นับถอยหลัง 8 เดือน ได้เวลากิจการบริษัทนิติบุคคลไทยใช้มาตรฐานสากลการทำบัญชีฉบับที่ 9 หรือ IFRS9 ทำให้เกิดอาการตื่นตัวกันมากขึ้น โดยเฉพาะกิจการกลุ่ม สถาบันการเงิน จะเป็นกิจการที่ได้รับผลกระทบกระเทือนมากที่สุด ขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ไม่เว้นที่จะต้องเข้าข่ายเข้าเกณฑ์ทั้งหมด ด้านสมาคมนักวิเคราะห์หุ้นสนับสนุนให้ใช้ระบุจะเป็นประโยชน์สร้างความเชื่อมั่นมากกว่า แม้จะกระทบรายได้ กำไรของกิจการในช่วงแรกที่เริ่มใช้ แต่ดีกว่าเลื่อนกำหนดออกไปจากปี 2562 ซึ่งกลับจะยิ่งสร้างความรู้สึกไม่มั่นใจในกิจการไทยที่ไม่มีความพร้อมและคลุมเครือมากกว่า และไม่ต่างกับการถือลูกระเบิดเวลาไว้ในมือไปอีก 1- 5 ปี
ตามที่กิจการนิติบุคคลของไทยจะต้องเข้าสู่มาตรฐานสากล โดยการทำบันทึกบัญชี รายงานสถานะของกิจการตามมาตรฐานที่เรียกว่า IFRS9 หรือมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 9 ตามกำหนดที่ตกลงกันไว้คือ วันที่ 1 มกราคม 2562 เท่ากับเหลือเวลาอีก 8 เดือนเท่านั้น
ปรากฏว่าล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ทำหนังสือถึง คณะกรรมการกํากับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี หรือ กกบ. เพื่อให้พิจารณาเลื่อนกำหนดใช้ออกไปก่อน โดยมีการระบุถึงว่า อาจขอเลื่อนไปอีกนานถึง 5 ปีเลยทีเดียว เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบกับธุรกิจ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ประกันชีวิต ลีสซิ่ง และลุกลามขยายเป็นวงกว้างต่อไปยังบริษัทเอกชนที่ประกอบกิจการทั้งนอกและ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมตลอดจนถึงธุรกิจเอสเอ็มอี
ผลการเคลื่อนไหวของ กกร.ดังกล่าว ทำให้เกิดความตื่นเต้นดี๊ด๊ากันมาก โดยเฉพาะมีการประเมินกันว่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจแบงก์พาณิชย์มากที่สุด ทำให้แบงก์คลายความกดดันในเรื่องของการ “ตั้งสำรอง” อันเป็นการกระทบต่อ ตัวเลขผลประกอบการ กำไรสุทธิมากที่สุด เมื่อเลื่อนบังคับใช้มาตรฐานบัญชีฉบับที่ 9 จึงทำให้ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวขึ้นมารับข่าว
แต่ที่น่าสนใจคือ หุ้นแบงก์เองก็ไม่ได้ปรับขึ้นมากมายจนเป็นสาระ ในช่วงวันจันทร์ อังคาร(7-8 พ.ค.61) ที่เป็นข่าว
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า มาตรฐานบัญชีฉบับที่ 9 หรือ IFRS 9 นี้เกิดขึ้นเกิดภายหลังจากเหตุการณ์วิกฤตทางการเงินในหลายๆ ครั้งในโลกช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงวิกฤตซับไพรม์ ปี. 2550-2551 ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า การรับรู้รายการผลขาดทุนจากการให้สินเชื่อหรือเครื่องมือทางการเงินต่างๆ มีจุดอ่อน เนื่องจากมาตรฐานการบัญชีที่บังคับใช้อยู่จนปัจจุบัน จะรับรู้ผลขาดทุนหรือการด้อยค่า เมื่อมีข้อบ่งชี้ของความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว (incurred loss) ซึ่งเป็นการสายเกินไป อีกทั้งยังพิจารณาจากข้อมูลและประสบการณ์ในอดีต ไม่ได้คาดการณ์ถึงสภาวะทางเศรษฐกิจหรือสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต(forward looking) ทำให้ The International Accounting Standards Board หรือ IASB จึงได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี จนกระทั่งเรียบร้อยและเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ได้ออกมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (International Financial Reporting Standards : IFRS) ฉบับใหม่
ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (IFSR 9) ให้ใช้ แทนมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ(International Accounting Standards : IAS) ฉบับที่ 39 แบ่งเป็น 3 เรื่องหลักๆ คือ
1) การจัดประเภทรายการและการวัดมูลค่า (Classification and measurement) 2) การด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน (Impairment) 3) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง (Hedge accounting)
ทั้งนี้ในข้อการบัญชีป้องกันความเสี่ยงนี้เองที่เป็นที่มาของภาระที่ทำให้กิจการ โดยเฉพาะสถาบันการเงินต้องตั้งสำรองมากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีลูกหนี้อยู่มาก
