top of page
379208.jpg

หุ้นไทยยังดีอยู่...มั่นใจเห็น SET 2,000


Exclusive Interview: คุณณัฏฐะ มหัทธนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุน บลจ.ทหารไทย

 

มั่นใจ...สงครามการค้าโลกยืดเยื้อ แต่ไม่ถึงขั้นยับเยิน จีนไม่ใช้เงินหยวนเป็นเครื่องมือตอบโต้กำแพงภาษีของอเมริกา ส่วนหุ้นไม่น่ากลัวอย่างที่หลายคนระแวง แนะนักลงทุนมั่นใจในข้อมูล ไม่ขี้สงสัย ไม่หวั่นไหวตามข่าวลือจนเกินเหตุ พร้อมยืนยันดัชนีหุ้นไทยมีสิทธิ์ทะยานแตะ 2,000 จุด

เรื่องสงครามการค้า

เราคงต้องอยู่กับมันอีกนาน โดยต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ทางจีนแสดงออกมา ถ้าตีความแบบชาวบ้านก็คือแสดงความเป็นผู้ใหญ่ คือมีการตอบโต้ แต่ไม่ได้ตอบโต้จนเกินเลยไป หรือว่าคุณทำผมมา ผมทำคุณไป แบบตรงๆแบบนั้น เขาอาจหาทางอื่นๆที่เป็นทางเลี่ยงที่เขาพอจะทำอย่างอื่นได้ ให้ โดนัลด์ ทรัมป์ รู้ว่าเขาก็มีความแข็งอยู่ข้างใน แต่ว่าไม่ได้ไปทำให้สถานการณ์ลุกลามไป

อย่างหนึ่งที่ต้องจับตา เราก็จะย้ำเสมอเลยว่าดูตัวชี้วัดอย่างหนึ่งคือเงินหยวน ซึ่งเงินหยวนมีการอ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา แต่ว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่ได้อ่อนค่าจนกระทั่งคนไปคิดว่าจีนจะใช้หยวนเป็นเครื่องมือหรือเป็นอาวุธในการทำสงครามการค้า ถ้าใช้หยวนเป็นอาวุธก็คือกดหยวนให้อ่อนค่าลงไปมากๆเพื่อชดเชยผลจากการตั้งกำแพงภาษี เพราะสินค้าก็แพงขึ้น ก็ไปกดเงินให้มันอ่อนมากๆไปเลย เพื่อให้คนซื้อยังซื้อได้ ซึ่งจีนก็ไม่ได้ทำแบบนั้นในช่วงที่ผ่านมา แล้วประเด็นนี้หรือปัจจัยนี้ คนก็จะต้องติดตามไปเรื่อยๆ

แต่ความจริงแล้ว ถ้าเกิดไปเชื่อทางการจีน หรือธนาคารกลางของเขา เขาก็เชื่อถือได้ เพราะที่ผ่านมาพูดอะไรไว้ก็ค่อนข้างทำตามนั้น เขาก็ย้ำมาหลายครั้งแล้วว่าเขาจะไม่ใช้เงินหยวนมาเป็นเครื่องมือหรืออาวุธในการทำสงครามการค้า และต้องการทำเงินหยวนให้มีเสถียรภาพ เพราะจีนไม่ยอมแลกแผนการใหญ่กับสถานการณ์ที่เป็นระยะสั้นอยู่ในทุกวันนี้ เพราะแผนการใหญ่ของจีนเขาต้องการให้เงินหยวนมีคนใช้กันเยอะๆ เป็นเงินสกุลหลักของโลกในอนาคต เพราะฉะนั้น ถ้าเอาเงินหยวนมาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองแบบนี้ มันก็จะเป็นภาพที่ไม่ดีและบั่นทอนความเชื่อมั่นที่สร้างกันมานาน ฉะนั้น ประเด็นนี้เราค่อนข้างมั่นใจ ซึ่งเราก็ติดตามดูรายวันในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน จึงมั่นใจว่าจีนน่าจะทำอย่างที่เราพูด

