เป็นเรื่องที่ปลื้มไม่หาย ที่ปีที่แล้ว 2560 ธนาคารโลกประกาศผลสำรวจและจัดอันดับให้ไทยมีอันดับที่ดีขึ้น ในเรื่องของการจัดชั้นความยาก – ง่าย ในการประกอบธุรกิจหรือ Doing Business ในประเทศ จากอันดับที่ 46 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 26 จาก 190 ประเทศทั่วโลก
ผลการประกาศอันดับดังกล่าวทำให้ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐอกผายไหล่ผึ่งออกมาอีก 2 ศอก เพราะตีความว่า อันดับดังกล่าวแปลว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการปฏิรูปมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลกเลยทีเดียว
และปี 2561 ที่จะมีการประกาศผลการจัดอันดับอีกครั้ง ราวเดือนตุลาคม ก็เป็นความหวังอย่างมากว่า อันดับของไทยจะดีขึ้นไปอีก ซึ่งก็ต้องลุ้นกันหน่อย
ล่าสุด กลางเดือนพฤษภาคม 2561 ทีมวิจัยจากธนาคารโลก ได้เข้ามาติดตามผลการปรับปรุงการให้บริการภาครัฐอีกครั้ง เพื่อนำไปประกอบการจัดอันดับความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจ (Doing Business 2019) โดยคนที่คอยให้ข้อมูลกับทีมวิจัยของธนาคารโลกก็คือ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐของไทยนั่นเอง
ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร . กล่าวว่า รายงานการจัดอันดับความยาก – ง่าย ในการประกอบธุรกิจ หรือ Doing Business ของธนาคารโลก จะเก็บข้อมูลจาก 3 ส่วน ได้แก่ 1) สำรวจความคิดเห็นด้วยแบบสอบถามภาคเอกชนและภาครัฐ 2) รายงานการปฏิรูปการให้บริการของหน่วยงานภาครัฐ 3) การยืนยันข้อมูลโดยการสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐและเอกชน
การประชุมในครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลในส่วนของหน่วยงานภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการโดยตรง เพื่อเสนอความก้าวหน้าการพัฒนาบริการในแต่ละด้านตามเกณฑ์ตัวชี้วัดของ Doing Business ให้ธนาคารโลกได้ทราบ
นอกจากนี้ วันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ทีมธนาคารโลกมีนัดเข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรับฟังผลการดำเนินการปฏิรูปที่ผ่านมา และทิศทางการดำเนินการในอนาคต เพื่อประกาศผล Doing Business ช่วงเดือนตุลาคม 2561
เลขา ก.พ.ร. กล่าวให้ความมั่นใจว่า อันดับความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจในไทยจะดีขึ้นต่อเนื่องในปี 2561 ทั้งนี้ก็เพราะภาครัฐมุ่งเน้นไปที่การปรับลดกฎระเบียบ และพัฒนาระบบบริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งจูงให้ผู้ประกอบการใช้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น....
