ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ และการค้าระหว่างประเทศ “สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์” แนะผู้ประกอบการนำเข้าสินค้า ตรวจตราถ้วนถี่และใช้เครื่องมือ “สิทธิประโยชน์ภาษีอากรระหว่างประเทศ” เพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเรื่องต้นทุนสินค้า สู้กับคู่แข่งต่างชาติที่รู้แกวดีเช่น แจ็ค หม่า ถ้ายังงงให้ปรึกษากรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
เรื่องการค้าสิ่งสำคัญมาก คือ เรื่องการจัดการสินค้า การสต็อค การขนส่ง การจัดการโลจิสติกส์ เรื่องการบริหารต้นทุน มีข้อแนะนำอย่างไร
การค้าระหว่างประเทศมีการแข่งขันสูงมาก เพราะฉะนั้นใครที่บริหารงานจัดการเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ภาษีอากรระหว่างประเทศได้ดีกว่าคนนั้นก็เป็นผู้ชนะ
นอกจากเรื่องโลจิสติกส์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนสินค้าแล้ว ยังมีอีกประเด็นที่ส่วนมากผู้ประกอบการไม่ได้นึกถึงกัน คือ เรื่องสิทธิประโยชน์ภาษีอากรระหว่างประเทศ
ทุกวันนี้สินค้าของ แจ็ค หม่า ที่เข้ามาในประเทศไทยเขาได้เปรียบกว่าคนอื่นเพราะว่าเวลาเอาเข้ามาเขาใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรนำเข้า เรียกว่า ภาษีอากรนำเข้าจากประเทศจีนเข้ามาไทย โดยเขาเอาสินค้าเข้ามากองไว้ในไทยตรงใดตรงหนึ่งซึ่งเรียกว่าศูนย์กระจายสินค้า สินค้าที่เขานำเข้ามาเขาใช้วิธีการยกเว้นอากรนำเข้าโดยใช้สิทธิของอาเซียนไชน่า คือ ข้อตกลงระหว่าง FTA อาเซียนกับจีน เพราะฉะนั้นสินค้าที่อยู่ในกรอบการตกลง แจ็ค หม่า จะนำเข้ามาโดยยกเว้นภาษีอากรนำเข้า
สินค้าทั่วไปที่เข้ามาจากจีนจะเสียภาษี 5-30% แต่ แจ็ค หม่า นำเข้ามาภายใต้กฎเกณฑ์ของ FTA อาเซียนกับจีน โดยเขาใช้วิธีตกลงกับรัฐบาลไทยซึ่งไม่ใช่เฉพาะจีนแต่ทุกประเทศทำได้หมด แต่จีนใช้วิธีการบริหารสิทธิประโยชน์ภาษีอากรตรงนี้ได้อย่างถูกต้อง เมื่อสินค้าเข้ามาแล้วเขาก็เก็บไว้ในศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้เขาคิดมาสร้างศูนย์โลจิสติกส์ฮับที่ EEC ถ้าเขาทำได้แบบนี้ 1.ต้นทุนสินค้าเขาจะต่ำมาก เพราะนำเข้ามาครั้งละมากๆ และเอามากองไว้ที่ศูนย์กระจายสินค้า EEC จากนั้นก็จะเอาสินค้านี้กระจายไปอยู่ตามศูนย์ต่างๆแต่ละจังหวัด เช่น ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง เขาจะมีศูนย์กระจายสินค้าแต่ละศูนย์ และแต่ละสินค้าที่เข้ามานั้นเขาใช้วิธีการ 1. วิธีการศุลกากรแบบรวดเร็วขึ้น 2. สินค้าที่นำเข้ามาไม่ต้องเสียอากรนำเข้า
