top of page

ธุรกิจไทยเร่งออกหุ้นกู้...Fund Flow ลุยตราสารหนี้ไทย


Interview: คุณอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

ตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.ถึงต้นเดือน ต.ค. Fund Flow ไหลทะลักเข้าตลาดตราสารไทยรวมแสนล้านบาท 80% ลงทุนในบอนด์ระยะยาว เหตุต่างชาติเชื่อมั่นปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีมาก ทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด สภาพคล่องทางการเงิน เพดานหนี้ต่างประเทศที่ยังต่ำ ค่าเงินบาทที่มีเสถียรภาพ ผลตอบแทนหลังหักลบเงินเฟ้ออยู่ในอัตราสูง ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ทำให้ภาครัฐและเอกชนไทยเร่งออกหุ้นกู้ตลอดปีนี้ไปจนถึงปีหน้า เฉพาะไทยเบฟปีนี้ออกหุ้นกู้ไปแล้วกว่าแสนล้านบาท

มองปรากฏการณ์ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี ที่พุ่งพรวดขึ้นมา 3.2-3.3% และมีโอกาสจะสูงมากกว่านี้อย่างไร

จริงๆ แล้วตอนที่ทะลุ 3% ครั้งแรก เราก็เริ่มเห็นมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ช่วงนั้นอาจจะทำให้นักลงทุนค่อนข้างจะตระหนกเหมือนกัน เราเห็นเงินที่ไหลออกไปทั้งหุ้นและบอนด์ แม้แต่ในตลาดบอนด์เองตั้งแต่ที่บอนด์ในสหรัฐอเมริกาทะลุ 3% เป็นครั้งแรก ช่วงนั้นก็จะมีเรื่องของสงครามการค้า มีการที่สหรัฐอเมริกาตั้งกำแพงภาษีจากทางจีนขึ้นมาอีก ก็ทำให้ส่งผลกระทบกับตลาดเกิดใหม่ทั้งหมดเลย ความกังวลตรงนั้นทำให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ไปเป็นวงกว้างตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือนักลงทุนต่างชาติเขาแยกแยะได้ว่าตลาดเกิดใหม่ไม่ได้เหมือนกันหมด

อย่างในประเทศไทย สิ่งที่เราเห็นคือเงินเริ่มไหลเข้าตลาดบอนด์ตั้งแต่กลางสิงหาคมเป็นต้นมา ถ้าจำได้ตอนนั้นจะมีเรื่องค่าเงินที่ร่วงลงหนักลามไปถึงเวเนซูเอล่าอะไรต่างๆ รวมถึงในเอเชียเราเอง เราก็จะเห็นเงินไหลออกจากอินโดนีเซีย อินเดีย หรือแม้แต่มาเลเซีย ที่เงินไหลออกค่อนข้างเยอะ แต่กลายเป็นว่าตลาดของตลาดตราสารหนี้ของไทยตั้งแต่กลางสิงหาคมเข้ากันยายนเป็นต้นมาพบว่า Fund Flow ไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยค่อนข้างเยอะ อย่างสิงหาคมเราเห็นเงินที่เข้ามาในตลาดบอนด์ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้าน กันยายนก็อีก 5 หมื่นกว่าล้าน หรือเดือนตุลาคม 5 วันทำการแรกที่ผ่านมาก็อีก 1 หมื่นกว่าล้าน ทำให้ตอนนี้ตัวเงินลงทุนสุทธิของต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยเข้ามาแล้วประมาณแสนล้าน

นอกจากนั้น ยอดถือครองสะสมของต่างชาติในตลาดไทยก็สูงขึ้นมาเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 9.5 แสนล้าน ถ้าถามว่าเรากังวลหรือไม่ว่าเงินพวกนี้จะเป็นเงินที่ร้อนหรือเปล่า มาพักชั่วคราวหรือเปล่า และพร้อมที่จะโยกออกไปหรือไม่ ซึ่งถ้าเรามาดูแล้วบอนด์มันจะนิ่งกว่าหุ้น เพราะบอนด์มีอายุ คือตัวระยะสั้นๆ เดือนนึง สามเดือนก็มี และตัวยาวๆ ก็มี สภาพคล่องของบอนด์ระยะยาว ก็ไม่คล่องเหมือนบอนด์ระยะสั้น ซึ่งเรามาดูว่าเงินต่างชาติที่เข้ามาปีนี้ประมาณแสนกว่าล้านนั้น เกินครึ่งลงทุนในพันธบัตรระยะยาวคือตัว 5-10 ปี ซึ่งพวกนี้ไม่ได้มีสภาพคล่องเหมือนระยะสั้น แปลว่าเป็นเงินที่เข้ามามีเจตนาเพื่อถือยาว เพื่อลงทุนระยะยาว และจากทั้งก้อนที่เราเห็น 9.5 แสนกว่าล้านที่อยู่ในตลาดบอนด์ไทยนั้น 80% คือพันธบัตรระยะยาว มีแค่ 20% ที่เป็นพันธบัตรระยะสั้น ถามว่ามันจะเป็นเงินที่อาจจะไหลออกเร็วไหม ถ้ามีสถานการณ์ที่เข้ามากระทบอีก คำตอบคือก็อาจจะเห็นได้ในส่วน 20% นี้ที่อาจไหลออก แต่เรียกว่าส่วนใหญ่เลยคือ 80% เป็นพันธบัตรที่ตั้งใจจะมาลงทุนระยะยาว

เฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ว่ามีกระแส Fund Flow เข้ามามาก เป็นระยะสั้นหรือระยะยาว

เกินครึ่งเป็นระยะยาว

ปีนี้กุมภาพันธ์ มีนาคม ก่อนจะถึงสิงหาคม เราเห็นว่ายอดเริ่มเป็นติดลบทุกเดือน แต่สิ่งที่ไม่เคยติดลบเลย คือพันธบัตรระยะยาว แต่ที่ติดลบจะเป็นระยะสั้นมีการเคลื่อนออกไปบ้างตามกระแสเช่นเดียวกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ทำให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยเป็นตลาดเกิดใหม่ไม่กี่แห่งที่ต่างชาติเขายังสนใจมาลงทุน

เป็นเพราะผลตอบแทนเราดีกว่ามากหรือเปล่า

นักลงทุนต่างชาติจะมองในเชิงพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากกว่า คนที่ลงทุนในตลาดบอนด์ส่วนหนึ่งเขาต้องดูปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่าลงทุนไปแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะคนที่ลงทุนมีสถานะเหมือนเป็นเจ้าหนี้ ลงทุนไปแล้วได้เงินคืนแน่นอน ไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ ฉะนั้นก็จะดูพื้นฐานของเศรษฐกิจประเทศเป็นหลัก

เราจะเห็นว่าปัจจัย 4 อย่างที่สำคัญ จะไม่เหมือนกับตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เลย คือ หนึ่ง.เรื่องของดุลบัญชีเดินสะพัดเราตอนนี้สูง เป็นบวก รับมากกว่าจ่าย สอง. สภาพคล่องทางการเงินดี สาม. หนี้ต่างประเทศเราก็ต่ำ อย่างเฉพาะภาครัฐปัจจุบันพอตลาดบอนด์โตขึ้นมา ภาครัฐหันมากู้เป็นสกุลเงินบาท กู้ในประเทศโดยออกพันธบัตร ออกอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นแทบจะไม่ได้พึ่งกับการกู้ที่เป็นสกุลต่างประเทศเลย ดังนั้น ถ้าดอลลาร์แข็งแค่ไหน เราก็ไม่ต้องกลัวว่าหนี้เราจะเพิ่ม สี่. ทุนสำรองระหว่างประเทศเราก็สูง พวกนี้มาลบบวกกันแล้ว ถึงแม้ตัวบอนด์ ยิลด์ของพันธบัตรไทย อย่างตัว 10 ปี ถึงจะขยับขึ้นมาแล้วอยู่ที่ 2.8% ต่ำกว่าของสหรัฐอเมริกาอีก เขาอยู่ที่ 3.2% ไปแล้ว แต่ด้วยความที่ปัจจัยพื้นฐานของเราดี แล้วตัวเงินเฟ้อของเรายังต่ำอยู่ เมื่อมาหักเงินเฟ้อแล้ว ตัวผลตอบแทนที่แท้จริงของเราก็จะอยู่ประมาณ 1.5 ก็ไม่ได้ถือว่าต่ำ ถ้าเทียบกับบางประเทศบอนด์ ยิลด์ ดูเหมือนสูง แต่เงินเฟ้อสูงยิ่งกว่า เพราะฉะนั้นผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนจริงๆ แล้วไม่ได้เยอะ แล้วยังต้องมากังวลกับเรื่องค่าเงินที่อาจจะอ่อนลงมาอีก แต่ประเทศไทยเราไม่เหมือนกัน

ดูแนวโน้ม คิดว่าจากนี้ไปภาคเอกชนกับภาครัฐ ยังจะออกพันธบัตร ออกหุ้นกู้อีกมากหรือไม่

