Interview: คุณกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“ถึงตรงนี้เป็นสัญญาณเตือน เป็นใบเหลืองให้กระทรวงเกษตรฯอยู่เฉยไม่ได้แล้ว รวมถึงท่านนายกฯก็เตือนมาด้วยเมื่อสหกรณ์บางแห่งเริ่มมีปัญหา เป็นเหตุให้เราต้องเชิญธนาคารแห่งประเทศไทย ก.ล.ต. และขอให้กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการ ร่วมชูปัญหาการบริหารเงินทั้งระบบ 1,400 แห่ง”
สถานการณ์สหกรณ์ออมทรัพย์ขณะนี้
สหกรณ์ในประเทศไทยตามพ.ร.บ.สหกรณ์ 2542 จะมีสหกรณ์อยู่ 7 ประเภท ใน 7 ประเภท เช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ที่พูดถึง สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์แท็กซี่ ต่างๆรวมแล้วมี 7 ประเภท มีกว่า 7 พันแห่ง
เมื่อแยกเป็นแต่ละประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์จะมีอยู่ 1,400 แห่ง จะทำหน้าที่รับฝากเงินจากสมาชิก ต่อสวัสดิการให้กับสมาชิกที่เอาเงินมาฝาก ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้ามาขายในราคาถูกให้กับสมาชิก มีกำไรนิดหน่อยแล้วเอาผลกำไรมาแบ่งปัน ต่อมาก็พัฒนาจากที่มีเงินมากขึ้นก็เอามาให้สมาชิกกู้แล้วคิดดอกเบี้ย เมื่อดอกเบี้ยเข้ามาที่สหกรณ์ก็มาแบ่งปันกับสมาชิก แล้วการดำเนินงานของสหกรณ์ก็เป็นไปตามมติของคณะกรรมการสหกรณ์ที่จดทะเบียนไว้ ว่าจะไปซื้อสินค้าอะไร เอาอะไรมาขาย จ้างผู้จัดการสหกรณ์มาดูแลหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารดูแลบัญชี เหล่านี้คือสหกรณ์ดั้งเดิม
ในช่วง 4-5 ปีหลัง ปรากฏว่า สหกรณ์ก็เปิดกิจการขึ้นมาอย่างหนึ่ง คือรับฝากเงินจากสมาชิก แล้วให้ดอกเบี้ยด้วย เดิมทีให้กู้ แต่คราวนี้รับฝาก ขณะที่ช่วง 4-5 ปีนี้ เศรษฐกิจเราค่อนข้างเข้มแข็ง และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ถูกลงทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศหรือในประเทศ ซึ่งในประเทศเราไม่ถึง 1 บาทหรือ 1 บาทต้นๆ คนไทยส่วนหนึ่งนิสัยดั้งเดิม ชอบเอาเงินฝากเงินเก็บ รู้ว่าไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยน้อยไม่ถึงบาทหรือบาทต้นๆ ก็ไปหาวิธีการลงทุนอื่น แชร์โน่นแชร์นี่ขึ้นมาก็มาเจอสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ให้ดอกเบี้ยร้อยละ 3-4 บางแห่งให้ร้อยละ 5 ก็เอาเงินที่ฝากธนาคาร มาฝากที่สหกรณ์ออมทรัพย์เป็นจำนวนมาก
ถึงวันนี้จำนวน 1,400 แห่งของสหกรณ์ทั่วประเทศ เรามีเงินฝาก 2 ล้านล้านบาท เทียบกับงบประมาณปี 2562 ที่จะใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2561 มีทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท ตรงนี้เป็นการตรวจสอบครั้งล่าสุดที่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลสหกรณ์เข้าไปตรวจสอบ ในจำนวนนี้จะพบพฤติกรรมอีกแบบคือ สหกรณ์ในปัจจุบันนอกจากรับฝากเงินมาจำนวนมากแล้ว ก็จะมีการให้กู้ออกไปด้วย หรือถ้าไม่ให้กู้ ก็เอาไปลงทุนซื้อพันธบัตร ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นวงเงินถึง 1.9 ล้านล้านบาท
ตรงนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ปกติธนาคารก็ทำธุรกรรมคล้ายๆสหกรณ์ แต่ธนาคารเขาจะมีกฎหมายควบคุมค่อนข้างที่จะเข้มข้น มีธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้าไปดูได้ ออกกฎเกณฑ์ได้ในการที่จะให้ใครกู้เงิน ให้ตรวจสอบสถานะการเงิน หรือประวัติการเงินหรือที่เรียกว่าเครดิตบูโร อย่างถ้าเป็นหนี้ 9 เดือนถ้าจะไปกู้ใหม่ เขาก็จะดูคราวที่แล้ว กู้เงินไปเท่าไหร่ ถึงจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติ แต่สหกรณ์เรายังไม่มีระบบแบบนั้น ทำให้สมาชิกมีการกู้แล้วกู้อีก ก็ถือเป็นสวัสดิการ ขณะที่บัญชีของผู้กู้ มีการส่งไม่ครบหรือส่งเงินได้ไม่เป็นไปตามสัญญา มีการเรียกหนี้คืน ขณะที่การกู้สหกรณ์ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือถ้ามีก็เล็กน้อย เหมือนเราไปกู้ธนาคารใช้บุคคลค้ำ ใช้เพื่อนข้าราชการใช้เพื่อสมาชิกค้ำ เมื่อตัวผู้กู้ไม่จ่ายเขาก็ไปเรียกคนค้ำ ก็เริ่มมีปัญหาร้องเรียนเข้ามานั่นคือประการหนึ่ง
อันที่สองนอกจากให้สมาชิกกู้แล้ว บางทีสหกรณ์ ก. ก็ให้สหกรณ์ ข.กู้ สหกรณ์ ก.ก็ได้ดอกเบี้ยจากสหกรณ์ ข. แล้วสหกรณ์ ข.ก็ไปปล่อยกู้ให้สมาชิกอีกทอดหนึ่ง การตรวจสอบแบบนี้ เราเกรงว่าถ้าวันหนึ่ง ไม่ว่าจะสมาชิกด้วยกันเอง หรือสหกรณ์ผู้กู้ หรือเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือในระบบการเงินอื่นๆ เกิดมีปัญหาทั้งระบบมันก็จะเกิดความเสียหายกับสมาชิกที่เอาเงินมาฝาก 2 ล้านล้านบาท ที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ตรงนี้จึงเป็นข้อเตือน เป็นใบเหลืองให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ไม่ได้แล้ว รวมถึงท่านนายกรัฐมนตรีก็เตือนมาด้วย จากที่สหกรณ์บางแห่ง เริ่มมีปัญหา ฉะนั้นจำนวน 1,400 แห่ง ให้รับเข้ามาดู ก็เป็นเหตุให้เราต้องเชิญทางธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ และขอให้ทางกระทรวงการคลัง เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการ ดูปัญหาการบริหารเงินทั้งระบบของสหกรณ์ แล้วก็ดูกฎหมายก่อนว่า ใช้กฎหมายระเบียบตัวไหนมาทำให้การกู้หรือการบริหารของสหกรณ์ให้มันมีความมั่นคง มีความเคร่งครัด ไม่เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะมีการแก้ไขพ.ร.บ.สหกรณ์ ขณะนี้อยู่วาระที่ 2 และ 3 แต่ก่อนที่จะพิจารณาเสร็จ ก็จะให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เชิญทางธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาวางระบบก่อนใช้กฎหมายใหม่ ตรงนี้คือสิ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทำมาจนถึงขณะนี้
ที่ทำอยู่นี้ ก็ยังไม่สายเกินแก้ใช่ไหม
ยังไม่สายเกินแก้