เพราะฉะนั้นเป็นวิธีการที่เขาใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรนำเข้าระหว่างประเทศ ทำให้ได้ต้นทุนที่ถูกกว่า ซึ่งถ้าผู้ประกอบการไทยทุกรายที่นำเข้าและทำเรื่องแบบนี้จะสามารถใช้สิทธิ์ตรงนี้ได้ และไม่ใช่เฉพาะจากจีน สามารถใช้สิทธิ์กับทุกประเทศที่ลงนาม FTA กับไทย
ถ้าผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีอากรตรงนี้ได้ เขาจะมีความสามารถในการแข่งขันในเรื่องต้นทุนสินค้านำเข้าที่ต่ำลง
อันนี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่เข้าใจอย่างแท้จริง หรือเข้าใจก็ใช้แบบผิดๆ ถูกๆ และก็โดนศุลกากรจับ
ยกตัวอย่างล่าสุดเวลาใช้สิทธิ์ Form E คือ Form ที่มาจากจีน โดยปกติรัฐบาลจีนจะเป็นผู้ออกแบบฟอร์มนี้ ล่าสุดปรากฏว่าเขาใช้วิธีการคือ ให้หน่วยงานเอกชนของจีนเป็นผู้ออกแบบฟอร์มนี้ ผลดีคือ การออกแบบฟอร์มเร็วขึ้น แต่ผลเสีย คือ แบบฟอร์มที่ออกมาไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ตกลงกันใน FTA อาเซียนกับจีน แบบฟอร์มที่ออกมาเมื่อทำเรื่องยกเว้นอากรนำเข้า ศุลกากรก็จะไม่ให้เพราะข้อความหรือรูปแบบต่างๆ เปลี่ยนแปลงจากเดิม และจีนก็ไม่ได้แจ้งกับผู้ประกอบการไทย
ตรงนี้เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้ต้องจ่ายค่าประกันภาษีอากรและอาจจะต้องถูกจับ อันนี้ทำให้ผู้ประกอบการไม่ทราบและเป็นเรื่องน่าห่วง และถ้าเป็นแบบนี้ผู้ประกอบการของไทยเราจะไปสู้อะไรเขา
ขณะที่บริษัทเช่นของ แจ็ค หม่า นำสินค้าเข้ามาเขาใช้สิทธิประโยชน์ในเรื่องอากรนำเข้า ทำให้เขาได้รับการยกเว้นภาษีอากรถึง 20% ผู้ประกอบการไทยก็สามารถใช้สิทธิตรงนั้นได้เหมือนกัน
คำว่าภาษีกับอากรมันไม่เหมือนกัน ในประเทศไทยเวลานำเข้ามาเราจะมีการชำระอากรนำเข้าตามประเภทพิกัดอัตราศุลกากร เช่น เครื่องสำอางจะเป็นพิกัดสมมุติเสีย 20% ถ้าเป็นเม็ดพลาสติกเสีย 5% เสื้อผ้าอาจจะเสีย 7-10% ก็แล้วแต่ประเภทพิกัด
ตัวนี้ถ้าใช้สิทธิ์เป็น คือ ใช้สิทธิประโยชน์ภาษีอากรระหว่างประเทศเป็น สินค้าที่นำเข้ามาก็จะยกเว้นอากรนำเข้า แต่ยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติ แต่ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเครดิต คือ เอาคืนได้ในเดือนถัดไปถ้าเราเครดิตภาษี ถ้าเรามีภาษีมากกว่าภาษีขายเราจะมีสิทธิ์ได้คืนภาษีวีไอพี ซึ่งก็แล้วแต่ละบริษัท บางบริษัทก็ไม่ได้คืนเพราะว่ามีภาษีมูลค่าต้องระบุร่วมกัน ตัวไหนมากกว่าตัวนั้นได้คืน