ภาคเศรษฐกิจ อุตฯ ส่งออกไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น เหตุจากการเมืองสงบ ต่างชาติมองการเมืองไทยดีกว่าหลังรัฐประหารใหม่ๆ แต่ที่สุดแล้วต้องเดินหน้าสู่โหมดเลือกตั้งโดยเร็ว หลังเลือกตั้งแต่ละฝ่ายต้องเคารพกติกา รู้แพ้ รู้ชนะ ใครได้เป็นรัฐบาลต้องทำตามสัญญาเพื่อประโยชน์ของประชาชน พร้อมติง...ส.ว.แต่งตั้งควรเปิดกว้าง ไม่ควรล็อกไว้ให้เฉพาะนายพลเหล่าทัพ นายตำรวจ แต่ควรให้ภาคเอกชนที่มีกึ๋นเข้าไปร่วมงานด้วย
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงการคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งในประเทศไทยช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ว่า จากกฎหมายเลือกตั้งล่าสุดจะมีส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้งรวม 250 ที่นั่ง ดังนั้น จะทำให้คนในสายอาชีพภาคธุรกิจไม่มีที่นั่งในสภาฯ ซึ่งต่างไปจากเดิม รวมทั้งต่างไปจากสนช. ที่มีภาคเอกชนเข้าไปร่วมทำงานอันเป็นประโยชน์มากขึ้น เช่นการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับภาคเอกชน ภาคเศรษฐกิจ ที่นักธุรกิจในภาคเอกชนสามารถแสดงความคิดเห็นและให้ข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ได้
“อย่างกรมศุลกากรที่มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ ในรอบ 90 ปี ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยแก้ มันก็เป็นประโยชน์มหาศาลต่อผู้นำเข้าและส่งออก เรื่องพวกเบี้ยปรับทั้งหลายเราก็มีการแก้ แล้วก็มีอีกหลายอย่างเช่น พ.ร.บ.โรงงาน พ.ร.บ.เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ พ.ร.บ.สมุนไพร อีกเยอะที่เกี่ยวกับภาคเอกชน ซึ่งถ้าเราอยู่ข้างใน ก็สามารถทำการบ้านแล้วก็เสนอแนะให้กับสนช.ว่าอะไรที่เป็นไปได้ อะไรที่จะส่งผลให้เป็นปัญหาตามมา”
นายสุพันธุ์กล่าวถึงการกำหนดไว้ว่าวุฒิสภาที่จะมีการแต่งตั้ง 250 ท่านนั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของของคสช. ว่าจะทำกันอย่างไรต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้วควรจะมาจากหลายภาคส่วนด้วยกัน เช่น ภาคเอกชน ภาคดิจิตอล ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร หรือภาคสื่อมวลชน เพื่อที่จะช่วยกันสะท้อนถึงปัญหาหลักๆ ของประเทศจากมุมมองและความคิดของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจริงๆ
“ส.ว.ที่เขาวางไว้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นผบ.เหล่าทัพ เป็นตำรวจ จริงๆ น่าจะให้ภาคธุรกิจเข้าไปมีส่วนร่วม เนื่องจากคนในภาคธุรกิจจะอยู่ในปัญหา รู้ถึงปัญหา จากที่รู้เรื่องดีในสนามรบ ดังนั้น หลายๆ ภาคส่วนควรจะได้รับโอกาสเข้าไปทำงาน อย่างหอการค้า ส.อ.ท. เกษตร เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ถ้าการเมืองไม่มีปัญหา ภาคเศรษฐกิจภาคเอกชนก็ไปของเขาได้อยู่แล้ว ขออย่างหนึ่งอย่าให้มีปัญหา ให้มีความสงบ แล้วช่วยสนับสนุนบ้าง ก็น่าจะไปได้ดี เพราะประเทศไทยเรามีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันเยอะมาก แล้วก็มีความเข้มแข็งพอสมควร”
ทั้งนี้ นายสุพันธุ์ได้กล่าวถึงความตื่นตัวของบรรดาภาคธุรกิจ หลังจากมีว่าจะมีสัญญาณการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ว่า ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศมีมากขึ้น และจะทำให้มีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ส่วนทางด้านการเงิน ด้านไฟแนนซ์ ก็จะไปในทิศทางที่ดี รวมทั้งตลาดหุ้นก็จะสะท้อนบวกผลจากการที่จะมีการเลือกตั้งอย่างเต็มรูปแบบ