ตลาดหุ้นทั่วโลก

ในช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ตลาดค่อนข้างจะคลี่คลาย ไม่ได้แย่ลง หุ้นในบางตลาดปรับตัวขึ้นมาด้วยซ้ำ ซึ่งวันนี้ส่วนตัวอยากคิกออฟมุมมองใหม่ ก็จะมีมุมมองธีมในแต่ละเดือน ซึ่งฏีมในสัปดาห์ที่ผ่านมา หัวเรื่องเราใช้คำว่า Skepticism แปลว่าเคลือบแคลงสงสัย มันมีที่มาของคำกล่าวจากนักลงทุนที่เป็นนักลงทุนที่ยิ่งใหญ่ระดับตำนานในช่วงศตวรรษที่แล้ว ก็คือ John Templeton ซึ่งเป็นนักลงทุนที่อยู่ในช่วงยุคหลังจากเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐอเมริกาปี 1932 และหลังจากนั้นไม่นานก็เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาจนมาถึงช่วงกลางของศตวรรษที่แล้ว

เขาได้รับการขนานนามจากสำนักพิมพ์บางแห่งว่าเป็นนักเลือกหุ้น นักคัดเลือกหุ้นทั่วโลกแห่งศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว และยังเป็นผู้บุกเบิกการลงทุนที่เมื่อแต่ก่อนถ้าเป็นนักลงทุนในสหรัฐอเมริกา ก็จะลงทุนแต่ในสหรัฐอเมริกา แต่ Templeton เขาบุกเบิกลงทุนหุ้นนอกสหรัฐอเมริกา เป็นแอดเวนเจอร์เป็นการผจญภัยรุ่นแรกๆที่ออกมานอกประเทศ ซึ่งเขากล่าวประโยคที่เป็นอมตะคือ บูลมาร์เก็ต กระทิงขาขึ้น Born in pessimism เกิดเมื่อคนส่วนใหญ่มองโลกในแง่ร้าย ก็คือตลาดกระทิงมันจะเกิดตรงจุดต่ำสุด แล้วกลับตัวขึ้น เพราะฉะนั้นตรงจุดต่ำสุด คนส่วนใหญ่ยังมองโลกในแง่ร้าย โลกจะแตกทำนองนี้ และต่อไปคือ Grow on Skepticism คือเติบโตท่ามกลางความสงสัย เวลาตลาดที่มันฟื้นตัวขึ้นมาจากจุดต่ำมากๆ คนก็จะกลัวเยอะๆ เวลาขึ้นก็ไม่รู้ว่าจะขึ้นจริงหรือไม่ คนก็อาจจะงงไปเรื่อยๆ เดี๋ยวข่าวโน้นข่าวนี้เข้ามา ก็ยังรู้สึกว่าแหยง ยังรู้สึกยังไม่กล้าเข้า ตลาดกระทิงก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

จากนั้นก็จะเป็นเฟดที่สาม Mature on optimism ก็คือเติบโตเต็มที่เมื่อใครๆก็มองโลกในแง่ดี ถึงจุดนี้คนส่วนใหญ่เริ่มเชื่อแล้วว่ามันเป็นตลาดขาขึ้นจริงๆ ข่าวเดิมๆก็จะตีความในแง่ที่ดีขึ้น และหุ้นก็จะขึ้นไปเรื่อยๆ ตลาดก็ใกล้จะโตเต็มที่แล้ว และเฟดสุดท้าย And die euphoria และเหตุสุดท้ายตายเมื่อผู้คนกำลังอยู่ในภาวะเคลิบเคลิ้ม อะไรก็ดูดี สดใส เป็นโลกยุคใหม่ไม่เหมือนเดิม คือทุกคนซื้อหุ้นกันหมดแล้ว ก็เลยไม่รู้ว่าจะขายให้ใคร และหุ้นมักจะแพงด้วย

