top of page
379208.jpg

ราคาน้ำตาลโลกดิ่งเหว...ไทยขาดทุนทั้งระบบ 2 หมื่นล้าน


ราคาน้ำตาลโลกตกหนักเหลือ 11-12 เซนต์ต่อปอนด์ ส่งผลกระทบอุตสาหกรรมอ้อย-น้ำตาลไทยทั้งระบบ เพราะต้องพึ่งการขายต่างประเทศ 70% ขณะที่ผลผลิตอีก 30% พึงการขายในประเทศเป็นระบบราคาลอยตัว เหมือนอิงราคาน้ำตาลต่างประเทศที่กำลังทรุด ส่งผลให้กองทุนไม่สามารถจ่ายเงินคืนโรงงานน้ำตาลร่วม 2 หมื่นล้านบาท แทบจะหมดปัญญาหาทางออกไม่เจอ กลัวถูกบราซิลเล่นงานหาว่าแทรกแซงอุดหนุนอุ้มชาวไร่ - โรงงานน้ำตาลทำผิดข้อตกลงที่เพิ่งจะหย่าศึกพิพาทฟ้องร้องกันมา แม้จะขอให้คสช.ใช้ ม.44 ช่วยเหลือ ก็เกรงว่าเขาไม่ยอมอะลุ่มอล่วย เผยอุตฯอ้อย-น้ำตาลสิ้นยุดทองแล้ว ไม่ควรส่งเสริมให้ผลิตอ้อยเพิ่มอีกแล้ว

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ว่า ช่วงนี้อ้อย-น้ำตาลเข้าสู่ยุคตกต่ำ ถือเป็นธรรมชาติของสินค้าพืชไร่ เมื่อใดก็ตาม ถ้าซัพพลายออกมาเยอะ และความต้องการบริโภคยังคงเดิมอยู่หรือขึ้นมาเล็กน้อย หนีไม่พ้นที่จะทำให้ราคามันตกลง

“น้ำตาลของไทยที่ผลิตมาจากที่มีการผลิต 100% เราจะใช้บริโภคภายในประเทศประมาณ 30% และมีการส่งออก 70% เพราะฉะนั้นรายได้ทั้งระบบก็ต้องพึ่ง 70% คือการส่งออก หมายความว่าถ้าราคาน้ำตาลในต่างประเทศตกลง รายได้โดยรวมของระบบมันก็จะลดลงด้วย” นายสิริวุทธิ์กล่าวและว่า ราคาน้ำตาลในประเทศ 30% ที่ผ่านมา ในสมัยก่อนที่จะลอยตัว เรามีน้ำตาลที่เรียกว่าน้ำตาลโควตา ก. โควตา ข. และโควตา ค. ซึ่งน้ำตาลโควตา ก. คือน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์ จะขายภายในประเทศเท่านั้น คือน้ำตาลที่เราบริโภคกันอยู่ 30% ส่วนน้ำตาลที่เหลือคือโควตา ข. คือน้ำตาลทราบดิบ และน้ำตาลโควตา ค. 70% จะอยู่ในรูปน้ำตาลทรายดิบก็ได้ทรายขาวก็ได้หรือน้ำตาลรูปอื่นก็ได้ เหล่านี้จะขายส่งออกทั้งสิ้น ฉะนั้นที่ขายต่างประเทศ 70% คือขายตามราคาตลาดโลก เราไม่สามารถตั้งราคาขายเอง ราคาตลาดโลกก็คือราคาลอยตัวนั่นเอง

