บล.เอเซีย พลัส ในกลุ่มบมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4/2561 จะยังผันผวนสูง แม้มีแรงหนุนจากการเลือกตั้งในประเทศเข้ามา แต่ยังถูกกดดันจากสงครามการค้าสหรัฐ กับจีน ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียน หรือ บจ.ของไทยมีแนวโน้มต่ำกว่าคาด กลยุทธ์การลงทุนจึงเน้นหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ด้าน ทิสโก้ กำชับแม้ไตรมาส 4 ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวเด่น แต่ไทยยังมีอุปสรรค แนะถึงปลายปีหาจังหวะขายล็อกกำไร ก่อนปีหน้าเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากหลากปัจจัยลบ
สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินสถานการณ์ตลาดหุ้นไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 ว่าจะเผชิญทั้งปัจจัยบวกและลบเข้ามา ทำให้มองว่าตลาดหุ้นไทยจะแกว่งผันผวนสูง ในกรอบ 1,620-1,733 จุด
นางภรณี ทองเย็น รองกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอซียพลัส ให้ความเห็นว่า โค้งสุดท้ายของปีนี้ ตลาดหุ้นไทยยังผันผวนสูงมาก ฝั่งของปัจจัยลบที่ยังมีน้ำหนักมาก ก็คือสงครามการค้า โดยเฉพาะสหรัฐ กับจีน ยังไม่มีทีท่าจะผ่อนคลาย กระทบการค้าและเศรษฐกิจโลกช่วงปลายปีนี้และปีหน้าแน่นอน
“ส่วนฝั่งของปัจจัยบวก ก็คือการเลือกตั้งในบ้านเรา” นางภรณี กล่าว
“สงครามการค้าขยายตัววงกว้าง และพบว่ายอดวงเงินในการกีดกันการค้าสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน สูงถึง 2.5 แสนล้านเหรียญฯ ผลักดันให้ต้นทุนสูงขึ้น และทำให้อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้น เชื่อว่าผลกระทบจากสงครามการค้า จะกระทบการค้าโลกชัดเจนปลายปีนี้ และกดดันเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนในปี 2562”
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเฟดขึ้นดอกเบี้ย เมื่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะยิ่งเป็นการเร่งให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยคาด Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้งในปีนี้ ขณะที่ในปี 2562 และ 2563 Fed มีแผนขึ้นดอกเบี้ยราว 3 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยเชื่อว่ากรอบการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed น่าจะหยุดไว้ที่เพียงปี 2562 เพราะการกีดกันการค้ากระทบผู้บริโภค และภาคการผลิตในวงกว้าง น่าจะกดดันให้เศรษฐกิจสหรัฐ เข้าสู่ภาวะชะลอตัวในปี 2562
“เศรษฐกิจโลกยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาค่าเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง ซึ่งเกิดจากปัญหาพื้นฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขาดดุลการค้า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ภาระหนี้ต่างประเทศ ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีน้อย กดดันให้ค่าเงินตกต่ำ เช่น ตุรกี เวเนซุเอลา และอาร์เจนติน่า เป็นต้น
สำหรับประเทศในเอเชีย ส่วนใหญ่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะไทยที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเกินดุลการค้าติดต่อกัน 4 ปี มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ยกเว้นบางประเทศ เช่น อินเดีย มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดนานเกิน 13 ปี ขาดดุลการค้าตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ระดับต่ำ รวมถึงอินโดนีเซีย ที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดติดต่อกันราว 6 ปี มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศต่ำ
ดังนั้น จากนี้ไป จึงเป็นปีแห่งการเฝ้าสังเกตผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจโลก”
นางภรณี กล่าวด้วยว่า ในด้านปัจจัยภายในบ้านเราเอง มีเรื่องที่ต้องติดตามคือ ประเด็น การเมืองเรื่องเลือกตั้ง และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน
“ปัจจัยที่จะกดดันตลาดหุ้นไทย คือ กำไรของบริษัทจดทะเบียน หรือ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากกำไร บจ.งวดครึ่งปีแรก คิดเป็น 50% ของประมาณการทั้งปี 2561 ที่สายงานวิจัยฯ ทำไว้ 1.1 ล้านล้านบาท หรือ EPS 110.78 บาทต่อหุ้น แต่เมื่อพิจารณารายบริษัทแล้ว พบว่า บางบริษัทบันทึกรายการพิเศษขนาดใหญ่, บางบริษัทกำไรดำเนินงานต่ำกว่าคาด, บางบริษัทไปซื้อกิจการ ส่งผลให้เกิดภาระดอกเบี้ยจ่ายสูง กดดันกำไร
สายงานวิจัยฯ จึงได้ปรับลดประมาณการกำไร บจ.ปี 2561 ลงราว 2.65 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 2.4% จากเดิม ส่งผลให้กำไรสุทธิของบจ. ปีนี้ลดลงมาที่ 1.07 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ EPS 108 บาทต่อหุ้น เติบโต 10.3% จากปีก่อน
