top of page
379208.jpg

ความเสี่ยงเครดิตการ์ดถูกขโมยข้อมูล


ผู้ใช้บัตรเครดิตและทำธุรกรรมการเงินออนไลน์วันนี้ เสี่ยงถูกมิจฉาชีพสวมรอยใช้แทน สถิติแค่ครึ่งปีเจอไปกว่า 500 ราย แบงก์ชาติเตือนให้ระมัดระวัง แต่การซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย กลายเป็นช่องโหว่ให้เกิดการแฮกข้อมูลได้ง่าย

จากการที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตือนธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินทุกแห่งให้หามาตรการป้องกันปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์หลังจากธนาคารกสิกรไทยและธนาคารกรุงไทยถูกแฮกข้อมูลลูกค้าเมื่อสัปดาห์ก่อน แม้ธนาคารทั้งสองแห่งได้แก้ไขปัญหาได้ทันควันก็ตาม

ทำให้เห็นว่า อาชญากรรมไซเบอร์ นับวันแต่จะคุกคามลูกค้าธนาคารและผู้ประกอบธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลออนไลน์ยิ่งขึ้นจนดูคล้ายกับว่า มันเติบโตพร้อมกับนวัตกรรมดิจิทัลใหม่ๆ ที่ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเครือข่ายยังตามหลังแฮกเกอร์อยู่ตลอดเวลา

กลุ่มชาติอาเซียนพยายามแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยมุ่งไปที่รัสเซียให้มามีบทบาทสกัดกั้นแฮกเกอร์ชาวรัสเซียที่เข้ามาป่วนประเทศสมาชิก แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

นวัตกรรมดิจิทัล ถือเป็นหลักไมล์ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมโลกครั้งที่ 3 (Industrial Revolution 3.0) กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 (Industrial Revolution 4.0)

โดยระบบสื่อสารอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน การใช้พลังงานทดแทนพลังงานจากฟอสซิล (น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ) 3D Printer หุ่นยนต์ (เครื่องจักรอัตโนมัติ) เป็นสะพานเชื่อมรอยต่อยุค

ขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 โดยในด้านบวกมีผลผลิตมากมายจากนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์แต่ในด้านมืด กลับมีอาชญากรรมรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้นมากับนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทั้งหลายเหล่านั้น

ธุรกรรมการเงินเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดที่บรรดาอาชญากรรมดิจิทัลเข้ามามีบทบาททางลบและทางร้าย

Digital Crime /Cyber Crime เกิดขึ้นในประเทศไทย ชุกชุมมาก ในช่วงปี 2015-2016 อันเป็นยุครุ่งอรุณของธุรกรรมการเงินออนไลน์ มีสิ่งใหม่เข้ามาในระบบการเงินและระบบธนาคารมากและเร็ว ระบบรักษาความปลอดภัยตามแทบไม่ทัน ทำให้เกิดช่องโหว่ในระบบจนเกิดการแฮกข้อมูลและสวมรอย ดูดเงินออกจากบัญชีมาก

Allianz Global Corporate and Specialty SE รายงานว่า เฉพาะปี 2015 ปีเดียวมีผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์ในเมืองไทยมูลค่าเสียหายกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 3,300 ล้านบาท

มูลค่านี้ ทำให้ไทยกลายเป็นชาติที่มีปัญหาอาชญากรรมคอมพิวเตอร์สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก

และทำให้ไทยตกเป็นเป้าหมายหนึ่งใน 25 เป้าหมายโจมตีด้วยมัลแวร์ (malware attack) จากทั่วโลก

แต่สำหรับเอเชีย-แปซิฟิกแล้ว กรุงเทพฯ เป็นมหานครอันดับ 1 ที่แฮกเกอร์ถือเป็นเป้าหมายโจมตี โดยผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดคือบริษัทในตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET)

มีการแฮกข้อมูลการเงินทั้งจากผู้ที่อยู่ในบริษัทและผู้ที่อยู่นอกบริษัท

ส่วนที่เป็นรองไทยในภูมิภาคนี้ก็คือจีนกับอินเดีย ทำให้รัฐบาลไทยต้องแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ใหม่หมดในปี 2016 ประกาศใช้เมื่อต้นปีที่แล้ว ทำให้ลดความถี่และมูลค่าเสียหายจากการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ลงไปมาก

นับแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วจนถึงเดือนมิถุนายนศกนี้มีการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ 252 ราย มูลค่าเสียหาย 245 ล้านบาท มีการออกหมายจับ 547 ราย แต่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้เพียง 396 ราย

คงไม่ได้รวมรายที่เจ้าของบัตรเครดิตเติมน้ำมันรถด้วยบัตรเครดิต แล้วเด็กปั๊มวัย 20ต้นๆแอบจดหมายเลขบัตร เอาไปซื้อวิดีโอเกมออนไลน์มาให้แฟนเล่น แม้ไทยกับเพื่อนชาติอาเซียนจะมีข้อตกลงร่วมมือกันป้องกันการโจมตีทางสื่อสารออนไลน์ (Cyberattacks Security Agreement) แต่ก็มีช่องโหว่ให้อาชญากรไซเบอร์ที่ปราดเปรื่อง มีความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสูงเข้ามาโจมตีได้

ระบบธนาคารออนไลน์และการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต่างให้ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน จนมีการแชร์ข้อมูลต่อกัน ถือเป็นจุดอ่อนที่แฮกเกอร์สามารถเข้ามาฉกข้อมูลไปได้

มูลค่าตลาดออนไลน์ทุกวันนี้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยทั่วโลกนั้นคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2021 จากมูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2015

แม้ทุกประเทศทั่วโลกจะสร้างมาตรการเข้มงวดขึ้นมาปกป้องระบบสื่อสารคอมพิวเตอร์จากการโจมตี โดยปีนี้ มีกว่า 400 องค์กรตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการกับกระบวนการอาชญากรรมไร้พรมแดนเหล่านี้

แต่บรรดาแฮกเกอร์กลับพัฒนาตัวเองให้เท่าทันเทคโนโลยีป้องกันเหล่านั้น ซ้ำล้ำหน้ากว่า

การปกป้องอาชญากรรมไซเบอร์จึงไม่ต่างไปจากการเล่น “โปลิศจับขโมย” ของเด็กๆยุคปู่ย่าตาทวดเพราะโปลิศมีหน้าที่ต้องวิ่งตามหลังขโมยอยู่ร่ำไป

แต่ก็น่าแปลก ขโมยที่ถูกโปลิศจับได้ ต้องมาเป็นโปลิศแทนนั้น

เมื่อมาเป็นโปลิศ กลับยังต้องวิ่งไล่ขโมยอยู่อีก บางครั้งเป็นอยู่หลายรอบกว่าจะจับขโมยมาทำหน้าที่แทนตนได้ แสดงให้เห็นว่า ตำรวจ ไม่ว่าจะตำรวจถือกระบองยุค “รถไฟ-เรือเมล์-ยี่เก-ตำรวจ”

มาจนถึงตำรวจไซเบอร์ใช้คอมพิวเตอร์เป็นอาวุธ ล้วนต้องวิ่งตามหลังขโมยอยู่ร่ำไป

40 views
bottom of page