แต่ในปัจจุบัน หลังจากวันที่ 6 กรกฎาคมเป็นต้นมา เป็นจุดสำคัญ จำกันได้มั้ย 6 กรกฎาคม ตอน 11.01 น.บ้านเรา ตอนนั้นก็ลุ้นกันเลยว่าสหรัฐอเมริกาประกาศตั้งกำแพงภาษี 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์กับสินค้าจากจีน 25% ตรงนั้นเอง ลองไปแท็กดูหุ้นของประเทศที่ได้รับผลกระทบเยอะๆอย่างเช่น เซี่ยงไฮ้คอมโพสิท ของจีนปรับตัวขึ้น และในช่วงสัปดาห์ต้นเดือน ก.ค.ค่อนข้างจะฟื้นตัว ก็คือว่าคนมองโลกในแง่ร้ายก่อนเหตุการณ์จริงจะเกิดขึ้น และพอเหตุการณ์จริงมันเกิดขึ้นแล้ว ก็เห็นว่าจีนไม่ค่อยตอบโต้อะไรมาก เงินหยวนก็ไม่ถูกใช้ไปเป็นอาวุธจริงๆ เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าเปลี่ยนเฟส จากมองโลกในแง่ร้าย เราเชื่อว่า ณ ตรงจุดที่เราอยู่ตรงนี้เป็นจุดช่วงแรกๆของตลาดในเฟสที่สอง ก็คือตลาดช่างสงสัย คนจะสงสัยโน่นสงสัยนี่ แล้วทิศทางของข่าวจะกระตุ้นความสงสัยอยู่ตลอดเวลาว่ามันจะดีหรือเปล่า จะจบจริงหรือเปล่า และตลาดที่เราคิดว่าน่าจะลงทุนแล้วมันสามารถลงทุนจริงได้มั้ย ต้องรออีกมั้ย ส่วนใหญ่คำถามคนจะวนเวียนอยู่ตรงนี้ แล้วก็จะมีสิ่งที่คนจะเจอกันเยอะ ฝรั่งเขาเรียกว่า head fake ซึ่ง head ก็คือหัว ส่วน fake ก็คือ ปลอม ซึ่งมันคือมาจากกีฬาบาสเกตบอล เห็นหรือไม่ว่านักบาสพอเขาจะส่งบอลทางนึง เขาจะหลอกคู่ต่อสู้โดยหันหน้าไปอีกทางหนึ่ง โดย head fake ที่ใช้ในตลาดหุ้นก็คือ เหมือนมันจะขึ้น แล้วคนก็ซื้อตาม แล้วมันก็ลง และมันก็กลับตัวขึ้นมาอีก

วันก่อนมีเหตุการณ์ที่คล้ายแบบนี้ก็คือเงินปอนด์ มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า โดนัลด์ ทรัมป์ เขาไปตำหนินายกรัฐมนตรีของอังกฤษ เทเรซ่า เมย์ อย่างรุนแรง บอกข้อตกลงของคุณมันใช้ไม่ได้ แล้วบอกอีกว่าให้ บอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีต่างประเทศที่เพิ่งลาออกไปมาทำแทนเสียยังดีกว่า ตรงนี้ถือว่ารุนแรงมาก แต่ล่าสุดก็บอกว่าผมไม่ได้พูด แต่ตอนแรกที่มีข่าวออกมาเงินปอนด์ถูกกระหน่ำเลย เพราะว่าเขามาเพราะเงื่อนไขที่ว่า เออถ้าคุณทำเงื่อนไขเบร็กซิต ที่เขาเรียกว่า ซอฟต์เบร็กซิต กับเบร็กซิตหน่อมแน้มแบบนี้ อย่าคิดเลยว่าจะได้ข้อตกลงทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ผมไม่ให้หรอก เพราะผมกำลังต่อสู้กับอียูอยู่ คุณไปเอาใจอียู ผมก็ไม่ตกลงด้วยกับอังกฤษ

แต่พอมีการแถลงข่าวกลับทาง 180 องศา บอกผมไม่ได้พูด พร้อมกับอวยนายกรัฐมนตรีเมย์ มาทันที หรือเป็นเพราะที่ปรึกษาเขาไปพูดอะไรรึเปล่า เขาจึงกลับท่าทีแบบนี้ ก็เรียกว่าเงินปอนด์ก็ฟื้นขึ้นมา ลักษณะแบบนี้ เพราะเมื่อเข้าสู่ครึ่งปีหลัง เราเชื่อว่าเศรษฐกิจของยุโรปเอง อังกฤษเองที่เผชิญกับสภาพอากาศที่มันเลวร้ายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา แล้วเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ครึ่งปีหลังมันควรจะฟื้นตัวขึ้น แล้วความคาดหวังทางการยุโรปจะขึ้นดอกเบี้ยก็น่าจะกลับมา มันควรจะฟื้นตัว ตอนแรกๆเปิดเดือนกรกฎาคมมาเริ่มจะฟื้นแล้ว เงินยูโร เงินปอนด์ ตรงนี้ตลาดที่เป็น Skepticism มักจะมีเหตุการณ์หรือมีข่าวอะไรแปลกๆเข้ามา ทำให้เราสงสัยว่ามันจะฟื้นขึ้นจริงมั้ย แล้วโดนกระหน่ำขายลงไปด้วยข่าวแปลกๆแบบทรัมป์แบบนี้ แล้วปรากฏว่ามันก็ฟื้นขึ้นมา กลายเป็นเรื่องไม่มีอะไร

