‘กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย’ หรือ TFFIF ...กองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่รอมานาน ได้ฤกษ์ เปิดวันดีเดย์ให้นักลงทุนจองซื้อ IPO 12-19 ตุลาคม 2561 เสนอขายที่ราคาหน่วยละ 10 บาท นักลงทุนสถาบันพร้อมใจจองกันหนุบหนับ เพราะทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า “ของมันต้องมี” มั่นใจศักยภาพทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐกองแรกผ่าน กทพ. กลายเป็นต้นเหตุสำคัญทำหุ้นแดงเถือกทั้งกระดาน
นับตั้งแต่รัฐบาลก่อนที่ผุดไอเดียจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพราะเห็นความสำคัญในการระดมเงินจากประชาชนเพื่อให้ลงทุนในกองทุนที่ประเดิมจัดตั้งด้วยรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งนักลงทุนต่างก็รอคอยกันมานานหลายปีจนผ่านกฎหมายให้จัดตั้งกองทุนได้เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา และในที่สุด ก็มีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ และประกาศเสนอขายหน่วยลงทุนให้กับนักลงทุนทั่วไปเพื่อระดมทุนมาใช้ในกิจการของภาครัฐแล้ว นั่นคือ “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยหรือ Thailand Future Fund (TFFIF)” โดยรัฐบาลให้ความสำคัญและผลักดันให้เกิดให้ได้ก่อนสิ้นปี 2561
เมื่อมีความพร้อมและประกาศให้จัดตั้ง TFFIF และกระทรวงการคลัง ประเดิมจัดตั้งกองทุนขึ้นก่อน และให้กอง TFFIF ระดมทุนขายหน่วยลงทุน โดยให้ TFFIF เป็นการเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางของทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
จากนั้นออกโรดโชว์ทั้งในและต่างประเทศ และประกาศวันขาย IPO ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 12-19 ตุลาคม 2561 ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุนสถาบัน โดยเฉพาะพวกกองทุนรวมต่างๆเป็นอย่างมาก ต่างตระเตรียมการเพื่อจองซื้อหน่วยลงทุน TFFIF กันเต็มที่ ซึ่งว่ากันว่านั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ กองทุนต่างๆ ต้องปรับพอร์ตขายหุ้น เพื่อเตรียมเงินไว้ซื้อ TFFIF จนเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่กดดันตลาดหุ้น นอกจากเรื่องของค่าเงินดอลลาร์ และความวิตกกังวลสงครามการค้าและการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ทำให้หุ้นไทยแดงเถือกทั้งกระดาน ปรับตัวลงแรงมากในช่วงต้นเดือนตุลาคม ก่อนถึงวันไอพีโอ TFFIF มากถึง 4%
ทั้งนี้ TFFIF ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยจะออกและเสนอขายหน่วยลงทุนแก่ประชาชน(Initial Public Offering: IPO) นี้มีจำนวน 4,000-4,470 ล้านหน่วย ราคาหน่วยละ 10 บาท กำหนดเงื่อนไขจองซื้อขั้นต่ำที่ 1,000 หน่วย
เงินที่ได้จากการขาย IPO หน่วยลงทุน TFFIF จะนำมาใช้ลงทุนในสิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้เป็นระยะเวลา 30 ปีของทางพิเศษฉลองรัช และทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งเป็นสินทรัพย์กิจการโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีผลการดำเนินงานที่ดี มีความมั่นคงสูง และมีศักยภาพในการเติบโต ประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 4.75 – 5.30
นายอนุวัฒน์ ร่วมสุข กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร ในฐานะตัวแทนที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน กล่าวว่า กทพ.จะนำเงินที่ได้รับจากการระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้พัฒนาโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายทดแทน ตอน N1
“การเข้าลงทุนครั้งนี้ TFFIF จะไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาทางพิเศษทั้ง 2 เส้นทางดังกล่าว และตามสัญญา RTA จะมีการพิจารณาทบทวนอัตราค่าผ่านทางทุกๆ 5 ปี โดยจะเริ่มพิจารณาอัตราค่าผ่านทางครั้งแรกในวันที่ 1 มีนาคม 2566 หรือ 5 ปีนับจากการเริ่มพิจารณาอัตราค่าผ่านทางของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา”