ตัวไหนน้อยกว่าก็ไม่ได้คืน อันนี้เป็นหลักเกณฑ์ของภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่สิ่งที่จะต้องช่วยกันดู คือ สมมุติผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการทำเรื่องนำเข้ามาจากประเทศใดก็ตามที่ลงนาม FTA กับไทย อย่างกรณีนำเข้ามาจากอาเซียน อาเซียนก็มีข้อตกลงตามกรอบ AEC สินค้าที่อยู่ในกรอบข้อตกลงสามารถยกเว้นอากรนำเข้าได้ โดยที่ต้องมีแบบฟอร์ม D ที่มาจากประเทศในอาเซียน เอาเข้ามาให้ผู้นำเข้าที่จะเอาแบบฟอร์มนี้ตัวจริงไปให้ศุลกากร ก็จะได้รับยกเว้นอากรนำเข้าได้
ขณะเดียวกันประเทศไทยเซ็น FTA กับญี่ปุ่นก็จะมี 2 กรอบ กรอบแรก คือ FTA ที่รียกว่า JTEPA อีกกรอบ คือ AJ อาเซียนเจแปน เพราะฉะนั้นสินค้าที่อยู่ในกรอบข้อตกลงทั้ง 2 กรอบนี้เมื่อนำเข้ามาในไทย ก็จะยกเว้นอากรขาเข้าเช่นเดียวกัน แต่ต้องมีแบบฟอร์ม AJ กับ JTEPA ซึ่งเจ้าของบริษัทบางทีไม่ทราบเพราะปล่อยให้ลูกน้องทำ ลูกน้องก็ไม่ทราบบางทีก็ขอยกว้นบ้างบางทีก็ไม่ได้ขอยกเว้น คิดดูว่าถ้าบริษัทหนึ่งเอาสินค้าเข้ามาแล้วยกเว้นอากรนำเข้า แต่อีกบริษัทไม่ได้ยกเว้น เพราะฉะนั้นบริษัทที่ไม่ได้ยกเว้นต้นทุนจะสูงกว่าบริษัทที่ได้รับการยกเว้น
ถ้าไม่ดูรายละเอียด อันนี้ทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูง และเผลอๆ อาจจะทำผิดกฎหมายศุลกากรด้วย
ถ้าคนไม่รู้จริงๆ เขาควรจะต้องดำเนินการติดต่อประสานงานกับใคร
คนที่ไม่ทราบจริงๆ สามารถทำได้ 2 อย่าง คือ
1. ต้องตรวจสอบว่าสินค้าตัวเองนำเข้ามานั้นอยู่ในพิกัดอัตราอะไร พิกัดศุลกากรอะไร พิกัดมีทั้งหมด 7 ตอน มีตั้งแต่ 00 ไปจนถึง 97 ดูว่าสินค้าตัวเองเข้ากับพิกัดอะไร ซึ่งโดยปกติแล้วถ้าถามบริษัทที่ทำเรื่องนำเข้าส่งออกหรือบริษัทที่ให้บริการด้านศุลกากร หรือ Shipping ถ้าเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานเขาจะตอบคำถามว่าสินค้าชิ้นนี้อยู่ในพิกัดอะไร หรือทำเรื่องถามกรมศุลกากรก็ได้แต่ต้องใช้เวลานานหน่อย
ถ้าเกิดไม่ทราบจริงๆ สามารถตรวจสอบไปที่เว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ที่กรมการค้าต่างประเทศ ในกระทรวงพาณิชย์มีหลายกรม แต่กรมที่สามารถตอบได้ คือ กรมการค้าต่างประเทศ เขาจะบอกว่าสินค้าตัวนี้จะได้รับหรือไม่ได้รับสิทธิยกเว้นอากรนำเข้าระหว่างประเทศ จะได้รับสิทธิ์ในกรอบ FTA ใด