• ด้านเริ่มต้นธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพัฒนาการจดทะเบียนธุรกิจให้สะดวกรวดเร็ว ด้วยการรวมขั้นตอนการจองชื่อและตรวจสอบชื่อ การใช้อัตราค่าธรรมเนียมเดียวในการจดทะเบียนธุรกิจ และถูกลงเมื่อจดผ่านระบบ e-Registration
• ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง กรุงเทพมหานครและกรมโยธาธิการและผังเมืองนำการบริหารความเสี่ยงมาใช้ลดขั้นตอนและระยะเวลาในการตรวจควบคุมการก่อสร้างอาคารเหลือ 3 ครั้ง และการขออนุญาตใช้อาคารเหลือ 15 วัน
• ด้านการขอใช้ไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวงและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อำนวยความสะดวกในการขอใช้ไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์และเพิ่มจำนวนธนาคาร/ตัวแทน ที่รับชำระค่าบริการการขอใช้ไฟฟ้า
• ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน กรมที่ดินลดการขอเอกสาร โดยใช้ระบบเชื่อมเอกสารกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพิ่มช่องทางการขอตรวจสอบหลักทรัพย์ สำเนาภาพลักษณ์เอกสารสิทธิ์ หนังสือรับรองราคาประเมินทุนทรัพย์ ด้วยระบบสารสนเทศได้ที่สำนักงานที่ดินทั่วประเทศ ตรวจสอบข้อมูล รูปแปลงที่ดิน ตำแหน่งและสภาพพื้นที่ รวมถึงราคาประเมิน ค่าธรรมเนียม ภาษีอากร ค่าใช้จ่ายในการรังวัด คิวรังวัด และข้อมูลการเดินทางไปยังสำนักงานที่ดิน ผ่าน Mobile App “LandsMaps” ได้อย่างสะดวก รวดเร็วเพียงระบุพื้นที่สำคัญในการค้นหา
•ด้านการได้รับสินเชื่อ ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เชื่อมข้อมูลหลักประกันการชำระหนี้ทางอิเล็กทรอนิกส์ เปลี่ยนจากการจดทะเบียนไปเป็นจดแจ้ง และนำ Pay-in slip และ e-Receipt มาใช้ในการชำระเงิน
•การคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อยให้เข้าถึงข้อมูลและเพิ่มความสะดวกในการฟ้องร้องคดีของผู้ถือหุ้น
•การชำระภาษี กรมสรรพากรได้พัฒนา Tax spreadsheets ช่วยคำนวณปรับปรุงรายการทางบัญชีเป็นภาษี 5 รายการ รวมทั้งขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ผ่าน e-Tax Invoice by email ตลอดจนอำนวยความสะดวกและให้ความรู้ผู้ประกอบการด้วยคู่มือแนวทางการลงบัญชีภาษีอากร และสำนักงานประกันสังคม ได้ขยายเวลายื่นชำระเงินสมทบประกันสังคมผ่านระบบออนไลน์
•ด้านการค้าระหว่างประเทศ กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกันพัฒนา และเปิดให้บริการรายงานเรือเข้าและบัญชีสินค้าสำหรับเรือ และเชื่อมโยงใบกำกับการขนย้ายสินค้าและแบบขอนำตู้สินค้าขาออกผ่านเข้าเขตศุลกากรการท่าเรือ (e-Matching) ผ่านระบบ National Single Window การให้บริการพิธีการศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับของถ่ายลำและการขนส่งต่อเนื่องเปลี่ยนยานพาหนะ (e-Transition) กระบวนการยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้า (Pre–Arrival Processing) และฐานข้อมูลสืบค้นผลคำวินิจฉัยประเภทพิกัดศุลกากร (Tariff e-Service)
•ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง ศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดี ใช้ระบบ e-Filing ให้ยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ชำระเงินผ่าน e-Payment และให้คู่ความในคดีสืบค้นและติดตามผลคดี ผ่านระบบบริการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม รวมทั้งอำนวยความสะดวกผู้ซื้อด้วย Mobile App “LED Debt Info” “LED Property” “LED Property Plus” และ “LED Streaming”
•ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย กรมบังคับคดีนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการทำงาน โดยให้ตรวจสอบบุคคลล้มละลาย ผ่าน Mobile App LED ABC ติดตามทรัพย์สินผ่าน Asset-Tracking System และนำระบบ e-Insolvency Case Management มาใช้ในการบังคับคดีล้มละลาย
ก.พ.ร.ย้ำมาว่า ความพยายามของหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้อันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยดีขึ้น
ผลการจัดอันดับจะออกมาเช่นไรต้องรอเดือนตุลาคม....เดี๋ยวก็รู้....ส่วนผลทางการปฏิบัติมีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ยากหรือง่าย นักธุรกิจผู้ประกอบการตัวจริงย่อมรู้ดีกว่าธนาคารโลกที่ส่งเจ้าหน้าที่มาสำรวจแน่นวล