ปีนี้เราเห็นแล้วว่าในส่วนของหุ้นกู้เอกชน 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นมาเกือบ 20% แล้ว เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลายๆ แห่งก็ล็อกเรื่องของต้นทุนดอกเบี้ยไว้แล้ว เพราะเชื่อว่าปีหน้าดอกเบี้ยขยับแน่นอน อันนี้ไม่ได้พูดถึงดอกเบี้ยกนง. ซึ่งกนง.มีความเป็นไปได้ที่จะปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า แต่ที่ว่าปรับขึ้นคือตัวผลตอบแทนของหุ้นกู้เอง เราเริ่มเห็นแล้วว่าครึ่งปีหลังเริ่มขยับขึ้นจากครึ่งปีแรก อย่างพวกภาคเอกชนที่ออกหุ้นช่วงครึ่งปีหลังเขาต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว แต่ว่าอย่างไรก็ตามเรายังคิดว่าปีนี้จะเป็นปีที่คนออกหุ้นกู้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และในปีหน้าเองก็เช่นกัน เนื่องจากการระดมทุนผ่านตราสารหนี้เป็นช่องทาง ธุรกิจเอกชนเองเขาใช้เป็นช่องทางปกติอยู่แล้ว ตอนนี้ส่วนใหญ่ถ้ามีทางออกคงไม่ได้พึ่งแบงก์อย่างเดียว เราจะเห็นว่าเวลามีเรื่องของการซื้อกิจการขนาดใหญ่นั้น ช่วงต้นแน่นอนว่าต้องใช้เงินกู้แบงก์ เพราะอาจจะรวดเร็วกว่า แต่หลังจากนั้นก็จะมารีไฟแนนซ์จ่ายคืนวงเงินกู้เหล่านั้นด้วยการออกหุ้นกู้ อย่างกลุ่มของไทยเบฟฯเองออกหุ้นกู้ปีนี้แสนกว่าล้านบาทแล้ว คือชิงออกก่อนอัตราดอกเบี้ยจะขึ้น

กระแสเงินต่างชาติที่จะไหลเข้ามา จะน้อยลงไปนี้หรือไม่

ในส่วนตรงนี้ก็มีความเป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับตัวบอนด์ ยิลด์ ของสหรัฐอเมริกา ตอนนี้อยู่ที่ 3.2 หักลบเงินเฟ้อไป ผลตอบแทนที่แท้จริงอาจจะยังไม่ได้ต่างกันมาก คืออาจจะยังต่ำกว่าผลตอบแทนที่แท้จริงจากการลงทุนในตลาดบ้านเราอยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ตัวบอนด์ ยิลด์ สหรัฐอเมริกาขึ้นไปต่อเนื่อง อันนี้เป็นไปได้ที่เราจะเห็นเงินส่วนนึง ไหลกลับไปลงทุนในสินทรัพย์ดอลลาร์ก็เป็นไปได้ แต่ว่าแต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านักลงทุนในตลาดบอนด์คือตลาดที่ใหญ่มาก และนักลงทุนในตัวตราสารหนี้จริงๆ แล้วถือว่าใหญ่กว่านักลงทุนในตลาดหุ้นด้วยซ้ำไป นี่คือพูดถึงทั่วโลก เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องมีการกระจายเงินลงทุนอยู่แล้ว และการกระจายเงินลงทุนในตลาดเกิดใหม่ช่วงที่ผ่านมาเขาก็ได้ผลตอบแทนที่ดี และคิดว่าด้วยปัจจัยของประเทศไทยที่แข็งแกร่งแบบนี้ อย่างไรเสีย Fund Flow คงไม่ได้หนีไปไหน ปีหน้าอาจชะลอลง แต่คงไม่ได้หนีไปไหน

คู่แข่งในตลาดตราสารหนี้ของเราคือใคร

ถ้าเป็นเพื่อนบ้านในอาเซียนด้วยกันเองก็คืออินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เราคงไม่เทียบกับเกาหลีหรือจีน เพราะขนาดตลาดก็ต่างกันแล้ว เพราะฉะนั้นที่ผ่านมาอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซีย อาจจะเป็นอะไรที่คนนำมาเทียบเคียง อย่างมาเลเซียเมื่อก่อนนี้ตัวอัตราผลตอบแทนพันธบัตรค่อนข้างใกล้เคียงกับบ้านเรามาก แต่ตอนนี้ก็เริ่มฉีกไปแล้ว เพราะมาเลเซียเองก็มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยไป แล้วเขาเองก็มีปัญหา คือปัจจัยพื้นฐานเขาอาจจะดูแย่กว่าบ้านเราในตอนนี้

โอกาสที่จะเกิดการขายทิ้งพันธบัตรไทยจะมีไหม ถ้ามีจะมาจากปัญหาอะไร

ถ้าเรามีเรื่องของภาวะสถานะทางเศรษฐกิจที่อ่อนลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ตรงนั้นจะทำให้คนเทขาย แต่ตอนนี้ยังมองไม่เห็น ณ จุดนั้น เพราะเราก็พัฒนามาถึงระดับหนึ่ง แล้วเราก็ไม่ได้พึ่งพิงกับเงินตราต่างประเทศมากเท่าไหร่ ฉะนั้นสมมุติถ้ามีการเทขายจริงก็ออกไปสัก 20% ที่เป็นตัวตั้ง ก็ไม่ได้มีความอ่อนไหวมากนัก ปกติค่าเงินจะอ่อนลงจากการเทขายพันธบัตร แต่เราคงไม่ได้อ่อนไหว เพราะหนี้ต่างประเทศเราน้อย และบางทีผู้ส่งออกจะชอบด้วยซ้ำไป ถ้าค่าเงินอ่อนตัวลงบ้าง

11 views
bottom of page