ผู้ประกอบการสินค้ากระเบื้องเผยหลังยกเลิกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ส่งผลให้สินค้าจีนทะลักเข้ามารุนแรงและดุเดือด สินค้านำเข้าจากจีนมีส่วนแบ่งสูงถึง 50% แต่ละค่ายเร่งปรับแผนหนีตาย
รายงานข่าวแจ้งว่า สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ร่วมกันเปิดงานสถาปนิก '61 ระหว่างวันที่ 1-6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดงานครั้งที่ 32 มี 850 บริษัท ได้เข้าร่วมงาน ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้ มีสินค้าแบรนด์ชั้นนำของไทยและบริษัทต่างประเทศเข้าร่วมงานมากขึ้นกว่า 35% จากปีก่อนที่มีประมาณ 28% ประเทศที่เข้ามามีทั้งจากทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา อาทิ จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ออสเตรเลีย เวียดนาม และสาธารณรัฐเช็ก รวมถึง IMAG บริษัทชั้นนำจากประเทศเยอรมนี ผู้จัดงานแสดงสินค้าด้านการก่อสร้างมาแล้วทั่วโลก ที่นำเอาเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างระดับสูงมาให้ชม การจัดงานครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นยอดขายต่อเนื่องไปถึงสิ้นปีประมาณ 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน ส่วนสินค้าจากจีนเข้ามาแรง เข้ามากันมากกว่า 10-20% สินค้าจากจีนได้เปรียบกว่าคู่แข่ง เพราะรัฐบาลมีการสนับสนุนทางการเงิน ในการช่วยเหลือผู้ผลิตในการเข้าไปทำตลาดยังต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากระเบื้องจากจีนเข้ามาตีตลาดในไทย
กระเบื้องราคาถูกจากจีนเข้ามา ขณะนี้มีการยกระดับการทำตลาดมาสู่ระดับพรีเมียมมากขึ้น
นายสมบูรณ์ อุรานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหโมเสคอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้ยกเลิกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้ากระเบื้องปูพื้น และติดผนัง ที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้วนั้น ส่งผลให้สินค้าจากจีนเข้ามาทำตลาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือไปถึงรัฐบาลว่า ผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ แต่ปรากฏว่า ผู้ประกอบการรวมตัวกันไม่ถึง 50% จึงไม่เป็นเอกฉันท์ เรื่องดังกล่าวจึงตกไป ต้องยอมรับว่า ผลจากการยกเลิกมาตรการดังกล่าวทำให้สินค้ากระเบื้องจากจีนเข้ามารุนแรง และดุเดือด ซึ่งสินค้าจีนมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มสินค้าแมส สูงถึง 50% สำหรับมูลค่าตลาดกระเบื้องในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 33,000 ล้านบาท หรือประมาณ 220 ล้านตารางเมตร โดยแยกเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ 25% ในจำนวนดังกล่าวกว่า 75% เป็นสินค้าจากประเทศจีน
นางสาวปรวรรณ มหัทธนะสุข ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท วิลเลรอย แอนด์ บอค (ประเทศไทย) จำกัด ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แบรนด์สุขภัณฑ์หรูจากประเทศเยอรมนี กล่าวว่า แผนธุรกิจในปีนี้ บริษัทกำลังพิจารณาการลงทุนคลังสินค้า (เวย์เฮาส์) ที่อยู่ใกล้กับโรงงานที่จังหวัดสระบุรี เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ รวมถึงการลงทุนเปิด 2 โชว์รูมในพื้นที่ รามอินทรา และบริเวณงามวงศ์วาน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 6 โชว์รูม เพื่อให้สามารถเสนอสินค้าให้กับผู้บริโภคได้ ปีนี้ บริษัทต้องการเป็นผู้นำด้านสินค้าสำหรับห้องน้ำในตลาดบนในประเทศไทย โดยจะเจาะตลาดในกลุ่มงานโครงการระดับบนอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายช่องทางจัดจำหน่ายให้มากขึ้น โดยเราวางรายได้หลักเป็นสินค้ากลุ่มเซรามิก ทั้งในส่วนของสุขภัณฑ์ และอ่างล้างหน้า ประมาณ 90% ส่วนที่เหลือจะเป็นกลุ่มสินค้าคู่เคียง เช่น อ่างอาบน้ำ เฟอร์นิเจอร์ ก๊อกน้ำ และอุปกรณ์ต่างๆ
นายประกรณ์ เมฆจำเริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เฌอร่า จำกัด (มหาชน) ภายใต้แบรนด์ เฌอร่า (SHERA) และกระเบื้องหลังคาตราห้าห่วง (HaHuang) ให้ความเห็นว่า งานสถาปนิก’ 61 นับเป็นงานแสดงเทคโนโลยีก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน บริษัทได้เปิดตัว 2 ผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ และ ผลิตภัณฑ์หลังคา ได้แก่ ไม้เฌอร่า ชายน์ไลท์ (SHERA Shine Light) ในประเภทไม้ฝา ไม้ระแนง และไม้รั้ว ที่พิเศษด้วยการเคลือบเงาเพิ่มความแวววาว สวยงาม และสีที่คงทน ให้ไม้ไฉไลยาวนานไม่เปลี่ยนแปลง และหลังคาเฌอร่าซีดาร์ เชค สีเมโทร เกรย์ หลังคาไฟเบอร์ซีเมนต์ในสไตล์ธรรมชาติ เสมือนหลังคาไม้สนซีดาร์ แต่มีอายุการใช้งานยาวนาน และดูแลรักษาง่ายกว่า โดยเฉดสีใหม่อย่างสีเทาเมโทรเกรย์ สะท้อนความสุขุม เสน่ห์