ในภาวะที่ตลาดหุ้นโลกเริ่มส่งสัญญาณของการพักตัวลงมาอีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าตลาดหุ้นไทยจะยังคงไม่มีปัจจัยสนับสนุนใหม่ที่ดีพอที่จะทำให้ SET ทรงตัวได้ดีกว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกและภูมิภาคได้ สะท้อนออกมากชัดเจนจากดัชนี Relative Strength Indicator ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของดัชนีตลาดหุ้นแต่ละประเทศกับดัชนีอ้างอิงอย่าง World Equity Index
สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าตลาดหุ้นที่ Outperform ยังคงเป็นตลาดหุ้นสหรัฐที่ดัชนี Relative Strength Indicator ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.44% สอดคล้องกับดัชนีสะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐ ที่จัดทำโดยสมาคมนักลงทุนรายย่อยแห่งสหรัฐ หรือ AAII ในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พบว่า ร้อยละ 42.2 เชื่อว่าตลาดหุ้นจะเปลี่ยนมาเป็นภาวะตลาดขาขึ้น (นักลงทุนต้องการซื้อมากกว่าขาย) หรือ Bullish ในอีก 6 เดือนข้างหน้าลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.3% แต่ยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับสัดส่วนร้อยละ 26.3 ที่มองว่ามีแนวโน้มเป็นภาวะตลาดขาลง (นักลงทุนต้องการขายมากกว่าซื้อ) หรือ Bearish เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.9%
ขณะที่ตลาดหุ้นที่ Underperform ชัดเจน ได้แก่ตลาดหุ้นเอเชีย, ยุโรป และจีน ที่ดัชนี Relative Strength Indicator ปรับตัวลดลง 1.77%, 0.78% และ 0.57% ตามลำดับ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยที่ดัชนี Relative Strength Indicator ปรับตัวลดลง 0.03%
ทั้งนี้การที่ตลาดหุ้นภูมิภาคกลับมา Underperform อย่างหนักอีกครั้ง เป็นผลมาจากความไม่แน่นอน หลังจากที่ตุรกีและอาร์เจนตินาเกิดวิกฤตหนักในเดือนที่ผ่านมา โดยส่งผลกระทบต่อเนื่อง ต่อตลาดหุ้นในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อย่างมีนัยสำคัญ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออินโดนีเซียเนื่องมาจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงการขึ้นดอกเบี้ยที่ไม่มีประสิทธิภาพของอินโดนีเซียตั้งแต่ต้นปี 2561 ส่งผลให้ค่าเงินรูเปี๊ยะห์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเช่นเดียวกับอินโดนีเซีย รวมถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค.2561 ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 6.4% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดระดับใหม่ในรอบ 9 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ในเดือน ก.ค.2561 อยู่ที่ 5.7% เป็นเหตุให้นักลงทุนวิตกกังวลมากขึ้น และหมุนเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงไปสู่สินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยกว่า
ในส่วนของการ Underperform ของตลาดหุ้นยุโรป เป็นผลต่อเนื่องจากการที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนปรับตัวลดลงสู่ระดับ 54.6 ในเดือน ส.ค.2561 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2559 และต่ำกว่าระดับ 55.1 ในเดือน ก.ค.2561 รวมถึงได้รับปัจจัยลบจากสหรัฐ และแคนาดาประสบความล้มเหลวในการบรรลุข้อตกลง NAFTA ฉบับใหม่
ยังอยู่ในระยะพักฐาน : ทิศทางของตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นยังคงอยู่ในภาวะของการพักตัวในระยะ 1-2 สัปดาห์ เพราะนอกจากปัจจัยในเชิงเทคนิคที่ล่าสุด SET กลับมาแกว่งตัวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA ทุกเส้น และ Indicator ระยะสั้นกลับมามีสัญญาณ Sell Signal แล้ว ในเชิงพื้นฐานตลาดหุ้นภูมิภาค และตลาดหุ้นเอเชียยังคงถูกกดดันจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมทำตามแผนเรียกเก็บภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ โดยจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อสินค้าของจีนวงเงิน 2 แสนล้านดอลลาร์ ทันทีที่มาตรการดังกล่าวได้ข้อสรุปจากการทำประชาพิจารณ์จากภาคส่วนต่างๆของสหรัฐ ซึ่งหากสหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ จะส่งผลให้สหรัฐเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งจากสินค้าที่นำเข้าจากจีนทั้งหมดในแต่ละปี
จากความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนออกมาจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ Credit Derivatives ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงิน เพื่อใช้ป้องกันการเปลี่ยนแปลงหรือความเสี่ยงในตราสารหนี้ของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตลอดจนการผิดนัดชำระดอกเบี้ยของตราสารหนี้นั้น
ดังนั้นการซื้อ CDS เปรียบเสมือนการทำประกันการผิดชำระหนี้ของลูกหนี้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้น และลดลงของราคา CDS นั้น แสดงถึงระดับความเชื่อมั่นของตลาดที่มีต่อคู่สัญญานั้นๆ คือถ้าหากมีความเชื่อมั่นที่สูง ค่า CDS ก็จะปรับตัวต่ำลง และถ้าหากเชื่อมั่นต่ำ ค่า CDS ก็จะสูงขึ้น
โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา CDS ของประเทศกลุ่ม Emerging Market ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ต่อเนื่องหลังจากที่ตุรกี และอาร์เจนตินาเกิดวิกฤตหนักในเดือนที่ผ่านมา โดยส่งผลกระทบต่อเนื่องให้มีเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่อย่างมีนัยสำคัญ นำโดยอินโดนีเซีย, อินเดีย และมาเลเซีย
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,750 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก ”นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club