จากวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 ถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ 2551 ล่าสุดคือทรัมป์เทรดวอร์ 2561 เป็นรอบระยะเวลา 10-12 ปีที่จะมีเหตุการณ์ที่เวียนมากระชากหุ้นให้ปรับตัวลดลงอย่างแรงๆ สะพรึงกันไปทั่วทั้งตลาดหุ้นโลกกันครั้งหนึ่ง …สำหรับตลาดหุ้นไทย เฉพาะครึ่งปีแรก 2561 กระแสเงินทุนไหลออกจากหุ้นยิ่งกว่าเขื่อนแตก ค่าเงินบาทอ่อนหนักสุดๆ เฝ้าจับตา 6 กรกฎาหลังอเมริกาฉลองวันชาติบรรยากาศสงครามการค้าอเมริกา-จีนจะสงบหรือปะทุหนัก ขณะที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่าไปไกลก่อนถึงวันนัดหมายแล้ว เตือนหุ้นยังลงไม่จบรอบ..1 เดือนจากนี้รีบาวน์กลับขึ้นได้แต่ก็ไม่ไกล
ผ่านครึ่งปีมาได้อย่างสะบักสะบอมมากเอาการสำหรับนักลงทุนไทย จากที่มีความมั่นใจเต็มเปี่ยมเมื่อต้นปีที่ผ่านมาตอนนี้กำลังใจหายหมด และมีจำนวนไม่น้อยที่กลายเป็น “คนติดดอย” ที่ไม่รู้ชะตากรรมตัวเองว่าจะได้เหมือนได้ชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อไหร่ ขณะที่วันนี้ “เด็กติดถ้ำ” ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว แต่คนติดดอยหุ้นดูเหมือนจะยังไม่ค่อยมีความหวัง
จากต้นปีที่มีเฮกัน เพราะตลาดหุ้นสดใส ทั้งหุ้นเล็กหุ้นใหญ่ขึ้นยกกระดาน ดันดัชนีขึ้นไปทำสถิติสูงสุดใหม่ได้ครั้งแรกนับจากช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งไม่เคยขึ้นมาได้ 1,700-1,800 จุดได้เลย หนำซ้ำยังนิวไฮที่ 1,840 จุด(24 มกราคม 2561) ซึ่งเป็นจุดสูงสุดนับจากมีตลาดหุ้นไทยด้วย แต่ดีใจได้ไม่นานหุ้นก็เริ่มออกอาการ จากปัจจัยทั้งในประเทศเรื่องการเมือง และนอกประเทศ เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และสงครามการค้าที่ทรัมป์จุดประกาย
เพียง 6 เดือน ตลาดหุ้นปรับจากจุดสูงสุด 1,840 ลงมาต่ำสุด 1,595 จุด (29มิถุนายน) 245 จุดคิดเป็น 13.31% นักลงทุนได้รับความเสียหายหนักเบาต่างกันไปแต่โดยรวมทั้งตลาดมูลค่าความมั่งคั่งหายไปนับแสนล้านบาท โดยเป็นครึ่งปีที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นออกไปถึง 180,000 ล้านบาท และขายเป็นเวลา 9 เดือนต่อเนื่องกันรวมกว่า 210,000 ล้านบาท ขณะที่เดือนมิถุนายน 2561 คือเดินที่หุ้นตกลงหนักมากที่สุด
ช่วงปลายเดือนมิถุนายน ความคาดหวังที่จะเห็นการทำวินโดเดรสซื่ง ก็ไม่ได้เกิดขึ้น มิหนำซ้ำ กลับตกลงมากกว่าเก่า หลุด 1,600 จุด ปิดส่งท้ายเดือนมิถุนายนที่ 1,595 จุด
ทั้งนี้ สิ่งที่นักวิเคราะห์กูรูหุ้นมองเห็นตรงกันคือ ต้องจับตามองกันเป็นพิเศษคือ กรณีสงครามการค้า วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ระหว่างอเมริกา กับ จีน จะดูเบาบางลง หรือว่ายิ่งรุนแรงขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงต่อตลาดหุ้น โลกและตลาดหุ้นไทย
สำหรับตลาดหุ้นไทย แม้อาจจะเห็นการปรับขึ้นของหุ้นในเดือนกรกฎาคม ที่มองว่าโดยสถิติ นักลงทุนต่างชาติจะกลับมาซื้อ แต่นั่นเป็นเพียงความหวังที่แค่รีบาวน์เท่านั้น และไม่มีปัจจัยอะไรที่มาดึงดูดการกลับมาของนักลงทุนต่างชาติได้ดีพอ โดยดัชนีจะมีแนวต้นใหญ่ที่ 1650 จุด
ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร KTBST ตลาดหุ้นเกือบทั่วโลกถูกกดดันด้วยแรงขายนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงตลาดของไทยเดือน มิถุนายน. ดัชนีฯปิดลดลงถึง 7.6% และมีแรงขายไปอีก 4.9 หมื่นล้านบาท เป็นการขาย 9 เดือนติดต่อกันรวมแล้ว 2.1 แสนล้านบาท เนื่องด้วยตัวแปรสำคัญ คือ เรื่องดอกเบี้ยสหรัฐฯและความกังวลต่อสงครามการค้าที่เป็นตัวเร่งให้ขายมากขึ้น
ซึ่งหาก 2 ตัวปัจจัยนี้สะท้อนไปที่ตลาดมากพอแล้ว คาดว่าแรงขายจะลดลง หากไม่มีข่าวลบเพิ่มเข้ามาอีกตลาดหุ้นต่างประเทศเริ่มฟื้นจะส่งผลบวกมาถึงตลาดไทยในช่วงสั้นๆ
