top of page

Sell in May อย่าเพิ่ง Go Away


ความเสี่ยงระยะสั้น ! เมื่อพิจาณาจากปัจจัยในเชิงฤดูกาล หรือ Seasonality พบว่าความกังวลเกี่ยวกับประเด็น “Sell in May and Go Away” อาจจะส่งผลในเชิงจิตวิทยากับทิศทางของตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นๆบ้าง เนื่องจากสถิติในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) แม้ว่าดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นสหรัฐในเดือน พ.ค. จะปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 1.6% ด้วยระดับ Winner Percentage สูงถึง 100% หรือปรับตัวขึ้นทุกปีในเดือน พ.ค. แต่ถ้าไปพิจารณาจากสถิติของดัชนี MSCI World ตลาดหุ้นโลก, ดัชนี MSCI Europe ของยุโรป และดัชนี MSCI Asia ex Japan ตลาดหุ้นเอเชีย ในเดือน พ.ค. พบว่าปรับตัวขึ้นเฉลี่ยเพียง 0.5%, 0.7% และ 0.3% ด้วยระดับ Winner Percentage เพียง 40%, 60% และ 40% ตามลำดับ

ส่วนดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยแย่กว่านั้นคือปรับตัวลงเฉลี่ย 0.6% ด้วยระดับ Winner Percentage เพียง 40% ซึ่งถ้าเทียบกับราคาน้ำมันดิบที่สถิติเดือน พ.ค. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 1.48% ด้วยระดับ Winner Percentage สูงถึง 60% ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามักมีแนวโน้มที่น่าสนใจน้อยกว่าตลาดหุ้น และสินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆในเดือน พ.ค.

ทั้งนี้ปัจจัยที่น่าสนใจของตลาดหุ้นไทยคงอยู่ที่การเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติ และสถาบันในประเทศ ซึ่งจากสถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2551-2560) พบว่าในเดือน พ.ค. นักลงทุนต่างชาติ และสถาบันในประเทศเป็นฝ่ายขายสุทธิราว 10.9 พันล้านบาท ด้วยระดับ Winner Percentage ที่ 50% เท่านั้น ขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิเฉลี่ย 3.4 พันล้านบาท ด้วยระดับ Winner Percentage ที่ 70% นอกจากนี้เมื่อไปพิจาณาในส่วนของระดับราคาพบว่าปัจจุบันตลาดหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับ Forward PER ที่ 16.2 เท่า สูงกว่า หรือมี Premium เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวของตัวเองถึง 21.5% ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐ และเอเชียยังซื้อขายที่ระดับ Forward PER ราว 16.6 และ 13.0 เท่า โดยมี Premium เพียง 6.9% และ 1.1% ตามลำดับ ส่วนตลาดหุ้นกลุ่ม TIP ที่เหลือพบว่าตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ซื้อขายที่ระดับ Forward PER ราว 15.8 และ 17.7 เท่า หรือมี Premium เพียง 6.4% และ 8.0% ตามลำดับเท่านั้น

นอกจากนี้เมื่อเทียบกับ Forward PER และ Trailing PBV ของดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทย และดัชนี MSCI Asia ex Japan ของตลาดหุ้นเอเชีย ผ่าน PE Spread และ PBV Spread จะพบว่านอกจากระดับของตลาดหุ้นไทยกลับมาอยู่ในโซนที่แพงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียแล้ว ยังสะท้อนว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมีระดับ Potential Downside Risk ที่สูงกว่าด้วย สะท้อนออกมาจากการที่ปัจจุบันส่วนต่างระหว่าง Forward PER ของดัชนี SET และดัชนี MSCI Asia ex Japan อยู่ที่ 3.3 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 2.9 เท่า และส่วนต่างระหว่าง Trailing PBV ของดัชนี SET และดัชนี MSCI Asia ex Japan อยู่ที่ 0.4 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 0.3 เท่า

ปัจจัยพื้นฐานคือจุดอ่อน : เมื่อพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลของราคาในปัจจุบัน ผ่าน PEG และ PBV to ROE Ratio พบว่าล่าสุดตลาดหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับ PEG ที่ 1.6 เท่า เทียบกับของสหรัฐ และเอเชียที่ระดับ 1.0 และ 1.0 เท่าตามลำดับ สะท้อนให้เห็นว่าระดับราคาในปัจจุบันของ SET ที่พิจารณาผ่านมุมมองของ PEG ดูเหมือนว่าจะไม่สอดคล้องกับการขยายตัวของผลการดำเนินงานในปี 2561 โดยที่ SET ไปตกอยู่ในกลุ่มของตลาดหุ้นที่ High PER and Low EPS Growth สอดคล้องกับการพิจารณาผ่าน PBV to ROE Ratio ที่พบว่าล่าสุดตลาดหุ้นไทยซื้อขายที่ระดับ PBV to ROE Ratio ที่ 0.18 เท่า เทียบกับของเอเชียที่ระดับ 0.14 เท่าตามลำดับ

สะท้อนให้เห็นว่าระดับราคาในปัจจุบันของ SET ที่พิจารณาผ่านมุมมองของ PEG ดูเหมือนว่าจะไม่สอดคล้องกับความสามารถในการทำกำไรในปี 2561 โดยที่ SET ไปตกอยู่ในกลุ่มของตลาดหุ้นที่ High PBV and Low ROE แต่สิ่งที่ต้องวิเคราะห์ให้ลึกไปกว่านั้นคือ Target Revision ที่ออกมาจาก Bloomberg Consensus ด้วย เนื่องจากสามารถสะท้อนมุมมอง หรือความคาดหวังต่อราคาสินทรัพย์ลงทุนในระยะสั้นได้ โดยที่ในเดือน พ.ค.2561 พบว่า Bloomberg Consensus ปรับประมาณการมูลค่าเหมาะสมในระยะ 12 เดือนข้างหน้าของดัชนี MSCI World ตลาดหุ้นโลก, ดัชนี S&P500 ตลาดหุ้นสหรัฐ, ดัชนี MSCI Asia ex Japan ตลาดหุ้นเอเชีย และดัชนี SET ตลาดหุ้นไทยลงราว 0.5%, 0.1%, 0.4% และ 0.3% MTD ตามลำดับ ขณะที่ปรับประมาณการมูลค่าเหมาะสมของดัชนี SET ตลาดหุ้นไทย 0.4% MTD

แต่ถ้าไปเทียบกับกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์พบว่า Bloomberg Consensus มีมุมมองที่ดีกว่า โดยปรับประมาณการมูลค่าเหมาะสมในอีก 12 เดือนข้างหน้าของน้ำมันดิบ, ทองคำ และข้าวโพดขึ้นราว 0.8%, 0.3% และ 0.5% MTD ตามลำดับ ขณะที่ปรับประมาณการมูลค่าเหมาะสมของเงินลงเล็กน้อย 0.3% MTD ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เมื่อเทียบกับสินค้าโภคภัณฑ์ตัวสำคัญๆทั้งในส่วนของน้ำมัน, ทองคำ, เงิน, ข้าวโพด และทองแดงพบว่าตลาดหุ้นโลก และภูมิภาคมีแนวโน้มของ Momentum ที่แย่กว่า หรือ Underperform ชัดเจน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ยังคงไม่กลับไปปิดเหนือ 1,850 (+/-5) จุดอีกครั้ง เป็นโอกาสในการ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, SAWAD, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

42 views
bottom of page