ข้อถกเถียงกันคือ IFRS9 มีประโยชน์หรือโทษ และควรเลื่อนหรือไม่ควรเลื่อน
นายสมบัติ นราวุฒิชัย กรรมการผู้อำนวยการ และเลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวให้ความเห็นกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า กรณีมาตรฐานบัญชีฉบับที่ 9 นั้น ไม่ได้สร้างผลกระทบหรือเป็นภาระใดเพิ่มเติมให้กับนักวิเคราะห์ ตรงกันข้ามกลับจะเป็นประโยชน์มากกว่า เนื่องจากจะทำให้ เกิดมาตรฐานบัญชีที่ มีความชัดเจนมากขึ้น ประเมินสถานะบริษัทได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมฯก็ได้เข้าพบ ก.ล.ต. 2-3 รอบแล้ว เพื่อที่ก.ล.ต.จะรวบรวมข้อมูล นำไปบังคับใช้ ซึ่ง ก.ล.ต. แบงก์ชาติ ก็เตรียมความพร้อมกันมาระยะหนึ่งแล้ว และเท่าที่ดู บรรดาแบงก์พาณิชย์เองก็ได้มีการเตรียมความพร้อมกันมาระดับหนึ่ง หลายปีมาแล้ว และมีการตั้งสำรองมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดมาแล้วด้วย
“ฝั่งของนักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นมองว่าเรื่องนี้มีประโยชน์มากกว่า ถือเป็นเรื่องดี เพราะเท่ากับไทยเข้าสู่ความเป็นสากล เปิดเผยข้อเท็จจริงได้สมจริงขึ้น ชัดเจนขึ้น การตีมูลค่าอะไรต่างๆของกิจการ ทำให้ผู้ลงทุนสถาบันทั้งนอกและในประเทศจะสามารถเปรียบเทียบสินทรัพย์ลงทุนขามประเทศได้สมจริงมากขึ้นกว่าเดิม
จริงอยู่ที่ข้อบังคับใหม่ฉบับที่ 9 ทำให้ต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้น มีเกณฑ์เยอะขึ้น ซึ่งสมาคมเองก็ได้มีการจัดอบรมกันมาเป็นระยะๆ เมื่อต้นเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมาก็เพิ่งอบรมกันไปอีก 2 วันต่อเนื่อง ให้นักวิเคราะห์
ประเด็นที่เห็นว่ามีความกังวลกันคือ จะมีผลกระทบและบางหน่วยงานขอเลื่อนการใช้มาตรฐานฉบับที่ 9 นี้ออกไปซึ่งแบบนี้น่าจะมีผลกระทบมากกว่า”
ทั้งนี้ในส่วนที่คาดหมายกันว่า หากดำเนินการตามมาตรฐานบัญชีใหม่ ฉบับที่ 9 จะร้างความกระทบกระเทือนอย่างมากมาย กับแบงก์พาณิชย์ บริษัทเอสเอ็มอี และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะต้องจัดประเภทรายการในงบการเงินให้สะท้อนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ และการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น รวมถึงให้พิจารณาความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่คาดว่า จะเกิดขึ้นในอนาคต (forward looking) ต้องมีการสำรองกันความเสี่ยงมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการ จัดทำรายงานแสดงฐานะทางการเงิน และผลการดำเนินงาน และกำไรกิจการลดลง แน่นอนนั่นหมายถึงกระทบถึงราคาหุ้นในตลาด ซึ่งคงจะระส่ำระสายพอดูทีเดียว บริษัทที่มีแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็อาจระดมทุนเข้าตลาดไม่ได้ .... นั่นจึงเป็นที่มาของการขอเลื่อนบังคับใช้ของ กกร.
อย่างไรก็ตาม หากมีการเลื่อนจริง อาจเป็น 1 ปี หรือ 5 ปี จากที่เดิมให้บังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป ก็อาจส่งผลกระทบที่แย่ไปกว่าไม่เลื่อนก็เป็นได้
“การเลื่อนนั้นหมายถึง กลับจะยิ่งสร้างความสงสัย และตีประเด็นว่ากิจการไทยมีปัญหามาก และไม่มาลงทุนมากขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้ เพราะที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันเรื่องที่ว่า ไทยเองทำบัญชีหลายบัญชี จนมีการรณรงค์การทำบัญชีเดียว และการไม่รับมาตรฐานฉบับที่ 9 ยิ่งเป็นการยืนยันว่า เราหมกเม็ดอะไรไว้ อีกทั้งที่ผ่านมา ก็มีการเลื่อนการใช้มาตรฐานบัญชีฉบับอื่นๆมาหลายครั้งแล้ว จนเข้ามาถึงฉบับที่ 9 ซึ่งต่างประเทศใช้กันแล้ว ถ้าไทยเลื่อนอีกคงไม่ดีเท่าไร
การเลื่อน คือการพยายามยื้อ การยื้อออกไปไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น สู้รับความจริงไม่ได้ ก็เหมือนที่มีข่าวว่า กกร.ขอเลื่อน นึกว่าเป็นข่าวดี น่าจะทำให้ให้หุ้นแบงก์ปรับขึ้นรับข่าว แต่มันไม่ใช่แบบนั้น กลายเป็น ยื้อไปเพราะคุณมีปัญหาใช่มั้ย แบบนี้ใครจะกล้ามาซื้อ
ส่วนบริษัทจดทะเบียน จะมีผลกำไรลดลง ราคาหุ้นลดลง กระเทือนไปทั้งตลาดทันทีที่เข้าสู่มาตรฐานฉบับที่ 9 ก็ยังดีกว่ายื้อไป ซึ่งเท่ากับมือถือระเบิดไว้ 1 ลูกรอวันมันระเบิด สู้ทำไปเลยให้เกิดความชัดเจนแต่ต้นจะดีกว่า” แหล่งข่าวกล่าว