top of page

เงินเฟ้อทยอยสูงขึ้น หนุนการขึ้นดอกเบี้ย


ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดเดือนเมษายนที่ระดับ 1.07% กลับสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ 1-4% แล้ว โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะในหมวดคมนาคมขนส่งและหมวดอาหารสดที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง TMB Analytics คาดว่า แรงส่งดังกล่าวจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปีนี้ยืนอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท. ได้ โดยเฉลี่ยทั้งปีที่ 1.1% หนุนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี

จากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดของเดือนเมษายนที่ประกาศโดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ที่ระดับ 1.07% แตะขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. เป็นครั้งแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นราคาที่ปรับขึ้นจากทุกหมวดหมู่สินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หมวดที่อยู่อาศัยและหมวดคมนาคมขนส่ง ซึ่งถือเป็นสัดส่วนใหญ่ในตระกร้าเงินเฟ้อ อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากราคาของหมวดอาหารสดและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ที่ถึงแม้จะยังทรงตัวในระดับต่ำ แต่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากขยายตัวติดลบในช่วงกลางปี 2560 ที่ผ่านมา

โดยหมวดที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 1 ใน 4 ของสินค้าทั้งหมดในตระกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งองค์ประกอบที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในหมวดนี้ ได้แก่ ค่าเช่าบ้านที่ราคาเพิ่มขึ้นกว่า 3.6% จากที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% มากว่า 4 ปี และค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกว่า 6.6% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560

ในขณะที่หมวดอาหารสดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 36% ใหญ่ที่สุดในตระกร้าเงินเฟ้อ และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2560 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2561 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮล์นี้แทบไม่ขยายตัวเลย หรือขยายตัวเพียง 0.01% โดย TMB Analytics คาดว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้ราคาอาหารจะค่อยๆทยอยปรับขึ้น จากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากทั้งราคาน้ำมันและค่าแรง

แต่สาเหตุหลักของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นก็คงหนีไม่พ้นราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่นอกจากจะกระทบค่าครองชีพด้านคมนาคมขนส่งโดยตรงแล้ว ยังเป็นต้นทุนสำคัญของภาคธุรกิจอีกด้วย โดยล่าสุดน้ำมันดิบ Brent เพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 75.9 ดอลลาร์ต่อบาเรลแล้วจากเฉลี่ยที่ 52 ดอลลาร์ต่อบาเรลในช่วงเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้จะมีแรงกดดันจากการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาน้ำมันดิบยังมีแรงหนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปค ประกอบความไม่แน่นอนจากการหาข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านที่อาจทำให้อุปทานน้ำมันจากอิหร่านลดลงได้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย TMB Analytics มองว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเฉลี่ยที่ 68 ดอลลาร์ต่อบาเรลในช่วงครึ่งปีหลัง สูงกว่าราคาเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 20%

จากปัจจัยราคาน้ำมันและค่าแรงที่ปรับขึ้น ทำให้ TMB Analytics คาดว่าในปี 2561 เงินเฟ้อทั่วไปจะเฉลี่ยที่ 1.1% และเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยที่ 0.7% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่กลับสู่กรอบเป้าหมายแล้ว ประกอบเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี นำโดยการส่งออกท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศ จะเป็นแรงสนับสนุนให้ ธปท. สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี เพื่อเก็บกระสุนไว้รับมือวิกฤติต่างๆที่อาจมากระทบเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเตรียมบริหารจัดการอัตราดอกเบี้ยที่อาจปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้

19 views
bottom of page