ขณะที่ในปี 2562 ได้ปรับลดประมาณการกำไร บจ. ลงเล็กน้อยราว 3.1 พันล้านบาท หรือ 0.27% จากประมาณการเดิม ส่งผลให้กำไรปี 2562 อยู่ที่ 1.15 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น EPS ราว 115.5 บาทต่อหุ้น เติบโต 6.9% จากปี 2561 นี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสายงานวิจัยฯ ปรับลดประมาณการกำไรตลาดหุ้นไทยลง แต่อัตราการเติบโตใกล้เคียงตลาดหุ้นภูมิภาค”
สำหรับปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย คือ การเมืองในประเทศคลี่คลายลง หลังพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มา ส.ว.และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2561 ทำให้กำหนดการเลือกตั้งมีความชัดเจน กล่าวคือ การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นภายในกรอบเวลา 240 วัน ซึ่งหากพิจารณาจากเงื่อนไขของเวลาแล้ว การเลือกตั้งอาจเป็นได้ทั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 หรือวันที่ 31 มีนาคม 2562 แต่ต้องไม่เกินวันที่ 5 พฤษภาคม 2562
“โดยภาพรวมของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ปัจจุบันถือได้ว่าความเสี่ยงที่จะทำให้การเลือกตั้งทั่วไปไม่เกิดขึ้นนั้นน้อยลง จากนี้ไปการประกาศปลดล็อคการเมือง น่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะสั้น แต่สถานการณ์การเมืองหลังการเลือกตั้ง ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อไป”
เหล่านี้คือปัจจัยที่ยังมีอิทธิพลให้ตลาดหุ้นไทยผันผวนหาก อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า หากตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ และกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยอีกครั้งในไตรมาส 4 ก็จะเป็นแรงส่งให้ดัชนีหุ้นขึ้นไปแตะระดับ 1,790-1,848 จุดได้เช่นกัน
ทิสโก้เตือนเศรษฐกิจชะลอตัว แนะจับจังหวะขายล็อกกำไร
สำหรับ ทิสโก้ มองว่าทิศทางตลาดหุ้นไทยไตรมาส 4/2561 ควรเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนต้องหาจังหวะ ขายล็อกกำไร ซึ่งก่อนถึงปีหน้าเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มชะลอตัวจากหลากปัจจัยลบ
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกรวมไปถึงตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 4/2561
สำหรับตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะ ตลาดดาวโจนส์ มีปัจจัยหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกาและกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากในไตรมาสที่ 2/2561 ที่ผ่านมากำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 ของสหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในขณะที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงานผลกำไรเติบโต 18% แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา คือ การปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของสหรัฐ (Bond Yield) ที่หากปรับเพิ่มขึ้นเกินกว่า 3.3% จะเริ่มกดดันมูลค่าหุ้น (Valuation) และทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงได้
“TISCO ESU มองว่าตลาดหุ้นโลกในไตรมาส 4 น่าจะอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะที่การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ในไตรมาส 4 ต้องจับตาดูความเสี่ยงจาก Bond Yield ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแรง เนื่องจาก 1) ในไตรมาสที่ 3-4 ปี 2561 สหรัฐ เพิ่มปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตทางเงินปี 2551 เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงจากนโยบายลดภาษีของประธานาธิบดี Trump และ 2) ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ตัดสินใจขยายกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เป็น -0.2% ถึง +0.2% จากเดิมซึ่งอยู่ระหว่าง -0.1% ถึง +0.1% ส่งผลให้ Bond Yield อายุ 10 ปี ของญี่ปุ่น ทะลุ 0.1% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการใช้มาตรการ Yield Curve Control ในปี 2559 และทำให้ Bond Yield ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นตาม”
นายคมศร กล่าวหากมองไปถึงปี 2562 ตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจาก 1) ผลกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลดภาษีของสหรัฐ เริ่มทยอยหมดลง 2) ผลกระทบจากสงครามทางการค้าจะเริ่มเห็นชัดขึ้น 3) เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีความเสี่ยงชะลอตัวจากการขึ้นภาษีบริโภคระลอกสองในช่วงเดือน ต.ค. และ 4) การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินอ่อนค่ารุนแรงในช่วงนี้
นอกจากนี้ ในปี 2562 สภาพคล่องของโลกจะมีแนวโน้มลดลงเนื่องจาก (Fed) ได้ทำการทยอยถอนสภาพคล่องออกจากตลาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยุติ QE ในสิ้นปี 2561 ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ทยอยลดการซื้อสินทรัพย์ลงอย่างต่อเนื่อง
“ดังนั้น มองว่าตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานในปี 2562 จึงแนะนำให้นักลงทุนพิจารณาหาจังหวะขายทำกำไรในช่วงปลายปี 2561 นี้”