จะเตือนนักลงทุนในเรื่องนี้อย่างไร

สิ่งสำคัญโดยส่วนตัวในฐานะนักกลยุทธ์ที่ต้องยึดไว้นั่นคือเรื่องของสมมุติฐาน โดยสมมุติฐานของเราจะต้องแน่น อาจจะถูกหรืออาจจะผิด เวลาจะเป็นข้อพิสูจน์ ต้องมีหลักที่เรายึดไว้ได้ แล้วไม่ถูกโยนไปโยนมาด้วยความสงสัยที่มันเข้ามาตลอดเวลา แล้วแยกแยะสิ่งสำคัญได้ ตรงนี้สรุปเลยว่าสมมุติฐานของเราคืออะไร ก็คือเรายังอยู่ในการลงทุนของตลาดเกิดใหม่ เป็นตลาดที่เราชอบ เพราะครั้งที่แล้วทั้งเรื่องของเฟดขึ้นดอกเบี้ย ทั้งเรื่องของสงครามการค้าที่กระหน่ำ ทำให้ตลาดเกิดใหม่ปรับตัวลงไปมากในช่วงครึ่งปีแรก แล้วก็ทำให้เงินไหลออก ราคาก็ลงมา ถูกแล้วก็ถูกอีก อย่างบางตลาดเช่นบราซิลแต่ก่อน P/E 11-12 เท่า ตอนนี้ 9.5 เท่า รัสเซียเคย 6 เท่า ตอนนี้เหลือ 5 เท่า ตุรกีนี่โดนกระหน่ำเลย จาก 9 เท่าเหลือแค่ 6 เท่า ตลาดเกิดใหม่โดยภาพรวมก็อยู่ในระดับราคาที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ถูกแล้วก็ถูกอีก เพราะฉะนั้นเราก็ค่อนข้างมีมุมมองที่เป็นเชิงบวกมากขึ้น เพราะว่าระดับราคาที่ดีขึ้น

สมมุติฐาน 3 อย่างคือแบบนี้ สงครามการค้ายืดเยื้อแต่ไม่น่ายับเยิน ยืดเยื้อน่าจะไปถึง 6 พฤศจิกายน เลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐอเมริกา เพราะแรงจูงใจอันนี้มันชัดเจนว่าทรัมป์เขามีแรงจูงใจว่าต้องการใช้เรื่องนี้ในการหาเสียงให้มันดูดราม่า หลังจากนั้นมันควรจะจบได้แล้ว ดอกเบี้ยของเฟดเข้าใกล้จุดสมดุลมากยิ่งขึ้น เฟดมองจุดสมดุลน่าจะอยู่ที่ 2.9% ตอนนี้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% ขึ้นไปอีก 3-4 ครั้ง ก็น่าจะใกล้จุดสมดุลแล้ว เวลาใกล้จุดสมดุลก็เหมือนกับเวลาถอยรถไปใกล้กำแพง คุณจะเหยียบคันเร่ง หรือคุณจะเหยียบเบรก ผมขอเหยียบเบรก ระมัดระวังมากขึ้นในการขึ้นดอกเบี้ย แล้วก็นำไปสู่ดอลลาร์ไตรมาสสองที่แข็งค่าอย่างรุนแรง ก็น่าจะเป็นแค่รีบาวด์หรือการปรับฐานนั่นเอง และมีแนวโน้มอ่อนค่าที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี 2017 เพียงปีครึ่งเท่านั้นเอง น่าจะมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไป เพราะฉะนั้นจะสนับสนุนกองทุนที่เน้นหุ้นในตลาดเกิดใหม่

