Technical Rebound ! ตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณของการดีดกลับขึ้นมาได้บ้าง โดยที่ดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.06% โดยตลาดหุ้นที่ Outperform ได้แก่ตลาดหุ้นสหรัฐ, ญี่ปุ่น และ Asia ex Japan ที่ปรับตัวขึ้น 2.43%, 3.02% และ 2.76% ตามลำดับ เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปัจจัยหนุนที่สำคัญคงเป็นประเด็นผลการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐ ที่ผลการนับคะแนนเบื้องต้นพบว่าแม้พรรคเดโมแครตจะสามารถคว้าชัยได้คะแนนเสียงครองที่นั่งส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร 223 คน ขณะที่พรรครีพับลิกันซึ่งเป็นพรรคสังกัดของประธานาธิบดีทรัมป์ได้ที่นั่ง 197 คน อย่างไรก็ตามพรรครีพับลิกันยังคงครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา 51 คน ขณะที่พรรคเดโมแครตได้ที่นั่ง 46 คน (รวมสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง)
ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกในภาพรวมตอบสนองในเชิงบวกโดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม Emerging Market จากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง โดยพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรน่าจะก่อให้เกิดความสมดุลมากขึ้นในสภาคองเกรส และอาจทำให้ความรุนแรงของการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามีความหวังที่จะมีแนวโน้มผ่อนคลายลงได้บ้าง
อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทยต้องยอมรับว่ายังคาดหวังอะไรมากไม่ได้ .... ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงอยู่ในกลุ่ม Underperform เมื่อเทียบกับทั้งตลาดหุ้นโลก และภูมิภาค หลังปรับตัวขึ้นเพียง 1.12% ทั้งนี้ “นายหมูบิน” ยังคงไม่คาดหวังอะไรกับทิศทางของตลาดหุ้นโลก และไทยมากนัก โดยเฉพาะหลังจากความพยายามที่ล้มเหลวในการทดสอบเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วันบริเวณ 2,810 และ 22,600 จุดของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐ (S&P500) และตลาดหุ้นญี่ปุ่น (NIKKEI) ส่งผลให้ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงไม่หลุดพ้นจากภาวะของการพักฐาน และการดีดตัวระยะสั้นขึ้นมาในสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงแค่การ Technical Rebound เท่านั้น
โดยเฉพาะจากประเด็นความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่หลังจากผลการเลือกตั้งของสหรัฐ โดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ ซึ่งจะพบว่ามีความเสี่ยงที่สภาคองเกรสจะไม่สามารถตกลงงบประมาณกับฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีได้ตามกำหนดเวลาจนนำไปสู่การปิดทำการของหน่วยงานรัฐ (Government Shutdown) ซึ่งรวมถึงประเด็นการขยายเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ (US Debt Ceiling) ในปี 2562 จะกลับมาอีกครั้ง
นอกจากนี้ประเด็นความเสี่ยงเดิมที่ยังคงมีอยู่ และจะกดดัน Potential Upside ของตลาดหุ้นโลกแน่นอน คือการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ หลังจากที่ล่าสุดคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25% ตามที่คาดการณ์ไว้ พร้อมกับส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.2561 ซึ่งจะส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4 ครั้งในปีนี้
ส่วนในปีหน้าธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง และอีก 1 ครั้งในปี 2563 ทั้งนี้แถลงการณ์ของเฟดบ่งชี้ว่าการใช้จ่ายในภาคครัวเรือนมีการขยายตัวในระดับสูง ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่งโดยอัตราว่างงานได้ปรับตัวลง ส่วนกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากและความเสี่ยงอยู่ในระดับสมดุล ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐได้ตั้งข้อสังเกตว่าการขยายตัวของการลงทุนในสินทรัพย์คงที่ได้ชะลอตัวลงจากอัตราที่สูงในช่วงต้นปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังปรับตัวใกล้เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%
เป็นโอกาสขาย : ถ้าพิจารณาจากมุมมองในเชิง Momentum ต้องเรียนว่าการปรับตัวขึ้นมาในระยะสั้นของตลาดหุ้นโลกเป็นโอกาสในการขายที่ดีพอสมควร หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี VIX Index ของสหรัฐ, ยุโรป และเอเชียปรับตัวลดลงราว 11.69%, 12.07% และ 4.33% กลับมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 25 วันอีกครั้ง สะท้อนให้เห็น Momentum ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และเอเชียที่ Rebound ขึ้นชัดเจน สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 3.4% WoW มาอยู่ที่ 41.3% สูงกว่า สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 3.3% WoW มาอยู่ที่ 31.2%
อย่างไรก็ดีแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกดดันการดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นเอเชีย และไทย โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี US Dollar Index ของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 0.42% สวนทางกับดัชนี Asian Dollar Index ค่าเงินเอเชียที่อ่อนค่าลง 0.29%
ทั้งนี้ระดับการยอมรับความเสี่ยง หรือ Risk Tolerance ของนักลงทุนโลกที่ลดลง ไม่ได้สะท้อนออกมาเฉพาะในตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังคงสะท้อนไปในทิศทางของสินทรัพย์เสี่ยง หรือ Risky Asset อื่นๆด้วย โดยที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลดลง 4% จากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด หลังจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เพิ่มการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 7 นอกจากนี้ดัชนี PMI ในหลายๆประเทศที่ปรับตัวลดลง เช่น สหรัฐ และจีน ยังคงเป็นประเด็นกดดันต่ออุปสงค์น้ำมัน
อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทย “นายหมูบิน” ยังคงไม่ได้มองว่ามี Potential Downside มากนัก เนื่องจากมองว่าแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงที่เหลือของปี 2561 ค่อนข้างที่จะจำกัดแล้ว เพราะเมื่อพิจารณาจาก Accumulated Flow Relative to Market Cap พบว่าล่าสุดมูลค่าการขายสะสมของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยรอบ 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ -301,293 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าตามราคาตลาด ณ สิ้นเดือน ต.ค.2561 อยู่ที่ 17,036,286.8 ล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนการขายสะสมต่อมูลค่าตามราคาตลาดของ SET อยู่ที่ -1.8% หรืออยู่ที่ระดับ -1.05 SD แล้ว
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) : ใช้โอกาสที่ SET ดีดตัวขึ้นไม่ผ่าน 1,700 (+/-5) จุด เป็นโอกาสในการ “ขายทำกำไร” ในลักษณะ “Short-Against” ไปรอ “เข้าซื้อสะสม” ในหุ้น PTTGC, PTTEP, BCP, EGCO,TISCO, SCC, HMPRO, AOT และ ADVANC อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 101 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club