เมื่อเราได้มาแล้วว่าสินค้าตัวนี้จะนำเข้าจากต่างประเทศจะอยู่ในกรอบความตกลง หรือ IL : Inclusion List เราก็สามารถที่จะทำเรื่องเปิดชำระเงินค่าสินค้าต่างประเทศ เราก็จะบอกให้ผู้ขายในต่างประเทศ ผู้ขายในอาเซียน หรือ ผู้ขายในจีน ต้องแนบฟอร์มตัวจริงให้เรา หลังจากนั้นเราก็เอาฟอร์มตัวจริงนี้ไปให้ศุลกากรเพื่อยกเว้นอากรนำเข้า อันนี้คือสิ่งที่ต้องทำให้ถูกต้อง แต่ส่วนมากแล้วไม่ได้ทำ...คนที่ไม่ได้ทำเพราะไม่เข้าใจแล้วก็เสียอากรนำเข้าตามปกติ เช่น 5% หรือ 10%
อันนี้เรียกว่าเสียค่าโง่ได้ไหม
จะเป็นค่าโง่ก็ไม่เชิง แต่บางที่คนค้าขายก็จ้างผู้จัดการมาดูแล จ้างผู้บริหารมาดูแล ก็ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดของสินค้าและก็ไม่เคยตรวจสอบเพราะให้ลูกน้องทำ ถามคนที่ทำงานแล้วไม่ได้รับการยกเว้นแล้วก็เสียอากรตามปกติ
ยังมีอีกเรื่องคือ “การใช้สิทธิประโยชน์ภาษีอากรในประเทศ อันนี้เจ็บปวดกว่า เช่น ได้รับยกเว้นอากรและภาษีจาก BOI เชื่อไหมว่ามีบางบริษัทต้องเอาเงินสดไปชำระภาษีอากร ทั้งที่ตัวเองได้รับยกเว้นภาษีอากรนำเข้า ปรากฎว่าเจ้าของบริษัทได้ถามลูกน้องว่าทำไม ลูกน้องตอบว่าต้องวางประกัน ภาษีอากรเมื่อก่อนต้องใช้สิทธิ์ BOI แต่ความจริงแล้วถ้าเจ้าของบริษัทเข้าใจโครงสร้างการใช้สิทธิ์ของ BOI จะรู้ว่าถ้าทำถูกต้องจะได้รับยกเว้นอากร ยกเว้นภาษี แต่ส่วนมากทำไม่เป็น กฎเกณฑ์การยกเว้นภาษีอากร BOI ไม่ใช่อยู่ดีๆจะเอาเข้ามาเลยเพื่อยกเว้น ต้องมีเงื่อนไข 1.คุณจะต้องยกเว้นตามรายชื่อบัญชีวัตถุดิบเครื่องจักร 2.คุณจะต้องมีการทำใบสั่งปล่อยจาก BOI คือ ต้องมี invoice ที่เกี่ยวกับการค้าไปให้ BOI ดูก่อน ซึ่งจะส่งออนไลน์ไป เมื่อ BOI อนุมัติตรงตามวัตถุดิบที่ส่งชื่อเครื่องจักรให้ไว้แล้ว เขาก็จะออกใบสั่งปล่อยซุ้งใบสั่งปล่อยจะเป็นเลขที่ใบสั่งปล่อยส่งจาก BOI ไปที่กรมศุลกากร
เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ประกอบการไปยื่นเอกสารผ่านวิธีการที่ศุลกากร เมื่อศุลกากรตรวจแล้วว่าเป็นเลขเดียวกันกับที่ BOI ส่งมา เลขตรงกันเขาก็จะเก็บภาษีอากรนำเข้า แต่ที่ดูมีปัญหาเพราะเวลาที่ไปทำเรื่องขอวิธีการที่ศุลกากร เลขที่สั่งปล่อยยังไม่ได้ส่งจาก BOI ไปศุลกากร อาจจะเป็นเพราะผู้นำเข้าทำผิดพลาดทำให้เวลาขอออกมาแล้วมาถึงท่าเรือหรือสนามบินต้องขอออกมาก่อน ไม่อย่างนั้นต้องเสียค่าเช่าโกดัง
ดังนั้น ต้องรีบเอาออกมาก่อนโดยนำเงินสดไปจ่ายก่อน เงินสดเหล่านี้บางทีก็ลืมทำเรื่องขอคืนด้วย ไม่ได้ไปขอคืนจากศุลกากร ทำให้เงินจมอยู่ที่ศุลกากร 10-20 ล้าน
นี่คือตัวอย่าง เป็นเพราะการบริหารงานที่ผิดพลาดของผู้ประกอบการในเรื่องสิทธิประโยชน์ภาษีอากร