การจัดสรรหน่วยลงทุน TFFIF ให้แก่ผู้จองซื้อทั่วไปในครั้งนี้จะใช้วิธีการจัดสรรแบบ Small Lot First ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ดำเนินการโดยบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยวิธีดังกล่าวเป็นการจัดสรรหน่วยลงทุนให้แก่ผู้จองซื้อทั่วไปทุกราย ตามจำนวนหน่วยจองซื้อขั้นต่ำที่ 1,000 หน่วยในรอบแรกและวนไปเรื่อยๆ รอบละ 100 หน่วย จนกว่าจะจัดสรรครบตามจำนวนหน่วยลงทุนที่เสนอขายสุดท้าย สำหรับผู้จองซื้อทั่วไปเพื่อให้ได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจำนวนหน่วยลงทุนส่วนเพิ่มทุนที่จะเสนอขายให้แก่ผู้จองซื้อทั่วไปมีจำนวนประมาณ 1,845.0 – 2,056.5 ล้านหน่วย โดยคาดว่าจะสามารถประกาศกำหนดจำนวนหน่วยลงทุนเสนอขายสุดท้าย พร้อมทั้งประกาศผลการจัดสรรหน่วยลงทุนสำหรับผู้จองซื้อทั่วไป ได้ในวันที่ 22 ตุลาคม 2561
“กองทุน TFFIF ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากนักลงทุน โดยเฉพาะการจัดโรดโชว์นำเสนอข้อมูลแก่นักลงทุนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งมีนักลงทุนสนใจเข้าฟังข้อมูลเป็นอย่างดี เนื่องจากทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีที่ TFFIF จะเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้นั้น เป็นทรัพย์สินที่สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ และมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการขยายโครงข่ายทางพิเศษในอนาคต”
นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย ในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการ กล่าวว่า TFFIF มีนโยบายที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ในกรณีที่กองทุนมีกำไรสะสมเพียงพอ และโดยรวมแล้วในแต่ละรอบปีบัญชีจะจ่ายในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว นอกจากนี้ ประมาณการอัตราการปันส่วนแบ่งให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในปีแรก (สิ้นสุด 30 กันยายน 2562) อยู่ที่ร้อยละ 4.75 ถึง 5.30
ทางพิเศษทั้ง 2 สายทางดังกล่าว มีผลการดำเนินงานย้อนหลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2558 ถึง 2560 (1 ต.ค. ถึง 30 ก.ย.) มีรายได้จากค่าผ่านทางของทางพิเศษทั้ง 2 สายทางอยู่ที่ 4,650 ล้านบาท 4,787 ล้านบาท และ 4,999 ล้านบาทต่อปีตามลำดับ มีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.7 ต่อปี และปริมาณการจราจรรวมทั้ง 2 สายทาง โดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.37 แสนคัน 3.53 แสนคัน และ 3.69 แสนคัน ตามลำดับ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.7 ต่อปี
ขณะที่งวด 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 (1 ต.ค. ถึง 30 มิ.ย.2561) มีรายได้จากค่าผ่านทางของทางพิเศษทั้ง 2 สายทางรวม 3,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณการจราจรรวมทั้ง 2 สายทาง โดยเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.87 แสนคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ ทางพิเศษฉลองรัช มีความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรได้ถึง 3.5 แสนคันต่อวัน และทางพิเศษบูรพาวิถี สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้ถึงวันละ 3.6 แสนคัน
“กระทรวงการคลังจะเข้าถือหน่วยลงทุนของ TFFIF ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหน่วยลงทุน เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่หน่วยลงทุนเริ่มการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
TFFIF ถือว่ามีความน่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่จ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ และมีความผันผวนต่ำกว่าการลงทุนในหุ้น นอกจากนี้นักลงทุนรายย่อย (บุคคลธรรมดา) จะได้รับยกเว้นการจัดเก็บภาษีจากเงินปันผลที่ได้รับจากกองทุนฯ เป็นระยะเวลา 8 ปีอีกด้วย”
สำหรับ TFFIF ยังมีศักยภาพในการเติบโต จากการเข้าลงทุนเพิ่มเติมในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของภาครัฐในอนาคตได้ทุกประเภท เช่น ทางหลวง สนามบิน ท่าเรือ ระบบราง ฯลฯ ซึ่งจะส่งผลดีต่อขนาดของกองทุนและยังจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหน่วยลงทุนในอนาคต