แม้จะมีการคัดค้านจากผู้ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะ เครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ที่มาชุมนุมกันหน้ากระทรวงพลังงาน แต่ทางกระทรวงพลังงานยังคงเปิดประมูลต่ออายุสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกช ตามกำหนดในวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เนื่องจากแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งเป็นแหล่งพลังงานหลักที่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติไดมากกว่า 70% ของประเทศ และกำลังสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 ซึ่งเมื่อสิ้นอายุสัมปทานแล้วไม่สามารถต่ออายุกับผู้ดำเนินงานรายเดิมได้อีก
สำหรับผู้ที่เข้ายื่นซองชิงประมูลสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ-บงกช เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 มี 2 รายคือ ปตท.สผ.และ เชฟรอน กรณีนี้ทำให้นักวิเคราะห์หุ้นหันมาประเมินสถานะของ บริษัท ปตท.สผ. หรือ PTTEP อีกครั้ง และลงความเห็นว่า เมื่อรวมกับความแข็งแกร่งของปัจจัยพื้นฐานด้านผลการดำเนินงานบริษัทที่พลิกฟื้นจากขาดทุนมาเป็นกำไรแล้ว บริษัท ปตท.สผ. หรือ PTTEP ก็กลับมาเป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุนอีกครั้งหนึ่งในกลุ่มพลังงาน
บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง ให้ความเห็นว่า catalyst ระยะสั้นของ PTTEP คืองานประมูลต่ออายุโครงการปิโตรเลียม เอราวัณ-บงกช ซึ่งจะรู้ผลในเดือนธันวาคมนี้ โดยประเมินเบื้องต้นหาก PTTEP ชนะในโครงการบงกช เข้าถือ 66.67% คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าต่อราคาเป้าหมายของ PTTEP อีก 12 บาทต่อหุ้น เลยทีเดียว (ยังไม่รวมในราคาเป้าหมาย) ในขณะที่บริษัทมีกำไรสุทธิไตรมาส 3/61 แข็งแกร่ง ที่ระดับ 11,207 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน -8,682 ล้านบาท ในงวดเดียวกันปีก่อนคือ ไตรมาส 3/2560 PTTEP จึงเป็นหุ้นที่ได้รับคำแนะนำให้ซื้อ ด้วยเป้าหมายที่ 160 บาท
บล.เคจีไอ ระบุว่า “PTTEP กลับมาทวงบัลลังก์คืน” และแนะนำให้ซื้อหุ้นตัวนี้ โดยมีราคาเป้าหมายที่ 163 บาท โดยเชื่อว่า PTTEP จะเป็นผู้ชนะประมูลสัมปทานอย่างน้อยก็คือแหล่งบงกช เนื่องจาก PTTEP มีประสบการณ์สูงในฐานะที่เป็นผู้ดำเนินโครงการบงกชในปัจจุบันอยู่แล้ว และคุ้นเคยกับแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยเป็นอย่างดี ทำให้มีการเพิ่มอัพไซด์ราคาหุ้น PTTEP ขึ้นไปอีก 12 บาทจากราคาเป้าหมายเดิมที่เคยตั้งไว้ เนื่องจากจะมีสัดส่วนการผลิตที่มากขึ้น และรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งในเดือนธันวาคม 2561 นี้ก็จะได้รู้ผลกันว่า PTTEP จะได้รับสัมปทานหรือไม่
ขณะเดียวกันกับที่ผลกาดำเนินงานของ PTTEP ในไตรมาส 3/2561 ก็คาดว่าจะออกมาดี โดยมีกำไรสุทธิที่ 10,900 ล้านบาท บวกขึ้น 203% จากที่ขาดทุน 8,700 ล้านบาท เนื่องจากมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนบนรายการภาษี มีกำไรจากเงินบาทที่แข็งค่า แต่ถึงแม้จะไม่นับผลบวกจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว รวมทั้งรับรู้ผลขาดทุนพิเศษ 2,400 ล้านบาทจากการขายโครงการ มอนทารา ที่ราคา 195 ล้านดอลลาร์ (มูลค่าสุทธิ 268 ล้านดอลลาร์) แต่ PTTEP ก็มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 นี้ เนื่องจากราคาก๊าซที่เพิ่มขึ้น 5% ในไตรมาส 3 และยอดขายที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่บริษัทซื้อหุ้น 22% ของโครงการบงกชต่อมาจากเชลล์ เสร็จสิ้นเมื่อ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา
“PTTEP จะชนะประมูลสัมปทานแหล่งบงกช เรายังได้คงปรับเพิ่มคำแนะนำจากถือเป็นซื้อ และเพิ่ม PTTEP เขามาอยู่ในรายการหุ้นเด่นของเราในกลุ่มพลังงาน” บล.เคจีไอสรุป