top of page

ดีดไม่ผ่าน 1,750 จุด...ขายทำกำไร


สหรัฐเริ่มพักตัว!

ในเชิงแนวโน้มทางเทคนิค การที่ SET สามารถกลับมาปิดเหนือเส้นค่าเฉลี่ย EMA 75 และ 200 วัน ที่บริเวณ 1,700 จุดได้ ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณของการแกว่งตัวขึ้นในระยะสั้นอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายสั้นบริเวณ 1,750 จุด (+/-) แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกในภาพรวมจะปรับตัวลดลงราว 0.53% แต่ตลาดหุ้นไทย กลับทำผลงานได้ดีกว่าโดยปรับตัวขึ้นสวนทางขึ้นมาราว 1.89% และถือเป็นตลาดหุ้นที่ Outperform ในสัปดาห์ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น และยุโรป ที่ปรับตัวขึ้น 0.93% และ 0.69% ตามลำดับ

ชัดเจนว่าตลาดหุ้นไทย ยังคงได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินต่างชาติที่กลับเข้ามาซื้อหุ้นสุทธิอีกครั้งต่อเนื่องทุกวันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในเชิงเทคนิคดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow กลับมามีสัญญาณ Buy Signal อีกครั้ง โดยมี Indicator สำคัญอย่าง MACD ยืนยันด้วยสถานะ Positive Divergence

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าภาพของ Global Fund Flow ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้ามายังตลาดหุ้นอื่นๆ ที่ Laggard ในช่วง 1-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งระดับการยอมรับความเสี่ยง หรือ Risk Appetite ที่ลดลงในตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยมีแรงกดดันจากการร่วงลงอย่างต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นของบริษัทในกลุ่ม FAANG (เฟซบุ๊ก แอปเปิล อเมซอน เน็ตฟลิกซ์ และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล) หลังจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง สะท้อนออกมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา 26 ส.ค.- 1 ก.ย.2561 สัดส่วนนักลงทุนที่ยังคงเชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น หรือ Bullish จะลดลง 2.4% WoW มาอยู่ที่ระดับ 29.1% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 38.5% และต่ำกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำลังกลับสู่แนวโน้มขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 5.2% WoW มาอยู่ที่ระดับ 32.1% เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 30.5% สวนทางกับตลาดหุ้นในกลุ่ม Outperform ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่เริ่มมีปัจจัยหนุนเข้ามา

ในส่วนของตลาดหุ้นญี่ปุ่น ที่ล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ได้มีมติคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นมาตรเงินเฟ้อระยะยาวไว้ที่ระดับ 0% พร้อมทั้งเปิดทางให้ผลตอบแทนปรับตัวขึ้นสูงกว่าเพดานที่ได้มีการกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 0.1%

นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะปล่อยให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาลญี่ปุ่นเคลื่อนตัวในช่วง -0.2% จนถึง +0.2% จากเดิมที่อยู่ในช่วง -0.1% จนถึง +0.1% การปรับเปลี่ยนนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นถือเป็นตอกย้ำถึงนโยบายผ่อนคลายอย่างยั่งยืน

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงหนุนจากผลการประชุมระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนายฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ที่ได้มีการตกลงที่จะร่วมมือกันเพื่อเตรียมยุติการเรียกเก็บภาษี ส่งผลให้ความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และยุโรปดูผ่อนคลายขึ้น

ขึ้นต่อไปได้แบบเสี่ยงๆหน่อย : ถ้ามองในมุมมอง Fundamental เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้น จะพบว่าเมื่อพิจารณาจาก Earnings Yield Gap ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเลือกลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นราคาน่าสนใจ ซึ่งจะประเมินด้วยการเอา Earning Yield (1/PE Ratio) ณ ปัจจุบันของตลาดหุ้นมาลบด้วยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี แล้วเทียบว่าค่า Earning Yield Gap ที่หาได้ในปัจจุบันมากกว่าหรือน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต สามารถบอกเป็นนัยว่าสินทรัพย์เสี่ยงของประเทศนั้นๆ อยู่ในเกณฑ์ Overvalued เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต

ในทางตรงกันข้ามถ้าค่า Earning Yield Gap ที่คำนวณได้มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต จะบอกเป็นนัยได้ว่าสินทรัพย์เสี่ยงของประเทศนั้นๆอยู่ในเกณฑ์ Undervalued เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าระดับ Earnings Yield Gap ของสหรัฐจะปรับตัวเพิ่มขึ้น +0.02% แต่ยังคงอยู่ที่ระดับ -1.2 SD จากค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ซึ่งถือว่า Overvalued ค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทย ที่แม้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีระดับ Earnings Yield Gap ลดลง 0.14% แต่ยังคงอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง หรือค่อนข้าง Fair Value ซึ่งประเด็นดังกล่าวน่าจะพอตอบคำถามที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นในระยะสั้นในช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐพักตัวลงได้

แต่สถานการณ์ในระยะต่อไป “นายหมูบิน” มองว่าการแกว่งตัวขึ้นของ SET ยังคงไม่มั่นคงนัก หลังจากที่ในเชิง Tactical พบว่า Momentum Index ของตลาดหุ้นไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.12 SD ของค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี หรืออยู่ในโซน Euphoria แล้ว เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินต่างชาติที่กลับเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นๆเท่านั้น จึงมองว่า Potential Upside Gain ของตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจำกัด รวมถึงจากประเด็นเรื่องปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐที่กลับมาเป็นประเด็นอีกรอบ โดยสหรัฐฯพิจารณาที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตรา 25% คิดเป็นวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์จากเดิมที่มองว่าจะเก็บในอัตรา 10% ซึ่งครอบคลุมถึงสินค้าจำนวน 6,031 รายการ ทำให้มองว่าปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จะเป็นประเด็นกดดันทำให้สกุลเงินใน Emerging Market อ่อนค่าลงได้อีก และกระแสเงินต่างชาติน่าจะไหลออกไปสู่สินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์มากขึ้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,750 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ

*****************************************************************

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

28 views
bottom of page