อาการน่าเป็นห่วงหลังระฆังเทรดวอร์ยกสองลั่นขึ้น ประธานสี แย็บหมัด ประธานาธิบดีทรัมป์ ด้วยการขึ้นภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้า 128 รายการ ส่งผลดาวโจนส์ร่วม 500 จุด ขณะที่ S&P ตกลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันเป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือน ประกอบเดือนเมษาหยุดยาวๆ ส่งผล SET Indexจั๋งหนับ นักลงทุนระวังโดนงับเพราะหุ้นซิกแซกสลับฟันปลา... โบรกเกอร์แนะเลือกซื้อขายหุ้นถูกตัวยังพอไหว
ความกดดันยังปกคลุมเหนือตลาดหุ้นต่อไป โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าที่ จะมีข่าวสลับเข้ามาให้กังวลกันเป็นระยะต่อจากนี้ หลังจากที่ ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งอเมริกา เปิดฉากประกาศเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียม แม้จะมีท่าทีจะเจรจากันระหว่างอเมริกาและจีน แต่ล่าสุดกลับกลายเป็นว่าจีนประกาศขึ้นภาษี 25% สำหรับสินค้า 128 รายการเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกถูกเขย่า ทั้งตลาดยุโรป เอเชีย ดาวโจนส์ ที่น่าจับตาคือตลาด S&P500 ที่ขายกันออกมาหนักจนดัชนีหลุดลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ เดือนมิถุนายน 2559 ซึ่งการปรับลดลงของตลาด S&P นี้ทำให้เป็นข้อกังวลสำหรับนักลงทุนว่าจะเป็นแรงกดดันให้หุ้นเป็นไปในทิศทางขาขึ้นลำบาก และมีแนวโน้มจะเป็นขาลงได้มากกว่า เนื่องจากที่ระดับเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันนั้นคือแนวรับจิตวิทยาที่สำคัญ
กระแสกดดันนี้ส่งต่อมาถึงตลาดหุ้นไทยด้วย เนื่องจากปัจจัยสงครามการค้า โดยเฉพาะคู่ปรับระหว่างอเมริกากับจีน ที่ดูจะเป็นปัญหาแล้ว ยังต้องคอยจับตาด้วยความวิตกกังวลกรณีสงครามเย็นระหว่างรัสเซียกับอังกฤษและพันธมิตร รวมทั้งกรณีของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในครั้งต่อๆไป ตลอดจนปัจจัยภายในประเทศเรื่องการเมืองทีคุกรุ่น แม้จะมีกระแสออเจ้าการะเกด แต่ก็กลบกระแสความกังวลหลักเรื่องการเมืองที่นักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักมากไม่ได้
จากปัจจัยกังวลทำให้ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 ไม่น่าจะเคลื่อนไหวไปได้ไกล และมีทิศทางผันผวนขึ้นลงสลับฟันปลามากกว่า ขณะที่หุ้นที่จะนำตลาดกลุ่มหลัก ทั้งพลังงานและแบงก์ ยังสะบักสะบอมจากข่าว ราคาน้ำมันที่อาจไม่ปรับตัวไปได้ไกลกว่านี้หลังจากราคาเข้าใกล้ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่หุ้นแบงก์อยู่ในภาวะที่ถูกกระแสกดดันในระยะสั้นกรณีการทำสงครามฟรีค่าธรรมเนียมกันอยู่ ทำให้ราคาหุ้นแบงก์ถูกขายด้วยความกังวลในเรื่องของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยจะหดหายไป กว่าจะตั้งหลักได้คงอีกระยะหนึ่ง ขณะที่หุ้นเล็กยังไม่ใช่หุ้นที่จะมาช่วยฟื้นฟูตลาดได้ และล่าสุดหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทนก็ตกที่นั่งลำบาก เมื่อกระทรวงหลังงานมีนโยบายชะลอการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนช่วง 5 ปี(2561-2565) เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ และต้องการยืดหยุ่นเวลาในการศึกษา EHIA
ดังนั้นจึงประเมินว่าในไตรมาส 2/2561 ตลาดหุ้นไทยอาจเดินหน้าต่อไปลำบาก และจะเคลื่อนไหวไซด์เวย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนเมษายนนี้ ที่มีวันหยุดยาวๆ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเลือกหุ้นลงทุนในพอร์ท
บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี หรือ AECS ให้ความเห็นว่า ตลาดยังคงให้น้ำหนักกับการประกาศรายงานภาวะตลาดแรงงานของสหรัฐฯ วันศุกร์ที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สะท้อนถึงแนวโน้มการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อ และเป็นตัวแปรสำคัญที่เฟดใช้เป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายทางการเงิน
ทั้งนี้หากตลาดกลับมากังวลต่อทิศทางการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อที่เร็วขึ้น กดดันให้ Bond Yield สหรัฐฯ ดีดตัวสูง และทำให้เฟดพิจารณาการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อ กดดันการฟื้นตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศ
“ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย ช่วงเดือนเมษายนมองว่ายังขาดปัจจัยหนุนภายในประเทศ โดยแกว่งตัวในกรอบแคบๆ อีกทั้งยังถูกแรงกดดันจากปัจจัยลบในต่างประเทศ ส่งผลให้ภาคการลงทุนยังคงผันผวนอย่างต่อเนื่องโดยให้กรอบการลงทุนแนวรับ และแนวต้านไว้ที่ระดับ 1,760-1,795 จุด”
สิ่งที่กังวลกันคือ ดัชนีหุ้นไทยไม่ควรหลุดจากแนวรับ 1,760 จุด เพราะจะทำให้การไหลลงของหุ้นลงลึกขึ้นเรื่อยๆ ไปทดสอบ 1,760 และ 1,730
“หากดัชนีสามารถยืนเหนือระดับ 1,760 จุด แนะนำ ทยอยขาย หากมีกำไร และทยอยซื้อ หุ้นกลุ่มพลังงานอาทิ PTT, PTTEP เนื่องจากได้อานิสงส์ราคาน้ำมันยังทรงตัวสูง และไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นใหม่ นอกจากนี้ ยังแนะนำหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ อาทิ KBANK , SCB , BBL , TMB เนื่องจากเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากที่ราคาปรับตัวลดลงในช่องก่อนหน้าจากแรงกดดันสงครามค่าธรรมเนียม พร้อมทั้งยังคงแนะนำหุ้นกลุ่ม Domestic Play อาทิ BCH, RJH, MINT, ERW เนื่องจากมองว่ายังมีอัตราการเติบโตที่ แข็งแกร่ง รวมทั้งหุ้นที่จะประกาศจ่ายเงินปันผล ได้แก่ KKP, AIT, SC, AP, LH”
นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ ให้ความเห็นว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในเดือน เมษายน 2561 มีแนวโน้มเคลื่อนไหวทรงตัวในกรอบ 1,760 – 1,850 จุด เนื่องจากอยู่ในช่วงหยุดสงกรานต์ ประกอบกับอยู่ระหว่างรอติดตามและประเมินปัจจัยลบจากต่างประเทศ เกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐว่ากระทบในวงกว้างหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินว่าการจ่ายเงินปันผลของ บจ.ต่างๆ จะเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนดัชนีในเดือนเมษายนนี้
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเสี่ยงนี้ ยังมีเรื่องของความคาดหวังเชิงบวกนั่นคือการเริ่มทยอยประกาศผลการดำเนินงานและการปันผลของ บจ. ซึ่งหากเลือกลงทุนถูกตัวก็อาจทำกำไรได้เช่นกัน
“จากสถิติ 5 ปีย้อนหลังผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยในช่วง เมษายน มีผลตอบแทน +1.15% จากปัจจัยบวกทางฤดูกาลช่วงจ่ายเงินปันผลของ บจ.ต่าง ๆ และรอประเมินผลประกอบการในช่วง Q1/61 โดยฝ่ายวิเคราะห์ประเมินกําไรในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีมีโอกาสขยายตัว (QoQ) จากราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ทรงตัวเหนือระดับ 60 เหรียญ/บาร์เรล และสเปรดผลิตภัณฑ์ HDPE- Naptha อยู่ที่ 850 เหรียญ/ตัน ส่วนกลุ่มธนาคารพาณิชย์นั้นสินเชื่อ 2 เดือนยังหดตัว -0.06% YTD แต่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น BBL, KBANK, SCB สินเชื่อยังขยายตัวได้ดี แต่รายได้ธรรมเนียมมีแนวโน้มแข่งขันสูงขึ้นจากนโยบายฟรีค่าธรรมเนียมโอนออนไลน์ แต่คาดจะกระทบกําไรสุทธิราว 3% แนวโน้มกําไรกลุ่มธนาคาร Q1/61 น่าจะยังขยายตัว (QoQ)
“ช่วงเดือนที่ผ่านมา ผลการประชุม FOMC มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% และคงคาดการณ์การปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐปีนี้ไว้ที่ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ผ่อนคลายขึ้น แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาผันผวนอีกครั้งจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐ – จีน ที่อาจจะส่งผลให้การค้าโลกชะลอ ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศ กนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% และปรับคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้สู่ระดับ 4.1% โดยได้แรงหนุนจากภาคส่งออกและท่องเที่ยว ส่วนประเด็นการเมืองยังต้องรอความชัดเจน กรณี สนช. อาจเข้าชื่อยื่นขอตีความ พ.ร.บ.เลือกตั้ง สส. จะกระทบโรดแมปเลือกตั้งหรือไม่”นายอภิชัยกล่าว
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในเดือน เมษายน นี้ แนะนํา Selective Buy กลุ่มธนาคาร BBL, TISCO ได้รับผลกระทบน้อยจากการแข่งขันลดค่าธรรมเนียมโอน กลุ่มพลังงาน & ปิโตรเคมี PTT, PTTEP,PTTGC,IVL กลุ่มส่งออกอาหาร CPF, GFPT, TFG กลุ่มท่องเที่ยว ERW, MINT, CENTEL กลุ่มค้าปลีก ROBINS, GLOBAL และกลุ่มโรงพยาบาล BDMS, BCH