โดยประเด็นเรื่องสงครามการค้าถือเป็นปัจจัยที่ชี้ทิศทางตลาดหากสถานการณ์มีเหตุที่ทำให้นักลงทุนลดความกังวลตลาดจะกลับมาเป็นบวกได้
ต้องจับตาดู วันที่ 6 กรกฎาคม ซึ่งจะเป็นวันที่ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ-จีนมีผลบังคับใช้ จะมีอะไรเกิดขึ้นก่อนหรือหลังจากนั้นหรือไม่
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนกรกฎาคมต่อเนื่องถึงเดือนสิงหาคม 2561 ว่า
สำหรับตลาดหุ้นเดือนกรกฎาคมมองว่าน่าจะมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง โดยดัชนีมีโอกาสขึ้นไปทดสอบที่ระดับ 1,650 จุด เนื่องจากระดับ Forward PE ปัจจุบันอยู่เพียง 13.3 เท่าเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่จูงใจในแง่ของ Valuation แล้ว และหากไล่ดูเหตุการณ์ต่างๆในเดือนกรกฎาคม ก็ไม่น่ามีปัจจัยอะไรที่มีนัยสำคัญมากดดันตลาด นอกเหนือไปจากประเด็นสงครามการค้าที่เป็นปัจจัยรบกวนเชิง Sentiment เท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ช่วงเดือนสิงหาคม แนะนำให้นักลงทุนระมัดระวังในการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะมีปัจจัยลบที่อาจเข้ามากระทบ ได้แก่ แรงขายของนักลงทุนต่างชาติประเภท Passive funds จากการที่ MSCI เตรียมเพิ่มน้ำหนักหุ้น A-Share ของจีนเข้าสู่การคำนวณดัชนี MSCI EM (ดัชนี MSCI สำหรับตลาดหุ้นเกิดใหม่) เป็นรอบที่สอง ซึ่งในรอบแรกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาก็ส่งผลกดดันต่อหุ้นไทยไปในระดับหนึ่งแล้ว โดยทางทรีนีตี้ประเมินว่าจะมีการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินออกจากประเทศเกิดใหม่อื่นเข้าสู่ตลาดหุ้นจีนอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงของประเทศอิตาลี ที่มีการครบกำหนดชำระหนี้ก้อนใหญ่ในเดือนสิงหาคมนี้ หากในระยะเวลาใกล้ๆ สถานะการคลังของประเทศอิตาลียังไม่ค่อยดี และบริษัทจัดอันดับเครดิตมีการออกมาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ อาจส่งผลให้เกิดบรรยากาศเชิงลบกับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้
ดังนั้นสำหรับกลยุทธ์การลงทุนเดือนกรกฎาคมนั้น นายณัฐชาตได้แนะนำว่า สำหรับผู้ที่ยังถือเงินสดในระดับมากกว่าปกติ ให้เข้าสะสมหุ้นที่ระดับปัจจุบันแถวดัชนี 1,600 จุด และคาดหวังการฟื้นตัวของดัชนีขึ้นมาที่บริเวณ 1,650 จุดเป็นอย่างน้อย หรือหากในกรณีดีสุดที่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทยอยออกมาดีกว่าตลาดคาด ดัชนีก็มีโอกาสขึ้นไปทดสอบบริเวณ 1,700 จุดได้เช่นกัน มองกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจได้แก่หุ้นขนาดใหญ่ใน SET50 ที่มีการปรับฐานลงมาแรงจนมี Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ และคาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในระดับที่เหมาะสม เช่น PTT และ SCC เป็นต้น ส่วนในกรณีแย่สุด มอง Downside ของดัชนีที่ระดับ 1,550 จุด ซึ่งคำนวณจากระดับ PE ปัจจุบันที่ 14.1 เท่า
นายณัฐชาตยังได้แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในภาพใหญ่สำหรับตลาดหุ้นไตรมาส 3ด้วยว่า จะยังคงมีความกังวลในเรื่องสงครามการค้า ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับผลกระทบอยู่บ้าง
อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกจากการปรับเพิ่มประมาณการของนักวิเคราะห์ โดยเฉพาะกับกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ ซึ่งสวนทางกับหุ้นขนาดเล็กที่ยังคงเห็นการปรับลดประมาณการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาที่ตลาดปรับฐานลงอย่างรุนแรง ก็เป็นการปรับฐานลงของหุ้นขนาดใหญ่เป็นสำคัญ ทำให้ Valuation ล่าสุดของหุ้นกลุ่มนี้มีระดับที่น่าสนใจพอสมควร