ตอนนี้ทางนักลงทุนสถาบันเข้าไปซื้อหรือยัง

ถ้าพูดถึงผมจะดูกระแสที่เข้าไปในตลาดต่างประเทศ อย่างบางประเทศที่แย่มากๆอย่างตุรกีที่เรียกว่าเป็นจุดอ่อนของตลาดเกิดใหม่ ช่วงหลังสุดนี้ก็เริ่มมีโฟลว์ที่ไหลเข้าจากนักลงทุนสหรัฐอเมริกา ถ้ามันเป็นตลาด ไม่ใช่หุ้นรายตัว มันจะไม่ลงไปจนถึงเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด ไปถึงระดับหนึ่งที่ความเสี่ยง ที่คนเผชิญที่คนรับรู้มันสมเหตุสมผลกับราคาที่มันถูกพอ ถ้ามันถูกพอแล้วมันคุ้มค่าความเสี่ยง ผมมักจะใช้คำนี้ คุ้มกับความเสี่ยงหรือยัง เรียกว่าความเสี่ยงตรงหน้ากับราคามันถูกพอหรือยัง ถ้าถูกพอแล้ว มันจะกลับตัวขึ้นมาเอง โดยสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นมา

มองตลาดหุ้นไทยอย่างไร ฝรั่งขายหนักมาก

เรามองอย่างนี้มานานแล้วว่าฝรั่งซื้อฝรั่งขาย เราไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ เพราะว่าตัวของไทยไม่ได้กลัวเงินไหลออกเพราะเงินเฟ้อเราก็ต่ำ ทุนสำรองเราก็เยอะ ดุลบัญชีเงินสะพัดเราก็เกินดุล ฉะนั้นประเทศไทยถือว่าเป็นกึ่งๆตลาดปลอดภัยด้วยซ้ำ ก็คือไม่กลัวเงินไหลออก เวลาเงินไหลออกหนักๆ คนไม่ค่อยกลัว แต่ว่าหุ้นไทยเดือนที่แล้วที่ลงมาเยอะเพราะสงครามการค้า เพราะเราเป็นประเทศส่งออก ถ้าเรามีสมมุติฐานที่ว่าสงครามการค้ายืดเยื้อแต่ไม่ยับเยิน ตรงนี้ตลาดหุ้นไทยยื้อๆ ไว้หน่อยสักนิดหน่อย มันไม่ยับเยินหรอก เพราะอย่างที่ว่าฐานะต่างประเทศที่ไล่ดู ก็คือว่าเสี่ยงต่ำ ตลาดหุ้นไทยก็เลยไม่ค่อยถูก เพราะมันเป็นของพรีเมียม ตรงนี้เรามองว่ามีออฟไซด์ที่ดีกว่าเดิม แล้วตลาดหุ้นไทยเราเองมองดาวน์ไซด์ที่จำกัด ก็คือไม่น่าจะลงไปเท่าไหร่หรอก เพราะเป็นอะไรที่ฝรั่งเองก็ไม่ได้กลัว ก็ลงทุนได้ในปัจจุบัน

มองดัชนีหุ้นไทยสิ้นปีเท่าไหร่

ผมเคยพูดไว้ แล้วก็จะไม่กลืนน้ำลายตัวเอง เคยพูดไว้ว่า 2,000 ซึ่งผมไปพูดทุกที่แล้วคนก็หัวเราะ ดังหรือเบาแล้วแต่สนิทสนม แต่มันเป็นได้ เพราะความจริงมันคือ 22-23% เขาบอกว่า 22-23% ใน 4-5 เดือนมันเคยเกิดขึ้น แต่คนไม่ค่อยเชื่อเพราะมีมุมมองคาดหวังที่มันต่ำ เออแล้วการเติบโตมันอยู่ที่ไหน ความคาดหวังต่อการเติบโตจะต่ำ แต่ความคาดหวังถ้ามันปรับตัวฟื้นขึ้นมาตามภาวะที่เรียกว่าตลาดขี้สงสัยแล้วคนสามารถปรับอารมณ์ได้ในแต่ละวัน ถ้าอารมณ์มันดีขึ้น เขาก็จะสามารถปรับมุมมองการคาดหวังต่อผลกำไร การเติบโตอะไรที่ตอนนี้ไม่ค่อยคาดหวังเท่าไหร่ สามารถที่จะปรับการคาดหวังขึ้นมาได้ แล้วอีกประการหนึ่งนั่นคือ ประเทศไทยเงินเฟ้อต่ำ ลองแท็กดูเงินเฟ้อ พื้นฐานเงินเฟ้อ มันปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นจากระดับเป็นศูนย์เลย คือกำไรบริษัทในอดีต เศรษฐกิจดีขึ้น ตรงนี้เป็นธีมของหุ้นไทย ตรงนี้สามารถหาอ่านได้ www.tmb.com

30 views
bottom of page