“ภาคเอกชนทุกคนคาดหวังว่าหลังจากเลือกตั้งแล้วทุกคนเคารพในกติกาของตัวเอง และกติกาที่กำหนดขึ้นมาว่าใครเป็นผู้ชนะ ใครแต่งตั้งรัฐบาล ใครจะเป็นฝ่ายค้าน ก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด อย่าให้มีประเด็นในการที่ไม่เข้าใจกัน แล้วมาคัดค้านประท้วง คิดว่าตรงนั้นประชาชนไม่อยากเห็น ในทางกลับกันอยากเห็นความสงบสุข ใครก็ได้มาเป็นรัฐบาลแล้วตั้งใจทำตามนโยบายที่ตัวเองตั้งไว้ ส่วนใหญ่จะมีการประกาศนโยบายว่าจะทำอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามเป้า ส่วนตัวเชื่อมั่นว่าทุกพรรครัฐบาลพยายามที่จะมีนโยบายดีๆ ให้กับภาคเศรษฐกิจอยู่แล้ว”
ส่วนที่มีหลายคนมองว่าอาจจะมีการเลื่อนหรือขยับเวลาในการเลือกตั้งออกไปอีกนั้น นายสุพันธุ์กล่าวว่า ถ้าขยับเวลาไปไม่นานมากก็คงจะไม่มีประเด็น เพราะที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าสภาพการเมืองมีความสงบ แม้จะมีการเคลื่อนไหวบ้างก็ไม่ได้มากมาย และต่างประเทศก็เริ่มยอมรับการเมืองของไทย แต่ทิศทางที่ต้องเป็นคือต้องเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง
อยากให้รัฐบาลที่มาใหม่ในปีหน้ามีความเข้าใจภาคเอกชน ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างชัดเจน จริงๆ แล้วรัฐบาลนี้ก็ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอยู่พอสมควร ก็อยากจะให้ทำงานตั้งแต่เริ่มแรกในการจัดเตรียมงบประมาณที่จะสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอย่างไร ภาคเศรษฐกิจอย่างไร มีกลไกตรงไหน ภาคเอกชนมีทิศทางอย่างไร เราทำงานร่วมกัน ตรงนั้นจะช่วยให้ การตอบรับของภาคเอกชน ตอบรับของเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น...
ในช่วงที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นของสภาอุตสาหกรรมในส่วนอุตสาหกรรมโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก สูงสุดในรอบ 12 เดือน ถือเป็นทิศทางที่ดี จากการส่งออกที่ดีขึ้น ตัวเลขจีดีพีของไทยดีขึ้น ยอดการขายสินค้าคงทนดีขึ้น รถยนต์ในประเทศจำหน่ายมากขึ้น โตขึ้นมากว่า 20% สินค้าเกษตรบางส่วนก็ค่อยๆ ทยอยดีขึ้น สำหรับพวกที่ส่งออกส่วนใหญ่จะดีขึ้น ตอนนี้สินค้าไทยเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ ขณะเดียวกัน เราก็พยายามผลักดันเมด อิน ไทยแลนด์ให้ต่างประเทศรับรู้ และส่งเสริมให้คนไทยใช้สินค้าไทยมากขึ้น ก็มีส่วนหนึ่งคืออุตสาหกรรมขนาดกลางและเล็กอาจจะมีผลกระทบบ้าง ก็แล้วแต่อุตสาหกรรม คือไม่ได้แย่ทุกอุตสาหกรรมหรือดีมากทุกอุตสาหกรรม ก็มีคละเคล้ากันไป ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนั้นๆ ว่ามีการส่งออกเยอะแค่ไหน มีความต้องการของต่างประเทศมากขึ้นหรือไม่ ความต้องการในประเทศเยอะขึ้นไหม อย่างยานยนต์โตขึ้นกว่า 20% ทำให้ชิ้นส่วนทุกอย่างดีตามไปด้วย…
รัฐบาลเองก็พยายามผลักดันนโยบายการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์เยอะพอสมควร แถมยังมีนโยบายเรื่องอีอีซี ตรงนั้นก็จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความยั่งยืนในระยะยาว ในช่วงสั้นนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลน่าจะกำลังแก้ไขอยู่ โดยที่เรื่องการกีดกันทางการค้า คิดว่ามันจะเป็นผลบวกต่อไทย เพราะวันนี้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นส่วนที่มีการบริโภคใหญ่ของโลกก็มีปัญหากับจีน แล้วก็มีปัญหากับทางอียูบ้าง ฉะนั้น จึงทำให้มีการลงทุนไหลมายังประเทศไทยมากขึ้น และสินค้า คุณภาพ อินฟาสตัคเจอร์ของเรา มันพร้อมที่เขาจะมาผลิตที่เมืองไทยพอสมควร...
ทุกวันนี้ญี่ปุ่นใช้ฐานการผลิตในเมืองไทยเยอะอยู่แล้ว ส่วนเกาหลีก็มีบางส่วน ที่มาลงทุนในไทยและลงทุนที่เวียดนาม ให้จีนเองน่าจะขยับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ในส่วนของญี่ปุ่นก็อาจจะมีที่อีอีซี อย่างนายกรัฐมนตรีไทยไปยุโรปก็ดี หรือจีนมาพานักธุรกิจมา 200 คน หรือญี่ปุ่นมาก็ดี ส่วนใหญ่ก็สนใจในโครงการอีอีซีของภาครัฐ