“ทรีนีตี้มองว่าการที่ราคาหุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวลงสวนทางกับประมาณการกำไรที่ถูกปรับขึ้น ทำให้ ณ เวลานี้ Valuation ของหุ้นกลุ่มนี้มีความจูงใจมาก ดังนั้นจึงแนะนำให้นักลงทุนทยอยเก็บสะสมหุ้นขนาดใหญ่ ตั้งแต่สิ้นเดือนมิถุนายนจน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม โดยคาดหวังว่าหากดัชนีมีการรีบาวน์ขึ้น หุ้นขนาดใหญ่น่าจะปรับตัวขึ้นได้ก่อนกลุ่มอื่น” นายณัฐชาต กล่าว
นายอภิชัย เรามานะชัย รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลดลง หลุดแนวรับสำคัญที่ 1,730 จุด และปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ต่ำกว่าแนวรับที่ประเมินไว้เบื้องต้นที่ 1,680 จุด ส่งผลให้โครงสร้างทางเทคนิคของ SET เป็นขาลงยาว โดยมีแนวรับถัดไปบริเวณ 1,580 – 1,600 จุด ประกอบกับ RSI Indicator เริ่มเข้าสู่ระดับ Oversold ที่มีนัยสำคัญ จากประเด็นกระแสเงินทุนไหลออก หลังจากเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ดอกเบี้ยสหรัฐสูงกว่าไทยราว 75 bps – 100 bps ขณะที่ประเด็นมาตรการกีดกันการค้าการลงทุนระหว่างสหรัฐกับจีนกดดัน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติยังลดความเสี่ยงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ และทำให้ภาวะการลงทุนในเดือน มิ.ย.61 ที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยปิด ลดลง7.60 % จากเดือนพ.ค. 2561
สำหรับทิศทาง Fund Flow ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 6 เดือนแรก ที่ผ่านมายังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยจำนวน 5,727 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังซื้อสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยจำนวน 3,482 ล้านดอลลาร์ ปัจจัยสำคัญ มาจากแรงกดดันของทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐที่จะปรับขึ้นอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ ส่งผลให้ดอกเบี้ยสหรัฐในช่วงปลายปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2.375% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยหากปรับขึ้น 1 ครั้งภายในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.75% ดังนั้นส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ย Real Interest rate สหรัฐอยู่ที่ 0.375% เทียบกับไทยที่ 0.23% ส่งผลให้ทิศทางเงินทุนต่างชาติยังมีโอกาสไหลออกจากตลาดเงินตลาดทุนไทย
ขณะที่ปัจจัยการลงทุนในเดือน กรกฎาคมนี้ ต้องติดตามทิศทาง Dollar Index ว่าจะแข็งค่าเกินระดับ 95 หรือไม่ หากดอลลาร์สหรัฐยังแข็ง ค่าจะส่งผลลบต่อ Fund Flow ในตลาดเกิดใหม่ รวมถึง ประเด็นมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐต่อจีน หากยืดเยื้อจนมีการขึ้นภาษีต่อกันระดับ 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ อาจจะส่งผลลบต่อการค้าโลก รวมถึงข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐ
“อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง ว่าการปรับตัวลดลงของตลาดหุ้นไทย น่าจะเริ่มลดลง และคาดว่าสหรัฐคงไม่ใช้มาตรการกีดกันการค้าจนถึงขนาดเกิดวิกฤตค่าเงินหยวนและการขายพันธบัตรสหรัฐมูลค่า 1.18 ล้านล้านดอลลาร์ที่จีนถืออยู่ ทั้งนี้ ประเมินแนวรับที่ระดับ 1,540 – 1,595 จุด ( Forward P/E 14.0 – 14.5x )
หากมีการยืนยันจุดต่ำสุดบริเวณ 1,580 – 1,600 จุด จริง ดัชนี SET มีโอกาส Rebound กลับ ราว 80 - 100 จุด ประเด็นที่ต้องระวังคือ ดัชนี Dollar Index จะต้องไม่แข็งค่าเกินกว่าระดับ 95 ซึ่งอาจจะส่งผลให้ดัชนี SET มีโอกาสผันผวนขาลงมากกว่าแนวรับที่ประเมินไว้ แนะนำซื้อ ณ ดัชนีบริเวณ 1,580 จุด”นายอภิชัย กล่าว