ส่วนกฎหมายที่แก้จะออกมาอย่างไรนั้น คือ รายละเอียดอยู่ระหว่างการแปรญัตติ ก็จะทำให้ตั้งแต่การระดมทุนเข้ามาของสหกรณ์ ก็จะมีระเบียบในการระดมทุนเข้ามา รับฝากต้องคิดดอกเบี้ยให้แบบไหน และเวลาเอาเงินไปลงทุน ไปปล่อยกู้ต่อต้องทำอย่างไร ปล่อยกู้สมาชิกต้องทำอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกำหนดสเป็ก ผู้จัดการของสหกรณ์ออมทรัพย์ จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร จบอะไรมา ไม่ใช่จบปริญญาตรีมาอย่างเดียวแล้วจ้างเข้ามา ก็มีรายละเอียดมากขึ้น แต่ในปัจจุบัน สหกรณ์ก็เช่นเดียวกัน ถ้าทำผิด มีการให้ออก หรือหมดสภาพ แล้วก็ให้อำนาจนายทะเบียน ก็คืออธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปตรวจสอบคล้ายๆกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้าไปตรวจสอบธนาคารเรื่องการเงินต่างๆได้ ก็จะเคร่งครัดมั่นคงมากขึ้น
ต่อไปคนมากู้กับตัวสหกรณ์ต้องไปเข้าเครดิตบูโร
อาจจะ ตอนนี้อยู่ในระหว่างแปรญัตติอยู่ ถ้าไม่ใช่เครดิตบูโรแบบธนาคาร ก็น่าจะมีระบบหรืออะไรที่คล้ายๆกับเครดิตบูโรเข้ามาช่วยกรองอีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่ต้องตกใจ จากที่มีสื่อบางแห่งรายงานว่ามีสหกรณ์ 3 แห่งเกิดปัญหา แต่ยืนยันว่า เป็นแต่เพียงว่าเราเข้าไปตรวจสอบยังไม่มีอะไรเสียหายถึงขั้นล้มละลาย หรือมีผลกระทบกระเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หรือจะทำให้สมาชิกเสียหาย เพียงแต่ขอเชิญชวนสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งตัวผมเองก็เป็นสมาชิก ต้องลงไปดูการบริหารงานของกรรมการสหกรณ์ที่ท่านเลือกเข้าไป เวลามีประชุมประจำปีต้องเข้าไปดู ให้เขาแสดงบัญชี กู้เป็นอย่างไร หนี้เสียมีเท่าไหร่เพราะหลักการสหกรณ์คล้ายกับหลักประชาธิปไตย หลักการมีส่วนร่วม หลักการตรวจสอบ ดังนั้น ท่านต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลกรรมการที่เลือกเข้าไป เขาทำตามหน้าที่ ทำตามที่หาเสียงไว้หรือไม่
ส่วนที่มีปัญหาไปแล้ว อย่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น
อันนั้น มันเลยกระบวนการตรวจสอบ เข้าไปสู่กระบวนการกฎหมายอาญาแล้ว ตรงนั้นก็ต้องว่ากันไป ส่วนตรงนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังเข้าไปจัดการบัญชี เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เกิดผลกระทบกับสมาชิกให้น้อยที่สุด ขณะนี้กำลังเร่งรัดดำเนินการอยู่
สหกรณ์ที่เกิดความเสียหาย ที่บอกให้เติมเงินเข้ามาหน่อย ตรงนี้ทำอย่างไร
กฎหมายยังไม่เปิดช่องให้ทำโดยตรง แต่ว่าเราจะมีวิธีการอื่นที่กำลังดำเนินการอยู่ ดังนั้น ขอย้ำว่าสมาชิกต้องเข้าไปดูแลสหกรณ์ที่ท่านเป็นสมาชิกอยู่ รู้กำหนดกฎเกณฑ์ที่เขาเอาเงินเราไปลงทุน ไปทำอะไรบ้างให้ชัดเจน และดูทั้งตัวผู้จัดการและกรรมการสหกรณ์ ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญที่จะทำให้สหกรณ์เข้มแข็ง มั่นคง หรือจะทำให้ขาดทุน หรือมีปัญหา ซึ่งที่เกิดขึ้นก็เพราะปล่อยให้บางคนมีอำนาจมากเกินไป
“ตอนนี้ยังไม่สายเกินแก้ ยังไม่ต้องตกใจจากที่มีสื่อรายงานข่าวออกไปว่ามีสหกรณ์ 3 แห่งเกิดปัญหา เราเข้าไปตรวจสอบ พบยังไม่เสียหายถึงขั้นล้มละลาย หรือมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบของประเทศ รวมถึงทำให้สมาชิกเสียหาย”