“น้ำตาลโควตา ก. ที่บริโภคในประเทศนั้น เป็นราคาที่มีคณะกรรมการกำหนดราคา ดังนั้น พอเราลอยตัวก็แปลว่าน้ำตาลโควตา ก. ที่บริโภคในประเทศ ก็จะถูกลอยตัวคือไปอิงราคาน้ำตาลต่างประเทศ โดยราคาน้ำตาลต่างประเทศจะขึ้นลงตามซัพพลายดีมานด์ของโลก บังเอิญช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พอเราลอยตัว และราคาน้ำตาลโลกปรับลดลงมาด้วย ก็เลยมีปัญหาว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น รายได้ของระบบตกลงและน้อยลง ปัญหาก็คือ เมื่อรายได้ของระบบน้อยลงก็ส่งผลถึงราคาอ้อยที่ชาวไร่จะได้ในระบบ 70:30 ก็จะถูกลดลงไปด้วย ก็เลยมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้าช่วยเหลือ แต่เรามีประเด็นและมีข้อพิพาทระหว่างไทยกับบราซิล ซึ่งบราซิลบอกว่ารัฐบาลไทยอุดหนุนน้ำตาลอุดหนุนชาวไร่ ถามว่าอุดหนุนจริงหรือไม่ เขาก็ไปจับประเด็นตรงที่บอกว่าเราช่วยชาวไร่ตันละ 160 บาท เราช่วยราคาน้ำตาลในประเทศกิโลกรัมละ 5 บาท สิ่งเหล่านี้เขาว่าเป็นการอุดหนุน เพราะฉะนั้นต้องเลิก และพอเลิกเสร็จเรียบร้อย สิ่งที่ชาวไร่เคยได้ตันละ 160 บาทและกิโลกรัมละ 5 บาทก็หมดไป พอหมดไป ยิ่งทำให้ชาวไร่มีรายได้จากการขายอ้อยน้อยลง ตรงนี้ก็เป็นที่มาที่ว่ารัฐก็ต้องช่วย ก็จะเข้าเงื่อนไขของบราซิลที่เป็นข้อถกเถียง”

นายสิริวุทธิ์กล่าวต่อว่า ประเด็นก็คือ ต้องหาช่องทางว่าจะทำอย่างไร เพื่อให้ชาวไร่อยู่ได้ และที่ผ่านมาเรามีกฎหมายอ้อยและน้ำตาล เราบอกว่า เมื่อเกิดประเด็นปัญหากองทุนอ้อยและน้ำตาลต้องเข้ามาเป็นผู้ช่วยดูแลชาวไร่และโรงงานน้ำตาล และบังเอิญปีที่ผ่านมา เรากำหนดราคาอ้อยเบื้องต้นอยู่ที่ตันละ 880 บาท และรอไปจนถึงราคาอ้อยเมื่อมีการขาย หรือมีการผลิตเป็นน้ำตาลหมดเรียบร้อยแล้วก็คำนวณเป็นราคาอ้อยเบื้องสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ซึ่งราคาอ้อยเบื้องสุดท้ายที่ผ่านมา อยู่ที่ 780 บาท พอเป็นอย่างนี้ก็แปลว่า เรามีการจ่ายค่าอ้อยเบื้องต้นเกินกว่าราคาอ้อยที่ขายได้จริง เพราะฉะนั้นกองทุนต้องปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายที่บอกว่าจะต้องคืนเงินส่วนที่โรงงานได้จ่ายเป็นค่าอ้อยเบื้องต้นสูงกว่าค่าอ้อยเบื้องสุดท้ายจ่ายตันละกว่า 100 บาท

“จังหวะปีที่แล้วก็คือเรามีอ้อยเข้าหีบ 135 ล้านตัน ฉะนั้นกองทุนก็ต้องหาเงินมาจ่ายคืนค่าอ้อยส่วนต่างนี้ประมาณ 13,000 ล้านบาท และมีค่าผลตอบแทนจากการผลิตอีกประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาท รวมแล้วกองทุนก็ต้องหาเงินมาจ่ายคืนโรงงานน้ำตาลประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนก็ไม่มีเงิน และกองทุนก็มีภาระหน้าที่แล้วจะช่วยชาวไร่อ้อยอย่างไร ตรงนี้คือประเด็นปัญหา” นายสิริวุทธิ์กล่าวและว่า

ทางออกก็คือ ชาวไร่บอกว่ากองทุนต้องหาทางไปกู้เงินมา เพราะที่ผ่านมา พอกู้เงินมาแล้ว ปีต่อไปถ้าราคาน้ำตาลดี ก็เก็บเงินจากระบบเข้ามาชำระหนี้ส่วนที่กู้ยืม ก็เป็นอีกปัญหาว่าการกู้เงินของกองทุนจะทำได้หรือไม่ เพราะว่าจะผิดข้อตกลงกับทางบราซิล มันก็เลยมีการพูดกันว่า ให้ใช้ ม.44 ประกาศออกมา ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในภาพของเราน่าจะทำได้ แต่ว่าในเงื่อนไขข้อตกลงของบราซิลไม่รู้ว่าจะทำได้หรือไม่ ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราก็หนักใจ ว่าจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร

“การที่กองทุนต้องหาเงินกว่า 20,000 ล้านบาทไปจ่ายโรงงานน้ำตาล คือถ้าไม่มีม.44 หรือไม่กล้าใช้ ก็ต้องไปหาช่องทางว่า จะทำอย่างไรไปหาเงินให้กองทุนกู้มาได้ กองทุนอาจจะออกหุ้นกู้ตัวเอง หรือพันธบัตรก็สุดแล้วแต่ จริงๆ แล้วกองทุนก็ยังมีทางหาเงินเข้ามา เพราะถ้าเมื่อใดก็ตามคือว่าน้ำตาลใช่ว่ามันจะตกไปอย่างนั้น แล้วไม่มีขึ้นเลย ซึ่งน้ำตาลก็มีโอกาสขึ้นโดยเก็บจากระบบเข้ามา แล้วมาชดใช้หนี้ตัวนั้นไม่น่าจะมีปัญหา เรื่องหาเงินไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือเพื่อนจะหาว่าเราแทรกแซง ตรงนี้ต้องระวังเหมือนกัน แต่หลายคนก็บอก ชาติอื่นเขาก็อุดหนุน แต่ถ้าเราจะไปพูดอย่างนั้นก็ลำบาก แต่เราก็ต้องหาช่องทางช่วยชาวไร่ และโรงงาน โดยมันจะออกเทาๆ หน่อย แต่ก็ต้องช่วย ไม่ช่วยก็อยู่ไม่ได้ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายต้องพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลไปทำอุตสาหกรรมอื่น เอาโปรดักต์น้ำตาลไปทำอย่างอื่น ให้มันมีโปรดักต์อื่นมากขึ้น แทนที่จะอยู่กับน้ำตาลอย่างเดียว”

นายสิริวุทธิ์ เปิดเผยว่าช่วงที่ผ่านมาและในปัจจุบันมีการส่งเสริมให้ปลูกอ้อยแทนข้าว ก็เป็นเรื่องต่อเนื่องจากนโยบายของภาครัฐในปีก่อนๆ จริงๆ แล้วสินค้าพืชไร่เกือบจะทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์ม หรืออะไรต่างๆ จะโอเวอร์ซัพพลายหมด คือผลิตได้มากกว่าความต้องการภายในประเทศ เมื่อเป็นอย่างนั้น เราต้องส่งออก เมื่อส่งออกประเด็นก็เกิดขึ้นมาว่าเราก็อาศัยราคาของต่างประเทศ แล้วเมื่อราคาต่างประเทศตกลง ก็มีปัญหาขึ้นมาว่า แล้วจะทำอย่างไร ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เราผลิตมาเกินกว่าความต้องการบริโภคภายในประเทศ แล้วต้องส่งออก ต้องพึ่งเขา ก็ต้องผลักดันให้ราคาขายมันสูงขึ้น จะได้มีรายได้ในระบบสูงขึ้น ตรงนี้คือที่มาที่ไป โดยที่ขณะนี้

“ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตอนนี้อยู่ที่ 11-12 เซนต์ต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์ ราคานี้ทำให้เราอยู่ลำบาก โดยราคาที่อยู่ได้คุ้มกับต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 15 เซนต่อน้ำหนัก 1 ปอนด์” นายสิริวุทธิ์กล่าว

“คนอื่นก็มีการดัมพ์ราคาขายมา และในเมื่อซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ประเทศที่ผลิตได้ต้องกัดฟันขาย และยิ่งเร่งขายเท่าไหร่ ราคาก็ยิ่งตกเท่านั้น ทางออกมันก็คือว่าถ้าเราจะอยู่อย่างนี้ มันก็ลำบาก เราก็ต้องหาทางเอาน้ำตาลไปทำอย่างอื่น เช่นผันเอาน้ำตาลไปทำเอทานอล ทำไบโอพลาสติก เป็นต้น ถือเป็นทางออกที่ถูกต้อง”

120 views
bottom of page