐ ซึ่งเป็นกฎระเบียบใหม่เทียบเท่าการจัดการทางด้านกฎหมายการค้าในสหรัฐอเมริกา โดย TPP ในสมัยอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา ต้องการทำให้สหรัฐอเมริกากลับมาใหม่ได้ในรูปแบบที่สามารถเขียนกฎระเบียบเองและมีหลายประเทศมาร่วมมือกัน เพราะสหรัฐอเมริกาจะมีความได้เปรียบขึ้นมา หมายความว่าทุกคนจะขายอะไรจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบใหม่ที่ตกลงกัน ได้มีกว่า 10 ประเทศที่เข้าร่วมเพื่อเป็นการชี้นำแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกากำลังลำบากก็พยายามดึงตัวเองให้ฟื้นขึ้นมา สิ่งที่เห็นด้วย คือ เป็นการพัฒนาตลาดสหรัฐอเมริกาให้เก่งขึ้น เป็นการดึงคนอื่นให้ขึ้นมาเทียบเท่าซึ่งคนอื่นก็ต้องทำงานหนักขึ้นเช่นกัน หากต้องการเข้าตลาดสหรัฐอเมริกาก็ต้องทำตามกฎระเบียบ แต่เมื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีเข้ามาก็ปฏิเสธไม่เอา TPP”

นายพรศิลป์กล่าวว่าตอนสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ได้กล่าวสุนทรพจน์กับรัฐสภาสหรัฐก่อนที่จะลงจากตำแหน่งว่า ถ้าเรื่อง TPP ผ่านจากรัฐสภาสหรัฐจะทำให้สหรัฐอมริกาสามารถที่จะต่อสู้กับจีนได้ เพราะว่าประเทศจีนอาจจะเป็นสีเทาในเรื่องการค้า ทุกวันนี้จีนได้สร้างอิทธิพลในเอเชียสูง อาจเคยได้ยินเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีใหม่อาเซป คือ อาเซียน+6 ทำให้พื้นที่ตรงนี้จีนจะได้ไปและจะมีพลังสูงมาก เพราะฉะนั้นสหรัฐอเมริกาควรจะมี TPP เพื่อที่จะดึงธุรกิจกลับไปเพื่อที่สามารถเดินหน้าได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ไม่เอา TPP ทำให้อีก 11 ประเทศมองว่ายังสามารถทำ TPP ต่อได้เพื่อให้สหรัฐอเมริกากลับเข้ามา โดย TPP ทำไว้เพื่อมีข้อตกลงร่วมกันตั้งแต่อเมริกาใต้ เหนือ-มาจนถึงเอเชีย ปัจจุบันข้อตกลงหย่อนลงกฎหมายที่สหรัฐอเมริกาเขียนไว้ได้ถูกตัดทิ้งออกไปหมดประมาณ 20 ข้อ ส่งผลทำให้การทำงานง่ายขึ้นก็เป็นผลดีที่ไทยควรจะเข้าไปเพราะเป็นเวทีใหม่ที่จะทำการค้าง่ายขึ้นกับหลายประเทศทางตะวันตก เพราะสมัยก่อนไทยมองว่ากฎของ TPP เข้มงวดเกินไปจึงไม่กล้าเข้าไป ขณะที่เวียดนามหรือสิงคโปร์ก็ได้ประโยชน์จากการเข้าร่วม TPP หรือกลุ่มประเทศในอาเซียน 4-5 ประเทศได้เข้าไปอยู่ใน TPP นั้นแล้ว ไทยควรจะเข้าไปเพื่อเอาเวทีนี้มาอยู่กับตัวเอง แต่ประเด็นสำคัญที่จะเตือน คือ ไทยชอบคิดที่จะเข้าเวทีแต่ไทยไม่ชอบคิดพัฒนาจึงเป็นปัญหา ถ้าคิดจะเข้าไปอยู่ในนั้นแต่ไม่ทำอะไรก็ไม่เกิดประโยชน์เปรียบเสมือนตีตั๋วแต่ไม่เข้าไปดูหนัง ขณะที่อังกฤษกำลังจะเข้าร่วม TPP หลังจากที่ออกจาก EU เมื่อเป็นอิสระก็อยากจะเข้าร่วมด้วย

“สำหรับการตั้งกำแพงภาษีเหล็ก-อะลูมิเนียมต่างประเทศครั้งนี้ ผมมองว่าประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นคนแปลกประหลาดมากจากการใช้กฎหมายไม่เสมอภาคเพราะมีการยกเว้นแคนาดาและเม็กซิโก ปรากฏว่า NAFTA จะให้อะไรกับสหรัฐฯกลับมา คิดว่าคงไม่ได้เต็มที่เพราะให้แคนาดาและเม็กซิโกไปแล้วก็คงจะสบายแล้วตอนนี้ ของไทยก็ได้รับผลกระทบนิดหน่อยเพราะส่งเหล็กไปสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นไทยก็จะโดนด้วยแต่ก็ต้องไปดูพิกัดว่ามีอะไรบ้างที่โดน ถ้าเป็นอย่างนี้ไทยต้องรีบเจรจาเหมือนกันเพราะสหรัฐฯก็เปิดให้เจรจา ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก EU และ ญี่ปุ่นกำลังเตรียมตัวเข้าไปเจรจา คือ ถอนตัวเองออกจากกฎระเบียบใหม่โดยไม่ต้องจ่ายภาษี ถือว่าสหรัฐฯมีการเปิดช่องซึ่งไทยต้องรีบไปเจรจาเพราะยังมีโอกาสอยู่ ต้องรอดูว่าสงครามการค้าจะเกิดหรือไม่แต่ยังหวังว่ายังไม่เกิดเพราะถ้าเกิดไทยจะเสียเปรียบมาก”

124 views
bottom of page