ดอลลาร์แข็ง !
ต้องเรียนว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณของการ Sell-Off เกิดขึ้นอีกแล้วนะครับ เพราะในภาพใหญ่ของตลาดหุ้นโลก นอกจากตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 0.06% พบว่าตลาดหุ้นสำคัญๆ ในภูมิภาคอื่นๆปรับตัวลงในทิศทางเดียวกันทั้งหมด โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง 1.38% ซึ่งตลาดหุ้นที่ถูกกดดันอย่างหนัก และ Underperform ชัดเจนได้แก่ ตลาดหุ้นยุโรป และตลาดหุ้นเอเชีย ที่ปรับตัวลดลง 1.73% และ 4.36%
ตลาดหุ้นยุโรป ถูกกดดันต่อเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านงบประมาณของอิตาลี หลังจากรัฐบาลอิตาลียืนยันที่จะปรับเพิ่มเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณในปี 2562 ที่ระดับ 2.4% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 1.6% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่งผลให้สหภาพยุโรป (EU) แสดงความไม่เห็นด้วย ขณะที่ตลาดหุ้นเอเชีย ได้รับผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดความกังวลที่ว่าประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Market อาจจะต้องดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากช่องว่างระหว่างอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของสหรัฐ และประเทศในกลุ่ม Emerging Market เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐได้รับแรงหนุนจากการที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป
ทั้งนี้ ภาวะ Sell-Off ดังกล่าวในตลาดหุ้นโลกได้รับการสนับสนุนจากทิศทางของดัชนี VIX Index ซึ่งมีความสัมพันธ์ผกผัน หรือมี Negative Correlation กับทิศทางของตลาดหุ้น โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกง ปรับตัวขึ้น 14.58%, 21.67% และ 3.55% ตามลำดับ และล่าสุดดัชนีทั้งหมดเคลื่อนไหวอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 25 วัน (SMA 25) แล้ว ทั้งนี้ในส่วนของตลาดหุ้นเอเชียเอง ภาวะ Sell-Off ดังกล่าว ได้รับแรงสนับสนุนจากทิศทางของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่สะท้อนจากดัชนี US Dollar Index ที่ปรับตัวขึ้น 0.90% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สวนทางกับทิศทางค่าเงินเอเชีย ที่ดัชนี Asian Dollar Index อ่อนค่า 0.62% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา
การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากจะได้รับแรงหนุนจากการที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปแล้ว ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมายังสนับสนุนการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐด้วย สะท้อนออกมาจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.6 ในเดือน ก.ย.2561 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน เพิ่มขึ้นจากระดับ 54.7 ในเดือน ส.ค.2561 รวมถึงตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐที่เพิ่มขึ้นถึง 230,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย.2561 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ.2561 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 168,000 ตำแหน่งใน ส.ค.2561
รอโอกาสซื้อที่ระดับราคาที่เหมาะสมไปก่อน : ในเชิงของปัจจัยพื้นฐานนั้นพบว่าประเด็นสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่การปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐ กดดันให้นักลงทุนทั่วโลกโยกเงินออกจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างตลาดหุ้น
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนอกจากถูกผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังคงถูกกดดันจากประเด็นการแถลงมาตรการควบคุมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์สำหรับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ โดยแบงก์ชาติจะปรับลดสัดส่วน LTV Loan to value ratio (เงินกู้ ต่อมูลค่าสินทรัพย์) จากเดิมที่ 95% สำหรับอสังหาริมทรัพย์แนวราบ และ 90% สำหรับอสังหาริมทรัพย์แนวสูง เป็นระดับ 80% สำหรับทั้งสองประเภทในกรณีที่เป็นการกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 สำหรับที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องบังคับใช้เกณฑ์ 80% ตั้งแต่บ้านหลังแรก โดยมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ม.ค.2562 เป็นต้นไป
จากปัจจัยดังกล่าวประกอบกับข้อมูลเชิงปริมาณ ทาง “นายหมูบิน” มองว่าจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จะกดดันให้เงินทุนยังคงมีแนวโน้มไหลออกจากตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังกดดันให้ผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศอื่นๆมีโอกาสปรับตัวขึ้นตาม อาทิ พันธบัตรรัฐบาลของไทยอายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นราว 0.05% ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลต่อมูลค่า หรือ Valuation ในทางทฤษฎีของตลาดหุ้นไทยด้วย
ดังนั้น สำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมน่าจะเป็นการโยกเงินเข้าลงทุนในหุ้น และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่มีระดับความผันผวนต่อตลาดโดยรวมที่ต่ำ (Low beta) และยังมีโอกาสได้รับเงินปันผลในช่วงที่เหลือของปี 2561 และปี 2562
อย่างไรก็ตาม ในด้านของโอกาสในการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในภาพรวมจริงๆ “นายหมูบิน” มองว่าหากตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลงจนระดับ P/E Ratio และ Earning Yield Gap กลับไปซื้อขายที่ระดับค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง (สมมุติฐานที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3% จากปัจจุบันที่ 2.87%) ระดับของ SET Index ที่เหมาะสมจะอยู่ที่ระดับราว 1,670-1,690 ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องเริ่มเห็นทิศทางการกลับเข้ามาซื้อของนักลงทุนต่างชาติอีกครั้ง ก็จะเป็นจุดที่นักลงทุนควรจะกลับมาพิจารณาปรับกลยุทธ์การลงทุนอีกครั้ง
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,800 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club